ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ป๋อสา”

 

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า ป๋อ-สา

หมายถึง ต้นปอสา หรือบางท้องถิ่น เรียกว่า ไม้ปอ

อีสานเรียก ปอกะสา

ภาคตะวันตกเรียก หมกพี

ภาคใต้เรียก ปอฝ้าย

ภาษาอังกฤษเรียก paper mulbery มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Broussonettiapapyrifera (L.) Vent.

ชื่อสกุลตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ P.M.A. Broussonet นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ทำการศึกษาพืชสกุลปอสาและชื่อบ่งชนิดมาจากลักษณะการใช้ประโยชน์จากเปลือกต้นในการทำกระดาษ

 

ปอสาเป็นสมาชิกในวงศ์มะเดื่อ MORACEAE จึงมียางขาวคล้ายน้ำนมเหมือนกัน

ลักษณะนิสัยเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยวรูปรี หรือไข่กว้าง ปลายแหลม โคนมน กลางใบ ขอบเว้าลึกเป็น 3-5 พู เรียงสลับ แผ่นใบบางนิ่ม ผิวใบมีขนสาก ขอบจักเป็นซี่ฟัน ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อยาวห้อยลง ช่อดอกเพศเมียเป็นกระจุกแน่นทรงกลม ผลเป็นผลรวม ทรงกลมสีแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ดสีแดง

มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น ทางตอนเหนือของพม่าและไทย ชอบขึ้นในที่มีความชุ่มชื้น ริมน้ำ ในป่าค่อนข้างโปร่ง ในไทยมีทั่วไปในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูง 50-80 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

 

เปลือกต้นใช้ทำกระดาษสา

เนื้อไม้ใช้ทำตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน

ใบอ่อนผสมรำข้าวเป็นอาหารหมู

ผลสุกเป็นอาหารนกและกระรอก

น้ำมันจากเมล็ดใช้ทำสีเครื่องเขิน

สรรพคุณและประโยชน์ทางยา

ใช้ใบหรือกิ่งอ่อนนำมาตำพอกแผลสดช่วยห้ามเลือด

รากและเปลือกช่วยสมานแผลสด แผลฟกช้ำ

ยางใช้ทาแก้กลากเกลื้อนโดยใช้ยางสด 1 ส่วน ผสมเหล้าหรือวาสลีน 9 ส่วน

ผลใช้พอกแผลที่มีหนองได้

การใช้ในทางยาในต่างประเทศ อาทิ ฮาวายใช้ยางเป็นยาระบายอ่อนๆ

ประเทศจีนใช้ใบและผลเป็นยาบำรุงตับไต บำรุงการมองเห็น และบรรเทาความเมื่อยล้า

 

ป๋อสา เปือกของต้นมันใจ๊แป๋งกะดาด

แปลว่า ปอสา เปลือกของต้นมันใช้ทำกระดาษสา