กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “ล้อเลื่อน”

www.facebook.com/eightandahalfsentences

ในเวลาเช้า ของวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง

คุณเปิด “ตู้เย็น” ที่บ้านของคุณ เพื่อที่จะหยิบ “นมสด” และ “ไข่ไก่” ออกมาทำอาหารเช้า ตามปกติ

แต่พบว่า “หมด” ทั้งสองอย่าง

“เซ็ง” เล็กน้อย

คุณตัดสินใจเดินออกไปร้าน “สะดวกซื้อ” หน้าปากซอย

“ปิ๊งป่อง” ประตูเปิด

คุณเดินเข้าไป ผ่านเคาน์เตอร์จ่ายเงิน ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมปัง นานาชนิด

ผ่านขนมขบเคี้ยว สาหร่ายอบกรอบ และของโปรดของคุณ “กูลิโกะ ป๊อกกี้”

คุณหยิบ “สองกล่อง” ใส่ตะกร้า

คุณเดินไปถึง “ตู้เย็น” ด้านในสุดของร้าน

เปิดประตู หยิบ “นม” หนึ่งขวดออกมาใส่ตะกร้า

แล้วก็เดินไปหยิบ “ไข่ไก่” ที่วางอยู่ในชั้นวางสินค้า ด้านในสุด อีกที่หนึ่ง

คุณเดินกลับออกมาที่ “แคชเชียร์” วางของลงบนเคาน์เตอร์

เหลือบไปเห็น “ขนมปัง” น่าทาน จึงหยิบติดมือมาจ่ายเงินด้วย อีกหนึ่งอัน

แอบเห็น “ถ่านไฟฉาย” วางอยู่บนชั้นข้างๆ แคชเชียร์

คุณนึกขึ้นได้คลับคล้ายคลับคลาว่า “รีโมต” ทีวีที่บ้านเสียอยู่

เลยหยิบถ่านไฟฉายหนึ่งแพ็ก จ่ายสตางค์ไปด้วย พร้อมๆ กับ นม ไข่ไก่ ป๊อกกี้ และขนมปัง

คุณถือถุงเดินออกจากร้าน กลับบ้าน เพื่อทำ “อาหารเช้า” ตามที่ตั้งใจไว้

ใช้เพียง “นมสด” กับ “ไข่ไก่”

“Space is a stage that tells you how to behave”

(พื้นที่ คือ เวทีที่บอกว่าคุณควรจะประพฤติตัวอย่างไร)

“ทีน่า ซีลิก” ผู้เขียนหนังสือขายดี “น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่อายุ 20”

และเป็นอาจารย์ของผมที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้วย

ท่านเคยสอนผมและเพื่อนๆ ที่ศึกษาทางด้าน “การสร้างนวัตกรรม (Innovation)” ด้วยประโยคข้างต้น

หมายความว่า…

มนุษย์เรานั้นจะ “ประพฤติตัว” แบบไหน จะทำงานได้ดีแค่ไหน ขึ้นกับ “สภาพแวดล้อม” ในขณะนั้นๆ

การ “จัดสถานที่” ทำงาน จึงมีผลโดยตรงต่อ “ประสิทธิภาพ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” ขององค์กร

บทเรียนล้ำค่านี้ ผมได้ “เข้าใจ” ด้วยตัวเอง เมื่อได้มาสอนเรื่อง “นวัตกรรม” ที่เมืองไทย ครับ

ทุกๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปสอนการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ในองค์กร

เรื่องของการ “ระดมสมอง” ที่มีประสิทธิภาพ มักจะเป็นเรื่องที่มี “ปัญหา” มาก

ผมมักจะให้ผู้เรียนได้ลองทำงานร่วมกันผ่าน “แบบฝึกหัด” ครับ

ผมเรียก แบบฝึกหัด นี้ว่า “ตามล่า หาฆาตกร”

โดยปกติ จะมีผู้เล่นประมาณ 20 คน ทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันเป็น “ทีมเดียว”

ผมจะให้ “เบาะแส” กับแต่ละคน เป็นกระดาษใบเล็กๆ หนึ่งแผ่น

แต่ละคนสามารถบอก “เบาะแส” นี้กับเพื่อนได้ แต่ไม่สามารถให้เพื่อนดู “กระดาษ” ของตัวเองได้

แบบฝึกหัดนี้ ถูกออกแบบมาให้ต้องใช้ข้อมูลใน “เบาะแส” ทั้ง 20 ชิ้น จึงจะสามารถตอบปัญหาได้

ว่า ใครคือฆาตกร เวลาเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ อาวุธในการฆ่า และแรงจูงใจในการลงมือ

โดยปกติ ผมจะให้เวลาประมาณ 20 นาที ให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกัน ครับ

ทุกๆ ท่านน่าจะพอเดาออกว่า มันจะ “วุ่นวาย” แค่ไหน

ปัญหาที่มักจะเจอในช่วงแรกๆ ก็คือ

“มีคนพูดหลายคน อยากจะเล่าข้อมูลของตัวเอง ไม่ฟังกัน”

“ไม่มีคนจดข้อมูล ทำให้จำไม่ได้ว่าคุยกันถึงไหน”

