ปัจฉิมบทสำเร็จขญม : นอมินี-ปราบดาภิเษก/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ปัจฉิมบทสำเร็จขญม

: นอมินี-ปราบดาภิเษก

 

‘สําเร็จขญม’ เป้าหมายที่ล้มละลายของนักการเมืองสายลี้ภัยบนเส้นทาง “ข้อตกลงปารีส”( Paris Accord/1991) ที่ล้มเหลว 30 ปีมานี้ บุคคลเดียวที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทาง ‘สำเร็จขญม’ นั่นคือสมเด็จเดโชฮุน เซน และเชื่อไหมว่า นี่คือการปราบดาภิเษกแห่งการกลับสู่อำนาจของสามัญชนคนหนึ่ง

ในฐานะผู้พิชิต ‘สำเร็จขญม’ จึงเหมาะควรเป็นสมญาของเขา แต่ทว่าอาชาไนยผู้นี้จะไปอย่างไรต่อ หลังจากการครบรอบ 70 ปีที่ (อดีต) พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเวียนมาถึงและทัดเทียมเทียบเท่ากับ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่น

ใครเลยจะเชื่อว่าผู้นำพา “สำเร็จขญม” 30 ปีที่ผ่านมาจะเป็นชายผู้ยัดเยียดความปราชัยแก่ฟุนซินเปกและระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งธรรมนูญข้อตกลงปารีสที่ล้มละลายไป

อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จนั้น ก็ยากจะเชื่อนับแต่นี้ ระบอบฮุนเซนที่ปึกแผ่นยวดยิ่ง กลับประสบปัญหาการถือครองอำพรางทรัพย์สินที่มากมายล้นฟ้าในรูป “นอมินี”

ทั้งแบบถือครอบลวงตา และพันลึกนานา

ธนบัตรเงินเรียล ฉลอง 30 ปี ‘สัญญาปารีส’ สมเด็จพระรัตนโกศพระบาทนโรดม สีหนุ ทรงประทับยืนเคียงข้างสมเด็จฮุน เซน
เครดิต rfa/khmer

เริ่มจากกิจการนายทุนท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนในคราบเจ้าสัวจอมบ้าบิ่นอย่างเท่ง บุนมา ผู้กุมธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของกัมพูชาร่วม 2 ทศวรรษอย่าง “รัศมีกัมปูเจีย” (1992-2012) และโรงแรมคอนติเนลตัล

หลายครั้ง การป่วนฝ่ายตรงข้ามก็มาจากเจ้าสัวบุนมาที่ไม่มีใครรู้เหตุใดจึงเกิดแต่เรื่องดราม่ากับฝ่ายเจ้า-ฟุนซินเปก

แต่มันเปิดเผยตัวหลังการเลือกตั้ง 2003 และการเมืองกัมพูชาเริ่มมีเสถียรภาพ ฮุน เซน ครองอำนาจในสภา และการเคลื่อนทุนต่างชาติที่เข้ามาเวลานั้น ทำให้ซีพีพี (ประชาชนกัมพูชา) มีความมั่นคงเป็นครั้งแรกจนเกิดเป็นการผลิตตัวแทนผู้ถือครองสินทรัพย์ในนาม “ออกญา” หรือนอมินีของฮุนเซน ระบอบที่แยบยลอย่างมากจนยากจะเชื่อว่า…ธุรกิจสัมปทานใหญ่มูลค่ามหาศาล เช่น โทรคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรและภาคสาธารณูปโภคครอบคุลมทั้งหมดถูกฮุบถือครองโดยระบบออกญา ซึ่งนับวันยิ่งขยายเป็นก๊กก๊วนและแข่งขันทางบารมีเพื่อส่งต่อผู้ถือครองเบื้องบน-สาแหรกตระกูลฮุนอีกที

บางรายเคยถูกกล่าวหาทำธุรกิจสีเทา พัวพันยาเสพติด บ่อนกาสิโน แต่ส่งส่วยให้รัฐเติบโต จึงได้เป็นวุฒิสมาชิกฟอกตัวในสภา จากนั้นก็รับช่วงสัมปทานสาธารณูปโภคของรัฐ ตั้งแต่ถนน สะพาน ยันสเตเดี้ยมกีฬาที่มูลค่ามหาศาล

