เครื่องเคียงข้างจอ : ขอ ‘ว้าวุ่น’ อีกหน่อย / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ขอ ‘ว้าวุ่น’ อีกหน่อย

 

เมื่อฉบับที่แล้วผมได้เขียนแนะนำหนังสือเล่มล่าสุดของปินดา โพสยะ ไป ในชื่อ “เรื่องสั้นชุด ว้าวุ่น…วาย” เป็นภาคต่อและภาคจบของเรื่องสั้นชุดว้าวุ่น ที่เขียนไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

เขียนแนะนำหนังสือว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร พร้อมบอกถึงผู้ที่สนใจใคร่อยากอ่านว่า สามารถติดต่อสั่งจองล่วงหน้าได้ทาง line : @pinda เพราะหนังสือยังอยู่ในกระบวนการเตรียมส่งพิมพ์ ที่ให้มีการจองล่วงหน้าก็เพื่อจะได้ทราบถึงความสนใจของคนอ่านว่ามีมากน้อยเพียงใด จะได้พิมพ์หนังสือในจำนวนที่ไม่ไกลจากความต้องการมากเกินไป

ด้วยว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้วางขายในร้านขายหนังสือทั่วไป นอกจากว่าจะมีร้านสแตนด์อะโลนสนใจก็สามารถติดต่อขอไปวางขายได้

เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของนักอ่านขาจร

 

เรียกวิธีการดำเนินธุรกิจขายหนังสือประเภทนี้ว่า “ผู้ผลิตพบผู้บริโภค” คือตัดตัวกลางที่เราเรียกว่าสายส่งออกไป ซึ่งแต่เดิมสายส่งจะเป็นผู้ distribute หนังสือของนักเขียนเพื่อไปนอนรอคนซื้อที่ร้าน บางร้านอาจจะมีคนซื้อ หรือบางร้านอาจไม่มีคนซื้อเลยก็ได้

ซึ่งสุดท้ายหนังสือที่เหลือจากการขายก็จะถูกส่งกลับมากองที่ผู้พิมพ์ กลายเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถประเมินควบคุมได้ดีพอ ต่อมาก็เพราะโลกของอีคอมเมิร์ซโดยแท้ที่ทำให้เกิดการค้าขายใหม่ๆ นี้ขึ้นได้ และธุรกิจบนโลกดิจิตอลกำลังดำเนินไปอย่างมีอำนาจทำลายล้างต่อวิถีเดิมๆ อย่างที่เราต่างสัมผัสได้ในทุกวันนี้

แม้แต่วิถีของการเลือกตั้งยุคใหม่ แม้ว่าการหาเสียงแบบออนกราวด์ยังมีอยู่และเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้สมัครอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน แต่ประชาชนไม่เคยพบหน้าค่าตาก็คงยากต่อการชนะใจ

แต่หากมีวิถีของการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้สมัครและประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ใกล้ชิดกันแบบไม่มีเงื่อนไขของเวลา สถานที่ และงบประมาณ ก็จะเป็นการสร้างความนิยมทางลัดได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน

ดังจะเห็นได้จากการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถพลิกความคาดหมายเอาชนะคู่แข่งที่คะแนนในโพลนำมาตลอดอย่างนางฮิลลารี คลินตัน ลงได้ ก็ด้วยอาศัยการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ทางโซเชียลมีเดีย

กลุ่มทาลิบันที่ตอนนี้ได้เป็นฝ่ายปกครองประเทศอัฟกานิสถาน ก็ได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ชี้นำ สร้างโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลของตนอย่างจริงจัง

ที่น่าแปลกใจคือ ก่อนหน้านี้เมื่อตอนทาลิบันขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกเมื่อปี 1996 ก็ได้เป็นปฏิปักษ์กับโซเชียลมีเดียอย่างแรงกล้า มีการสั่งห้ามใช้อินเตอร์เน็ต ยึดหรือทำลายทีวี กล้อง และเทปวิดีโอของประชาชน

