คุยกับทูต ยูริ ยาร์วียาโฮ จากดินแดนที่มีความสุขที่สุดในโลก…ฟินแลนด์ (ตอน 1)

 

คุยกับทูต ยูริ ยาร์วียาโฮ

จากดินแดนที่มีความสุขที่สุดในโลก

…ฟินแลนด์ (ตอน 1)

 

“ผมมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ วิมเปลี (Vimpeli) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศฟินแลนด์ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในเมืองโยเอนซู (Joensuu) ฟินแลนด์ และอีกสองปีจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน มาประจำที่กรุงเทพฯ พร้อมกับภรรยา เรามีลูกชายคนเดียวซึ่งมีครอบครัวอยู่ที่เมืองเฮลซิงกิ รวมทั้งหลานชายคนแรกของเราด้วย”

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (Mr. Jyri Järviaho) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ภาพ-หน่วยราชการในพระองค์

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) ซึ่งมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2020 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา เริ่มการสนทนาด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฟินแลนด์ และเส้นทางสู่ชีวิตนักการทูต

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

“ไทยและฟินแลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตโดยการแลกเปลี่ยนหนังสือความตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ฯ ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1954 ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายนปีเดียวกัน นาย Hugo Valvanne เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ผู้มีถิ่นพำนักในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูต (ที่ไม่ได้มีถิ่นพำนัก) ประจำกรุงเทพฯ ด้วย สถานทูตฟินแลนด์เปิดเต็มรูปแบบพร้อมมีเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ในปี 1986 และปี 2012 ไทยเปิดสถานทูตในกรุงเฮลซิงกิ”

“ผมเริ่มทำงานที่กระทรวงต่างประเทศฟินแลนด์ปี 1999 และเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมทางการทูต กระทรวงต่างประเทศของฟินแลนด์ ในปีเดียวกัน ตั้งแต่นั้นมาเป็นการทำงานในหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงต่างประเทศของฟินแลนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

“สำหรับต่างประเทศ ได้แก่ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ต่อมาที่ริกา เมืองหลวงของประเทศลัตเวีย รวมทั้งเป็นผู้แทนถาวรของฟินแลนด์ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์”

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

“ตอนเป็นเด็กผมใฝ่ฝันอยากเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะกังวลในเรื่องมลพิษและสภาพแวดล้อมของทะเลสาบและป่าไม้ เมื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ผมเรียนคณิตศาสตร์ก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเศรษฐศาสตร์ ด้วยเห็นว่าชีวิตเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสังคมรอบตัวมากขึ้น”

“ต่อมาเกิดความสนใจอยากไปศึกษาต่อต่างประเทศ เริ่มด้วยการไปเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษาในด้านการเมืองและยุโรปศึกษา ณ เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกา การศึกษาวิชาดังกล่าวนำผมไปสู่การฝึกงานในกระทรวงต่างประเทศฟินแลนด์ จากประสบการณ์นั้นก็ทำให้ได้ทำงานที่ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (EBRD) ในกรุงลอนดอน”

ท่านทูตกับมาดาม Elina ที่เขาใหญ่

 

กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกนับตั้งแต่เข้าทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ

“แน่นอนว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา สำหรับฟินแลนด์ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1990 เริ่มจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย และต่อมาฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1995 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในด้านการต่างประเทศของฟินแลนด์นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง”

“ฟินแลนด์เป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรปที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และระบบที่ยึดตามกฎสากลอย่างแข็งขัน ประเด็นหนึ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากในปีต่อๆ ไป เพราะตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเราทุกคนในโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้เพียงแค่มีผลโดยตรงต่อสภาพอากาศ ฤดูกาล และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคมทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด ความปลอดภัย และเศรษฐกิจ อาหารของเราอาศัยการเกษตรและการปศุสัตว์ รวมไปถึงสัตว์น้ำที่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เหมาะสมและแหล่งน้ำที่สะอาด”

“ซึ่งหากต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่สูงขึ้น จะส่งผลให้เกิดภาวะอุทกภัยและทุพภิกขภัย ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหาร และยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน”

นายยูริ ยาร์วียาโฮ (Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

 

ส่วนผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในฟินแลนด์

“การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในสังคมทั้งหมดของเรา ทั้งในด้านเศรษฐกิจและปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ทั้งด้านการเดินทาง การท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม กิจกรรมทางวัฒนธรรม ต่างได้รับผลกระทบจากการปิดตัวและมาตรการที่เข้มงวด การจำกัดกิจกรรมยามว่างของผู้คน การทำงานและการเรียนจากที่บ้าน ก็กลายเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติตาม”

“ในช่วงฤดูร้อนนี้ ชาวฟินแลนด์มีความหวังมากขึ้น เนื่องจากหลายคนได้รับการฉีดวัคซีน ขณะนี้ประมาณ 60% ของประชากรฟินแลนด์นั้นได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว เป้าหมายคือ 80% ตอนนี้สังคมฟินแลนด์กำลังเปิดกว้างและค่อยๆ ปรับเข้าสู่สภาวะปกติ เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนสูงขึ้น ความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากโรคโควิดอย่างร้ายแรงจะลดลง และในไม่ช้า เราจะสามารถประกาศให้โรคโควิดนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงสำหรับประชากร”

