การศึกษา / เปิดผลสอบ ‘นิทานวาดหวัง’ เมื่อสังคมไทย…มองต่างมุม!!

การศึกษา

เปิดผลสอบ ‘นิทานวาดหวัง’

เมื่อสังคมไทย…มองต่างมุม!!

 

“วาดหวังหนังสือ คือความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยากทำให้หนังสือไทยมีความหลากหลายยิ่งขึ้น อยากทำหนังสือสวย ดี อ่านสนุก อ่านแล้วเด็กได้คิด เพลิดเพลิน รู้จักตัวเองมากขึ้น”

นี่คือส่วนหนึ่งที่ผู้จัดพิมพ์นิทานชุด “วาดหวัง” ออกมาชี้แจงให้สังคมเข้าใจผ่านเพจเฟซบุ๊กของตน

หลังเกิดกระแสดราม่า เมื่อคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือนิทานชุดวาดหวังขึ้น

เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากหลายฝ่ายว่า “หนังสือชุดวาดหวัง” มีเนื้อหาเข้าข่ายบิดเบือน อาจทำให้เด็กเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และเกิดความกังวลว่า หากหนังสือมีเนื้อหาที่ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็ก และเด็กยังไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาในหลายด้าน ดั

งนั้น ครู และผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ที่เสพข้อมูลดังกล่าว จะต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริง แยกแยะ และไม่ยอมรับ หรือสนับสนุนให้เชิดชูความรุนแรง รวมถึงการสร้างข้อมูลเท็จ หรือเนื้อหาที่บิดเบือนเพื่อปลุกปั่นเยาวชนให้หลงผิดได้!!

โดย ศธ.จะประสานงานกับฝ่ายความมั่นคง หากพบว่าเนื้อหาที่ปรากฏในนิทานดังกล่าว มีเจตนาปลุกระดม ล้างสมอง หรือปลุกปั่นเด็กๆ หรือหากมีใครเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ถ้าพบว่าผิดจริง ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก

จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป!!

 

การทำงานของ ศธ.ครั้งนี้ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม มีทั้งคน “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย”

ฝั่งที่เห็นด้วยกับ ศธ.มองว่า มีบางเนื้อหา ทั้งรูป และข้อความ มีการบิดเบือนข้อมูล และปลูกฝังความคิดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของประเทศ

ส่วนผู้ไม่เห็นด้วย มองว่า ศธ.กำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของนักเรียนอยู่หรือไม่? เพราะดูเหมือน “ไม่ใช่เรื่อง” ที่ ศธ.จะต้องแสดงท่าทีแข็งขัน ตั้งทีมขึ้นตรวจสอบ

ทั้งที่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ ศธ.ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ ที่สร้างภาระให้ครูและเด็กอย่างมาก…

 

น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมตัวแทนองค์กรเครือข่ายการศึกษา 15 องค์กร และบุคคลที่ลงชื่อสนับสนุน 285 คน ยื่นหนังสือให้ ศธ.ชี้แจงการใช้อำนาจการสั่งตรวจสอบหนังสือ และจัดให้มีกลไกในการตรวจสอบการอนุญาตให้ใช้สื่อการสอนในสถานศึกษาโดยภาคประชาชน ต่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังนี้

  1. ออกแถลงการณ์ชี้แจงเกี่ยวกับการใช้อำนาจ และวัตถุประสงค์ในการออกคำสั่งดังกล่าว ว่า ศธ.ใช้กรอบอำนาจใดที่กฎหมายได้ให้ไว้ในการตรวจสอบหนังสือชุด “วาดหวัง”

และ 2. จัดให้มีกลไกการตรวจสอบหนังสือเรียน แบบฝึกหัด และสื่อการเรียนรู้ ในบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษา ตามนโยบายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจัดให้มีช่องทางในการยื่นข้อร้องเรียน และมีขั้นตอนการดำเนินงาน และกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน อีกทั้ง ศธ.จะต้องดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบเนื้อหา และข้อความในแบบเรียนในบัญชีดังกล่าวด้วย

ประเด็นดังกล่าว ได้สร้างความสงสัย และทำให้ผู้คนในสังคมสนใจอย่างมาก จนทำให้หนังสือมียอดสั่งซื้อถล่มทลายถึง 17,000 เล่ม!!