“บางคนด่วนสรุป ทั้งที่ยังมีข้อมูลไม่ครบด้วยซ้ำ”

แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ ท้ายที่สุด แทบทุกกลุ่มที่ผมจะไปจัดกิจกรรมนี้ให้ จะ “ทำสำเร็จ” ครับ

ตอบได้ทั้งหมด ทั้ง ใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทำไม

ยกเว้นเพียงแค่ “ครั้งเดียว” เท่านั้น ที่ทีมงานตอบไม่ถูกเลย แม้แต่อย่างเดียว

ผมเองกลับมาลองนึกว่า ทำไม ทั้งๆ ที่ผู้เรียนก็มีความสามารถใกล้เคียงกัน แบบฝึกหัดเดิม ข้อมูลเดิม เวลาเท่าเดิม

ก็มาถึงบางอ้อว่า ปัจจัยที่แตกต่างคือ “สถานที่” ในการจัดกิจกรรม ครับ

แทบทุกครั้ง ผมจะขอจัดกิจกรรมในสถานที่ใน “ห้องโล่งๆ”

มีเพียง “เก้าอี้” เท่านั้น ไม่มีโต๊ะ มีกระดานไวต์บอร์ด และปากกาเอาไว้เขียน

โดยปกติ สิ่งแรกที่ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมจะทำโดยอัตโนมัติ ก็คือ “นั่งล้อมวงเป็นวงกลม”

หันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน

สักพัก พอคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องก็จะเริ่มมีคน “ยืนขึ้น” ไปเขียนข้อมูลลงบนกระดาน

เรียบเรียงข้อมูล ให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน ทำให้รู้ว่า ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่ม

ทีละนิดๆ ก็สามารถแก้ไปปัญหาได้ ภายในเวลา 20 นาที

ครั้งเดียวที่ “ผู้ร่วมกิจกรรม” ทำไม่สำเร็จ เราจัดกันที่ “ห้องประชุม” ณ สำนักงานใหญ่รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ครับ ลองนึกภาพตาม

ห้องค่อนข้างเล็ก แคบ มีโต๊ะสี่เหลี่ยมตัวใหญ่มากตั้งอยู่กลางห้อง พร้อมเก้าอี้มีพนักพิง รอบโต๊ะ

ระยะห่างระหว่างเก้าอี้กับกำแพงนั้น สามารถเดินผ่านได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

เรียกได้ว่า “การเคลื่อนที่” ของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น คน โต๊ะ เก้าอี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

คล้ายๆ ห้องประชุมที่เราเห็นกันทั่วไปตามออฟฟิศขององค์กรเก่าๆ ครับ

เมื่อเริ่มทำกิจกรรม ทุกคนพูดๆ แต่ไม่มีการจดบันทึก ไม่มีการยืนขึ้น ทุกคนนั่ง “แอ้งแม้ง”

บ้างเท้าคาง บ้างกุมขมับ บ้างมองไปทางอื่น ไม่สนใจบทสนทนา

ไม่มีใครถามหากระดานไวต์บอร์ด หรือแม้แต่กระดาษที่จะจดบันทึกข้อมูล ที่แต่ละคนพูดออกมา

ระดับพลังงานของความ “มีส่วนร่วม” ในกิจกรรมนั้น ถือว่า “ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน”

ทำให้ผมถึงบางอ้อว่า “การจัดสถานที่” มีผลต่อ “พฤติกรรมการทำงาน” จริงๆ ครับ

บางสถานที่ “กระซิบ” บอกเราว่า นั่งเฉยๆ ปล่อยให้คนอื่นเขาทำงานไป คนเยอะแยะแล้ว

บางสถานที่ “สะกิด” บอกเราว่า เฮ้ย! เมื่อไรคุณจะขึ้นไปเขียนอะไรสักอย่าง ให้งานมันเดินสักที ช่วยๆ กันสิ

เคยมีผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่ง ถามผมว่า แล้วสถานที่แบบไหนที่จะทำให้คนมี “ความคิดสร้างสรรค์” ได้ล่ะ

ผมเห็นหลายบริษัทในเมืองไทยที่ให้ความสำคัญกับ “เปลือก” เช่น โซฟานุ่มๆ สีสันสวยงาม ตามนิตยสารที่ได้รางวัลกัน

ก็คิดว่า เป็นเรื่องที่ “ไม่ผิด” ครับ สถานที่ที่ “แปลกตา” ก็อาจจะนำมาซึ่งความคิดใหม่ๆ

ผมอยากขอเล่าถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งสอนเรื่อง “นวัตกรรม” โดยมีผู้บริหารจากบริษัททั่วโลกบินเข้าไปร่วมเรียนเป็นพันๆ คนมาแล้ว นั่นคือ “สแตนฟอร์ด ดีไซน์ สคูล (Stanford Design School)” ครับ

ผมได้มีโอกาสเรียนอยู่ที่นี่เป็นเวลาเกือบปีด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่สัมผัสได้นั้น ไม่ใช่ “เปลือก”

แต่เป็น “แก่น” ของการจัดสถานที่เพื่อส่งเสริมให้เกิด “ความคิดสร้างสรรค์”