เช่น ออกญามง ฤทธีคนหนึ่งที่ถือครองที่ดินนับหมื่นเฮกตาร์ ซ้ำยังร่วมกับจีนเช่าที่ดินรัฐทำอุตสาหกรรมเกษตรสัมปทานข้ามชาติ ซึ่ง 2 ชาติเพิ่งทำลงนามสัญญาการค้าไปไม่นาน

แต่ที่มาของปฐมบทของนอมินีคือเจ้าสัวเท่ง บุนมา ก่อนจะถ่ายโอนผ่านไปสู่ผู้ถือครองคนใหม่ นั่นก็คือฮุน โต

เราได้เห็นอะไรจากทรัพย์สินมหาศาลที่ท่วมท้นล้นบ่าในกลุ่มนอมินีออกญา ที่ถ่ายโอนไปสู่ตระกูลฮุนผู้ถือครองตัวจริง แต่ที่สำคัญคือการมีโอกาสได้ใช้เงินทองเหล่านี้อย่างเสรีอิสระ โดยเฉพาะในประเทศอื่น

ฮุน จันทา น้องสาวฮุน โต และลูกสาวของฮุน เนง และหลานสาวฮุน เซน เป็นคนแรกๆ ที่บุกเบิกโอกาสนั้นอย่างไม่ถึงกับ “เสื่อมเสียชื่อเสียง” เหมือนพี่ชาย เธอสมรสกับนักวาณิชธนกิจเขมร-เบลเยียม ซึ่งต่อมาคือที่ปรึกษาคนสำคัญในการเล่นแร่แปรธาตุและลงทุนการเงินอันมากมาย

เริ่มจากทรัพย์สินของพี่สาวภรรยาฮุน กิมเลง ที่สมรสกับนายตำรวจเนต ซาเวือน ด้วยช่องทางนี้ ซาเวือนจึงเป็นนอมินีสายราชการของระบอบฮุนเซน

ฮุน กิมเลง ส่งลูกสาวไปเรียนต่อที่สหรัฐ ซื้อคฤหาสน์ที่นั่น กระทั่งสหรัฐออกกฎหมายอายัดทรัพย์สินเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชา นั่นเอง มหากาพย์ฟอกเงินทายาทสาแหรก 2 ของตระกูลฮุนจึงถือกำเนิดขึ้น

และข้ามโลกข้ามทวีป

ฮุน กิมเลง-เนต ซาเวือน มีห้องชุดหรูในสิงคโปร์ วิลล่าในสหรัฐ อพาร์ตเมนต์หรูย่านเดียวกับจันทาในลอนดอน ใช้ชีวิตเยี่ยงชนชั้นสูงของลูกสาวที่ไม่ทำงานแต่ผลาญเงินซื้อเครื่องเพชร กระเป๋าแบรนด์เนมไปวันๆ

แต่ด้วยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ในที่สุด ในปี 2017 ครอบครัวของเนต ซาเวือน ทั้งหมดก็ได้พาสปอร์ตชาติไซปรัสที่เป็นสมาชิกอียู การถือพาสปอร์ตไซปรัสจึงเป็นใบเบิกทางการลงทุนเงินตราในยุโรป ทั้งยังปลอดภัยจากการไล่ล่ากฎหมายฟอกเงินของสหรัฐ

เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละแห่งรวมๆ กันที่ฮุน กิมเลง ลงไปราว 600 ล้านบาทนั่น นี่ยังไม่รวมเงินใต้โต๊ะและเงินสดการันตีการเป็นพลเมืองไซปรัสต่อหัวที่ราว 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ!