แต่ในยุคนี้ พ.ศ.นี้ ทาลิบันก็หันมาใช้โซเชียลมีเดียเพื่ออำนาจอย่างเต็มตัว

 

ได้เคยอ่านคำสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทผลิตชุดชั้นในสตรียี่ห้อหนึ่งว่า ตอนแรกไม่มีความเชื่อเรื่องการขายยกทรงทางออนไลน์เลย เพราะจากประสบการณ์ได้เรียนรู้ว่าผู้ซื้อมักจะต้องลองสวมใส่เสื้อยกทรงนั้นเสียก่อนว่า พอดีตัว มีความสบาย ถูกใจผู้ใช้เพียงใด ก่อนจะตัดสินใจซื้อ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ลูกค้าของตนจะสนใจซื้อของทางออนไลน์

แต่ผู้ประกอบกิจการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ให้ความรู้ ความเชื่อมั่น และขอทดลองทำตลาดดู ซึ่งแน่นอนในตอนแรกอาจจะยังติดขัด ไม่ตอบปัญหาและเงื่อนไขได้ทั้งหมด แต่เมื่อร่วมเรียนรู้และพัฒนาแก้ไขไปด้วยกัน ก็กลับกลายเป็นตลาดใหม่ขึ้นมาได้

สิ่งสำคัญคือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสของจริงๆ วิธีการจัดการคือ จัดให้มีทีมงานหลังบ้านที่จะคอยพูดคุย แนะนำสินค้า และเรียนรู้ความต้องการของลูกค้ารองรับไว้ตลอดเวลา ซึ่งก็ใช้พนักงานของบริษัทเจ้าของสินค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่มาทำ ตรงกับพฤติกรรมของเขาอยู่แล้ว จึงแก้สิ่งที่เคยเป็นจุดด้อยลงได้ รวมทั้งการเปลี่ยนสินค้าได้หากไม่ตรงที่ต้องการ จึงเหมือนหมัดน็อกที่โดนใจผู้ซื้ออย่างยิ่ง

และต่อมาพบว่า เมื่อลูกค้าได้ซื้อหนแรก ก็จะกลับมาซื้อซ้ำๆ อีกเพราะมีความเชื่อมั่นและมีข้อมูลที่มั่นใจแล้ว จึงเป็นว่ายอดการขายทางออนไลน์ของชุดชั้นในสตรียี่ห้อนี้มีมากพอๆ กับยอดทางหน้าร้านก่อนจะเกิดโควิดด้วยซ้ำ

ส่วนการขายหนังสือทางออนไลน์ ก็แก้ไขปัญหาความเคยชินของคนซื้อที่มักจะต้องเปิดดูเนื้อหาข้างในเล่ม โดยมีตัวอย่างเนื้อหาข้างในรวมทั้งภาพประกอบ เพิ่มเติมด้วยรีวิวจากคนที่ได้อ่านแล้ว เพื่อช่วยกระตุ้นในการตัดสินใจซื้อ

 

ย้อนกลับมาที่ “ว้าวุ่น…วาย” อีกครั้ง จริงๆ แล้วได้มีการทดลองขายทางออนไลน์ตั้งแต่ว้าวุ่น ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 21 เมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว โดยได้ทีมงานที่มีความถนัดทางธุรกรรมออนไลน์มาดูแล ทั้งการรับคำสั่งจอง การตรวจเช็กความถูกต้องของการสั่ง และยอดการโอนเงิน เลยไปถึงการตอบรับกับผู้ซื้อ และการจัดส่งของทางไปรษณีย์จนถึงมือผู้รับ

มีแม้กระทั่งส่งหนังสือไปต่างประเทศ เพราะมีนักอ่านที่เป็นแฟนเก่าสนใจสั่งมา

จากประสบการณ์ครั้งก่อน การดำเนินงานสำหรับหนังสือเล่มใหม่นี้จึงมีความลงตัว มียอดสั่งจองเข้ามาเรื่อยๆ และก็มีฟีดแบ็กกลับมารายงานให้กับผู้เขียนเนืองๆ เช่น คำโพสต์ของแฟนหนังสือบางคนที่ว่า