“นอกจากนี้ รัฐบาลฟินแลนด์ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งบริจาควัคซีนหลายล้านโดสให้โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ระดับโลก การบริจาคครั้งล่าสุดในเดือนกันยายนประกอบด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 3 ล้านโดส และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) 650,000 โดส มูลค่า 10 ล้านยูโร”

มาร์เก็ต สแควร์ (Market Square) เป็นตลาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเฮลซิงกิ

 

โบสถ์ ใน กรุงเฮลซิงกี ภาพ – Pikist

โคแวกซ์เป็นโครงการเพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI)

องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือกาวี (GAVI – Global Alliance for Vaccines and Immunization) เป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐ-เอกชนที่ทำการเกี่ยวกับสาธารณสุขระดับโลก มีจุดประสงค์เพิ่มการให้ยาคุ้มกันโรคแก่บุคคลต่าง ๆ ในประเทศยากจน

ยูนิเซฟทำงานร่วมกับผู้ผลิตและพันธมิตร ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดจนการขนส่งและการจัดเก็บวัคซีน ด้วยความร่วมมือกับกองทุนหมุนเวียนขององค์การอนามัยทวีปอเมริกา (PAHO) โดยยูนิเซฟเป็นผู้นำในการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำไปจนถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำปานกลางกว่า 92 ประเทศ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้สูงปานกลาง และประเทศที่มีรายได้สูงมากกว่า 97 ประเทศ

ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุม 4 ใน 5 ของประชากรโลก (UNICEF Thailand)

มาร์เก็ต สแควร์ (Market Square) หรือ เคาป์ปาโตรี (Kauppatori) เป็นตลาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเฮลซิงกิ

 

สวนสาธารณะ Koli ภาพ- wildnordics.com

 

นายยูริ ยาร์วียาโฮ กล่าวถึงชุมชนชาวฟินแลนด์ในประเทศไทยว่า

“ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคลากรของหอการค้าไทย-ฟินแลนด์ (TFCC) รวมทั้งบริษัทฟินแลนด์หลายแห่งในประเทศไทย น่าเสียดายที่สถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถพบชาวฟินแลนด์ (Finns) ในประเทศไทยได้มากเท่าที่ต้องการ”

“ถึงอย่างไรเราก็พยายามที่จะเข้าถึงชุมชนชาวฟินแลนด์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้ว่าในปัจจุบัน ชาวฟินแลนด์ที่พักอาศัยระยะยาวที่นี่มีจำนวนลดน้อยลงเพราะเดินทางกลับประเทศ”

“ผมก็มั่นใจว่า ชาวฟินแลนด์จะกลับมายังประเทศไทยในทันที เมื่อข้อจำกัดการเดินทางลดลง”

 

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติในฟินแลนด์ ที่ นุกซิโอ (Nuuksio)

 

Kilpisjärvi Lapland ที่ซึ่งสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์มาบรรจบกัน ภาพ – wildnordics.com

 

ประวัติ

นายยูริ ยาร์วียาโฮ Jyri Järviaho

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทยและกัมพูชา

เกิด : ปี 1965

คู่สมรส : นาง Elina Multanen

บุตรชาย : นาย Aleksi Järviaho (เกิดปี 1989)

ประสบการณ์การทำงาน

กันยายน 2020-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทยและกัมพูชา

กุมภาพันธ์ 2020-สิงหาคม 2020 : รองอธิบดีกรมทรัพยากรฝ่ายบุคคล กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

สิงหาคม 2015-มกราคม 2020 : ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

สิงหาคม 2012-กรกฎาคม 2015 : อัครราชทูตที่ปรึกษา คณะผู้แทนถาวรฟินแลนด์ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา

กันยายน 2008-มกราคม 2012 : ที่ปรึกษาแผนกอเมริกาและเอเชีย กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

สิงหาคม 2005-สิงหาคม 2008 : เลขานุการเอก แผนกอเมริกาและเอเชีย กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

สิงหาคม 2003-กรกฎาคม 2005 : เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ณ กรุงริกา ประเทศลัตเวีย

สิงหาคม 2000-กรกฎาคม 2003 : เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ณ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย

เมษายน 2000-กรกฎาคม 2000 : นักการทูต กรมพิธีการทูต กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

มีนาคม 1999-กุมภาพันธ์ 2000 : นักการทูต ฝ่ายกิจการสหประชาชาติ กรมการเมือง กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

มีนาคม 1997-มกราคม 1999 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนการสมัครเพื่อขอรับสินเชื่อ แผนกสินเชื่อ ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (EBRD) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

มีนาคม 1996-กุมภาพันธ์ 1997 : เจ้าหน้าที่ฝึกหัด หน่วยนโยบายความมั่นคง กรมการเมือง กระทรวงต่างประเทศ กรุงเฮลซิงกิ

การศึกษา

กันยายน 1986-มิถุนายน 1994 : ปริญญาโทสังคมศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์) University of Joensuu ฟินแลนด์

กันยายน 1993-มิถุนายน 1994 : การเมืองและยุโรปศึกษา University of Northumbria at Newcastle สหราชอาณาจักร

กันยายน 1994-มิถุนายน 1995 : ศึกษานโยบายความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Graduate School of International Relations, University of Denver สหรัฐอเมริกา

ภาษา : ฟินแลนด์ สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เซอร์เบีย

งานอดิเรก : กีฬา ดนตรี กิจกรรมกลางแจ้ง