คำล้อเลียนจูล่ง สูมูรา ปี 1987 ว่าเป็น “เศรษฐินีหมื่นโกฐ” เมื่อเทียบกับฮุน กิมเลง-ฮุน จันทา หลานสมเด็จฮุน เซน แล้ว เราคงจินตนาการไม่ออก เบาะๆ ก็แค่ “เศรษฐินีสิบล้านโกฐ”

แต่มันไม่หยุดแค่นั้น มหกรรมพาเหรดเส้นทางการเงินอันพิลึกพิลั่นนี้ยังไม่สิ้นสุด จะด้วยเหตุผลหนีการไล่ล่ากฎหมายฟอกเงินของสหรัฐ จึงเกิด “ซาเวือนโมเดล” ในหมู่ออกญา-เจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาและสมาชิกครอบครัวถึง 26 รายชื่อในการยื่นเรื่องขอพาสปอร์ตไซปรัส

นั่นหมายถึงเงินราว 2000 ล้านบาทเลยนะที่ถูกถ่ายไปไซปรัสในใช้รับรองสถานะ 26 รายชื่อดังกล่าว ยังไม่รวมภาษีเบี้ยใบ้รายทางนายหน้าธุรกรรม

และในจำนวนบุคคลเหล่านี้ มีรายชื่อผู้นำรวมอยู่สิ!

ช่างเป็นอภิมหาขุมทรัพย์ ที่นึกไม่ออกเลยว่าจะสิ้นสุดขอบฟ้า ณ ที่ใด

ไล่ตั้งแต่หัวแถวออกญาชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 สมาชิกบุตรและภรรยา ซึ่งแต่ละรายร่ำรวยมากมายเป็นหมื่นพันล้านจากระบอบ “สำเร็จขญม” ที่แม้แต่สมเด็จฮุน เซน และลูกๆ ก็ยังดิ้นรนไปสู่วิถี “ปกติใหม่” ที่เต็มไปด้วยการการปกปิดอำพรางความมั่งคั่งที่ว่า

ตั้งแต่ 9 ปีก่อน (2012) ฮุน มาลีบุตรสาวคนเล็กสมเด็จฮุน เซน และสามีมีเงินซุกในธนาคาร HSBC ที่ฮ่องกงถึง 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐอันน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับธุรกิจที่เธอและสามีถือครองในเขมรและตระกูล

ดูเส้นสายของสามีฮุน มาลี-สก บุตรธิวุธบุตรสก อาน และน้องชาย-สก สกกัน ซึ่งดูแลกิจการธนาคาร เป็นวาณิชธนกิจประจำตระกูลฮุน-หุ้นส่วนใหญ่ และสมรสกับลักษณา-ภรรยาเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์-วัฒนะที่มีทายาทตระกูลฮุนเป็นหุ้นใหญ่และมูลค่าทรัพย์สินมหาศาล

ระหว่าง 2 ปีโควิด-19 ระบาด ในสัมปทานรายใหญ่ด้านยาเวชภัณฑ์ที่ฟาดผลกำไรมหาศาลจากวิกฤตนี้มิใช่ใครอื่น แต่เป็นยึม ไฉ่หลิน ภรรยาฮุน มานี และเป็นสะใภ้โปรดสมเด็จบุน รานี ที่เคยเฉิดฉายพรมแดงแห่งเมืองคานน์

นอกจากบริษัทยาเวชภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกัมพูชาแล้ว ไฉ่หลินยังครอบครองโรงแรมและที่พักระดับห้าดาวบนเกาะจโรยจังวา เธอคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อาคารตึกสูงที่มีมูลค่ารวมกันนับหมื่นล้านบาท

แต่ช่างกระไร เหนือกว่าวิลล่า ออกญาทุกคนในพนมเปญ คฤหาสน์แห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในโอกาส 4 ทศวรรษแห่งการครองรักสมเด็จทั้งสอง และ 6 เมษายน 2 ปีก่อน

ประหนึ่งรื้อฟื้นการสืบสานราชประเพณีโบราณของเจ้าครองเมือง มีการจัดสมโภชน์ “สำเร็จขญม” ตามพิธีพราหมณ์อย่างยิ่งใหญ่

ราวกับการพิธี “ปราบดาภิเษก”