ไม่ได้มีอะไรสวยหรู ไม่ได้มีการตกแต่งราคาแพงแต่อย่างใด มีเพียงแค่…

โต๊ะและเก้าอี้ทุกตัวจะมี “ล้อ” เลื่อนได้ แถมโต๊ะถูกออกแบบให้สามารถนำมาต่อกันเป็นโต๊ะใหญ่ได้ตามจำนวนคนที่พูดคุยกัน ปรับได้ตามสถานการณ์

มี “ไวต์บอร์ด” อันใหญ่ เก่าบ้าง ใหม่บ้าง ที่มี “ล้อเลื่อน” เช่นเดียวกัน อยู่ทุกหนแห่ง

เก้าอี้ โต๊ะ ไวต์บอร์ด ที่ “เคลื่อนที่” ได้ สามอย่าง ก็สามารถสร้างห้อง “ระดมสมอง” ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกขนาด ที่ต้องการ

อีกทั้ง “กำแพง” ที่สามารถเขียนได้เหมือนเป็น “ไวต์บอร์ด” อยู่ทุกที่ พร้อมปากกา แปรงลบกระดาน

และที่ขาดไม่ได้คือ “โพส-อิต” กระดาษใบเล็กๆ ที่ใช้ในการ “ระดมสมอง”

ใช้ “สื่อสาร” สิ่งที่คิดในหัว เขียน แปะลงบนกระดาน บนโต๊ะ และเคลื่อนย้าย จัดกลุ่มความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เสริมด้วย “อินเตอร์เน็ต” ความเร็วสูงสำหรับการหา “ข้อมูล” ที่ยังขาดหายไป ในการระดมสมอง พร้อม “ปลั๊กไฟ” ที่มีอยู่มากมายสำหรับการใช้งาน คอมพิวเตอร์ ไม่ต้องแย่งกันให้เสียเวลา

อีกทั้งอุปกรณ์ในการสร้าง “ต้นแบบ” เช่น กระดาษสี กาว กรรไกร ปากกาสีๆ เทปกาว เพื่อใช้ในการสื่อสารความคิด ให้เป็นรูปเป็นร่าง จับต้องได้ อีกด้วย

เขาประหยัดในเรื่อง “เปลือก” เช่น การตกแต่งสวยงาม เฟอร์นิเจอร์หรูๆ

แต่เต็มที่กับ “แก่น” ในการทำงาน เช่น กระดาษโพส-อิต อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ปลั๊กไฟ อุปกรณ์สร้างต้นแบบ

เพราะแท้ที่จริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ เกิดจาก “การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์”

สถานที่ทำงานที่ดี จึงต้องสนับสนุนให้ผู้คน “แลกเปลี่ยน” ความคิด สื่อสารออกมาให้เห็นภาพด้วยการสร้าง “ต้นแบบ” ที่จับต้องได้ ต่อยอดได้ รับการติชมได้ อย่างตรงประเด็น แถมปรับได้ตามสถานการณ์

มิใช่เพียงแค่การ “โต้เถียง” ในห้องประชุม แสดงความเห็นอย่างลอยๆ โดยไร้ซึ่ง “ข้อมูล”

หรือใช้ข้ออ้างในเรื่อง “ประสบการณ์อดีต” จากผู้มีตำแหน่งสูงๆ เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ในห้องประชุมกรรมการบริษัท บน “หอคอยงาช้าง”

“เก้าอี้แพงๆ” ราคาตัวละเกือบแสน ทำให้คนนั่งจุ้มปุ๊กได้ทั้งวัน คือต้นเหตุหนึ่งของการประชุมที่ “ยืดเยื้อ”

แอร์เย็นๆ ที่เสริมให้คนทำงานรู้สึก “หนาวเหน็บ” เพิ่มเติม จากคำวิพากษ์วิจารณ์ การถูก “ตัดสิน”

มากกว่าจะรู้สึก “ร้อนรุ่ม” ด้วยพลังงานแห่งความสร้างสรรค์ โอกาส ความเป็นไปได้ที่ไม่มีขอบเขต

คุณเดินหิ้ว “ถุง” จากร้านสะดวกซื้อ ถึงบ้าน

เทนมใส่แก้ว ตอกไข่ใส่กระทะ

เก็บขนมปังที่ซื้อมาใส่ไว้ในตู้เย็น หยิบ “ป๊อกกี้” หนึ่งกล่องออกมาแกะกิน

รีโมตทีวีจริงๆ แล้วเพิ่งจะเปลี่ยนถ่านไปไม่นาน คุณเก็บถ่านที่ซื้อมาไว้ในตะกร้าของข้างๆ ทีวี

แล้วคุณนึกกับตัวเอง “ตอนออกจากบ้าน ไม่ได้ตั้งใจซื้อของพวกนี้เลยนะเนี่ย เสียตังค์อีกแล้ว”

“การจัดสถานที่” มีผลต่อ “พฤติกรรม” ของคุณอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ที่ร้านสะดวกซื้อ

แค่ว่าคุณ “รู้ตัว” หรือ “ไม่รู้” เท่านั้นเอง