 

ร้อนถึง “คณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือนิทานชุดวาดหวัง” นำโดยนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ต้องแถลงความคืบหน้าการดำเนินงานในการตรวจสอบหนังสือการ์ตูนดังกล่าว

นางดรุณวรรณชี้แจงว่า คณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบหนังสือการ์ตูนนิทานชุดวาดหวัง เป็นการตรวจสอบ ไม่ได้ตัดสิน เพราะ ศธ.มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเยาวชน ซึ่งการทำงานครั้งนี้ไม่มีอคติใดๆ เป็นเพียงมุมมองทางวิชาการเท่านั้น

โดยมุมมองวิชาการ มาจากผู้เชี่ยวชาญเด็กและเยาวชน ที่มี นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นที่ปรึกษา ซึ่งให้ข้อมูลว่าเด็กอายุ 0-6 ปี ไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกจินตนาการ และโลกความเป็นจริง

“จากหนังสือ 8 เล่ม คณะทำงานชุดเฉพาะกิจฯ ได้รับความเห็นทางวิชาการ ดังนี้ พบว่าหนังสือ 3 ใน 8 เล่ม คือ เรื่อง “ตัวไหนไม่มีหัว”, “เด็กๆ มีความฝัน” และ “แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ” เป็นหนังสือที่ดี และมีประโยชน์ มีภาพ เนื้อหา ข้อสรุปที่ดี น่าชื่นชม ซึ่งสถานศึกษา ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชน สามารถนำไปใช้ได้” นางดรุณวรรณระบุ

โดยเรื่อง “ตัวไหนไม่มีหัว” หนังสือได้เสนอว่าพยัญชนะทุกตัวมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน สิ่งที่เด็กๆ จะได้รับคือ หนังสือสอนว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และการเคารพความแตกต่างกันและกัน

ส่วนเรื่อง “แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ” ให้ความรู้เรื่องไฟป่า ทำให้เยาวชนตระหนักรู้ถึงปัญหาไฟป่า และหนังสือเรื่อง เด็กq มีความฝัน หนังสือแสดงให้เห็นว่า ทุกคนมีความฝันถึงเสรีภาพ การใช้ชีวิตที่ปกติที่เราจะมีความฝันร่วมกัน แม้จะมีบางส่วนของเนื้อหาที่มีภาพสะท้อนของเด็กที่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น

ขณะที่หนังสืออีก 5 เล่ม คือ “จ. จิตร”, “10 ราษฎร, “แม่หมิมไปไหน?”, “เป็ดน้อย” และ “เสียงร้องของผองนก” นักวิชาการให้ความเห็นว่า หนังสือเหล่านี้มีข้อควรระวังหลายเรื่อง เนื้อหาหลายอย่างส่อความรุนแรง ที่สำคัญคือ หาจุดที่เหมาะสมสำหรับเด็กไม่ได้ ลักษณะบางเล่มไม่มีคำพูด เป็นการเล่าด้วยภาพอย่างเดียว ซึ่งเด็กจะจำภาพนั้นไปตลอดชีวิต เพราะเด็กไม่สามารถตัดสินอะไรได้ เด็กไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริง เด็กจะอยู่ในโลกจินตนาการ ซึ่งเด็กจะเกิดจินตนาการ และนำไปสู่การลอกเลียนแบบได้!!

“แพทย์เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้น เมื่อหนังสือ 5 เล่มไม่มีจุดที่เหมาะสมกับเด็ก แพทย์กังวลว่า หนังสือเหล่านี้อาจจะบ่มเพาะความรู้สึกรุนแรง ที่อาจจะปลูกฝังเยาวชนในอนาคตได้ ดังนั้น ในมุมมองของแพทย์ ยังมีความไม่สบายใจ จึงควรระวังในการนำไปใช้ด้วย” นางดรุณวรรณกล่าว

ขณะที่นายภูมิสรรค์ ระบุว่า ข้อสรุปที่ได้ในวันนี้ จะจัดทำข้อเสนอให้ น.ส.ตรีนุชและคุณหญิงกัลยาพิจารณาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมนำข้อสรุปส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานด้านดิจิตอล พิจารณาต่อไป

 

แม้ ศธ.จะแถลงสรุปผลการตรวจสอบ และเน้นย้ำว่าการทำงานของคณะทำงานนั้น ปราศจากอคติ มุ่งเน้นความเห็นทางวิชาการเท่านั้น

แต่ท่าทีที่รัฐบาลแสดงออกมาก่อนหน้านั้น กลับแข็งกร้าว จนถูกมองว่าไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น และไม่ยอมรับให้มีความแตกต่างเกิดขึ้นในสังคมหรือไม่??

ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันคิดว่าหนังสือที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชนไทย ควรมีเนื้อหาสาระอย่างไร เพื่อให้เด็กๆ ได้ประโยชน์จากการอ่านอย่างแท้จริง!!