วิรัตน์ แสงทองคำ/เสียงจากแบงก์ชาติ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/https://viratts.com

เสียงจากแบงก์ชาติ

 

ข้อเขียนคราวนี้ ตั้งใจโปรโมตงานหนึ่งซึ่งแม้ได้ผ่านไปแล้ว แต่สามารถติดตามย้อนหลังได้

นั่นคือ งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 ที่ใช้ชื่อว่า “BOT Symposium 2021: สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” มีการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live เมื่อ 30 กันยายน 2564 ถือเป็นการประชุมทางวิชาการครั้งสำคัญในรูปแบบใหม่ ท่ามกลาง “การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด” อย่างที่ว่าไว้

ที่สำคัญมีการจัดระบบ ระเบียบ เนื้อหาไว้อย่างดี เป็นแบบแผน (ผ่าน website ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์–https://www.pier.or.th/conferences/2021/symposium/) สามารถย้อนไปอ่าน (ทั้งบทปาฐกถา เอกสารงานวิจัย และ presentation) ฟังและชม (ปาฐกถาและการอภิปราย ทาง YouTube) รูปแบบหลากหลาย ตามแต่ละคนสนใจ

ส่วนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อ้างถึง เป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เกิดขึ้นในช่วงศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คน (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล 31 พฤษภาคม 2544-6 ตุลาคม 2549 และ ดร.วิรไท สันติประภพ-1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2563) เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“องค์กรที่มุ่งสร้างงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการเผยแพร่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงนักวิจัยกับทรัพยากรต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีการบริหารงานกึ่งอิสระภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงใน ธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก” ถ้อยแถลงที่ไปที่มาว่าไว้อย่างนั้น

และถือเป็นหน่วยงานหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดงานครั้งนี้

 

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือปาฐกถาทางการครั้งแรกของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งมาครบ 1 ปีพอดี–ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563) ผู้มีโปรไฟล์ที่แตกต่างพอสมควร จากผู้ว่าการในอดีต

เขามีภูมิหลังการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ (ปริญญาตรี-Swarthmore College และโท-เอก Yale University) เช่นเดียวกับผู้ว่าการราวครึ่งหนึ่งของทำเนียบทั้งหมดที่มีมาแล้ว 24 คน และผ่านการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นคนที่ 11 เป็นช่วงค่อนข้างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ดร.เสนาะ อูนากูล (ผู้ว่าการ 2518-2522) ถือกันว่าอยู่ยุคอิทธิพลสหรัฐช่วงปลายสงครามเวียดนาม

ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ก็ด้วยประสบการณ์ทำงานกับองค์กรระดับโลกมามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประจำอยู่ที่ธนาคารโลกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา (ราวๆ 10 ปี) และทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา (เกือบๆ 10 ปี) ขณะประสบการณ์ทำงานในประเทศ นับว่ามีความหลากหลาย ทั้งรัฐและเอกชน ในแต่ละที่ในช่วงสั้นๆ ที่นานกว่าที่อื่น อยู่กับเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (ราวๆ 4 ปี) ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงการคลัง แต่ละที่อยู่เพียงประมาณ 2 ปี

ที่น่าสนใจ เชื่อกันว่า เขามีความสัมพันธ์กับผู้คนทางการเมืองค่อนข้างหลากหลาย เมื่อพิจารณาโปรไฟล์ทางการ (https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/RolesAndHistory/Governor/Pages/default.aspx) เทียบเคียงกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วงคาบเกี่ยว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เคยเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง (2541-2543) ในช่วง ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2548-2550) ในช่วงคาบเกี่ยว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ดร.ทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีคลัง และอีกช่วงหนึ่งในฐานะประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา (2555-2560) หน่วยงานที่ว่าเป็น Social Enterprise นั้น ว่ากันว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีบทบาทก่อตั้ง

เขาเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (2557-2563) ในช่วงนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และมี สมหมาย ภาษี เป็นรัฐมนตรีคลัง ต่อด้วยอีกช่วงมาเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (2560-มีนาคม 2563) คาบเกี่ยวกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง

เท่าที่ติดตาม เชื่อว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ยิ่งเมื่อพิจารณาผ่านปาฐกถาของเขา

 

ปาฐกถาเปิดงาน BOT Symposium 2021 : สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ภาพรวมสาระแตกต่างจากที่ผ่านๆ มา “ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” เขาเปิดฉากปาฐกถาอย่างน่าสนใจ อย่างครอบคลุม

“หากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ซึ่งผมขอใช้ทับศัพท์ว่า มี resiliency เราจำเป็นต้องมี ‘ภูมิคุ้มกัน'” แล้วต่อด้วยประโยคเชื่อมโยงเพื่อเข้าสู่สาระสำคัญ

สาระสำคัญที่ส่งเสียงดังไปยังผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีอำนาจ ขณะควรรับฟังกันในวงกว้าง น่าจะอยู่ตรงนี้

“ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงนั้น เศรษฐกิจไทยจะ resilient ได้ต้องมีลักษณะที่สําคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ ability to avoid shocks (2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ ability to withstand shocks และ (3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว หรือ ability to recover from shocks หากพิจารณาความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านนี้จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน เรามีขีดจํากัดในทุกด้านซึ่งทําให้เศรษฐกิจไทยไม่ resilient ต่อความท้าทายต่างๆ”

 

ปาฐกถาผู้ว่าการ (ยังถือว่า) คนใหม่ แตกต่างจากที่ผ่านๆ มา ตรงที่เจาะจงหลายประเด็นลงลึกมากขึ้น อย่างเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ที่ว่าๆ กันมาบ้างแล้ว

“สําหรับประเทศไทยนั้น ความเสี่ยงจาก climate change มีความสำคัญอย่างมาก ดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก สภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้น และความผันผวนของปริมาณนํ้าฝนจาก climate change ได้ซํ้าเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสําคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานจํานวนมาก เป็นต้นนํ้าของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สําคัญ และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของประเทศอีกด้วย”

ที่สำคัญอย่างมาก มีประเด็นใหม่ๆ เข้ากับสถานการณ์สังคมไทยเวลานี้ จะถือว่าเป็นครั้งแรก ผู้กำกับระบบการเงินของประเทศ กล่าวถึงก็เป็นได้

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนําไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมไทยลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่พบว่า ดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย”

และมีอีกบางตอนเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวข้อง “…ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมลํ้าเชิงโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งการเข้าถึงความจําเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสําคัญทั้งในการกํากับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม”

ที่ว่าอย่างคร่าวๆ แค่โหมโรง สู่เนื้อหาซึ่งมีอีกหลายเรื่อง ควรแก่การสนใจ