“ตอนเล่ม 1 สั่งซื้อได้ลายเซ็นผู้เขียน เล่ม 2 นี้ก็ต้องมีเหมือนกัน…งั้นโกรธ”

“ดีใจจนน้ำตาไหล รอมานานมาก นึกว่าจะไม่ได้อ่านแล้ว”

บางคนที่น่าจะเป็นนักอ่านสูงวัยสักหน่อยถามเรื่องตัวพิมพ์มา

“ขนาดตัวหนังสือเท่ากับเล่ม 1 ไหม อย่าให้เล็กแบบพ็อกเก็ตบุ๊กสมัยใหม่นะ”

ส่วนผู้สั่งรายนี้ทำเอาคนรับออร์เดอร์ต้องพนมมือ

“ขอสั่งซื้อแบบชุด ชุดละ 700 บาท 1 ชุดจ้ะ อาตมารอมาตั้ง 40 ปีเอง”

ส่วนคนนี้คงเป็นคุณพ่อรักการอ่าน ที่อยากเจือจานให้ลูกด้วย

“ดีใจจังที่มีเล่ม 1 ด้วย จะซื้อเล่ม 1 ให้ลูกอ่าน”

ช่างบ่งบอกถึงวัยระหว่างเล่ม 1 กับเล่ม 2 จริงๆ

แต่ที่เด็ดคือ มีแฟนนักอ่านกระเซ้ามาว่า

“ว้าวุ่น…วาย เป็นนิยายชายรักชายเหรอ เห็นมี วาย ตามกระแสนิยม”

เลยถึงคราวผู้เขียนฮาเอง เพราะไม่นึกว่าจะมีออกเป็นมุมซีรีส์วายด้วย ซึ่งถ้าให้ตัวละครในว้าวุ่นรักชอบกันเองคงดูไม่จืด ขำไม่ออกเป็นแน่

 

หนังสือเรื่องสั้นชุด “ว้าวุ่น…วาย” นี้ ได้ประภาส ชลศรานนท์ มาเขียนคำนิยมให้ ความตอนหนึ่งประภาสเขียนไว้ว่า

“แม้เรื่องสั้นชุดว้าวุ่นจะไม่ใช่ไดอารี่บันทึกชีวิต หรืออัตชีวประวัติของใครคนใดคนหนึ่งอย่างแท้ๆ เพราะเสน่ห์อย่างหนึ่งของเรื่องสั้นชุดนี้คือ ปินดาได้ตั้งชื่อตัวละครทั้งหมดให้ไม่ตรงกับตัวจริง รวมไปถึงเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เขาใช้วรรณศิลป์ลากนำมายำรวมกันเพื่อให้เกิดอรรถรสในการอ่าน

ถามว่าเรื่องสั้นชุดว้าวุ่นเป็นเรื่องจริงไหม

ก็คงตอบว่าจริงและไม่จริง ไปพร้อมๆ กัน

แม้เสียงคำว่าไม่จริงจะเบาสักหน่อย”

ประภาสกล่าวถึงเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ คือ ตัวละครจริง ที่มีนามสมมุติ แต่คนอ่านก็พอจะรู้ว่าเป็นใคร โดยเฉพาะกับตัวละครที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา

และสิ่งที่เป็นผล “ต่อยอด” ตามมาของเรื่องสั้นชุดแรกนี้ นอกจากการผลิตซ้ำของว้าวุ่นชุดแรกถึง 21 ครั้งแล้ว ยังได้นำไปสร้างเป็นละครชุดแนวหรรษาเมื่อราว 27 ปีก่อน ออกอากาศทางช่อง 7 สี โดยบริษัท เจ เอส แอล จำกัด ในสมัยนั้น มีนักแสดงมีชื่อหลายคนที่สวมบทบาทตัวละครเหล่านั้น เช่น โน้ส อุดม, ต้น ตระการ, หอย เกียรติศักดิ์, เปิ้ล นาคร, รัก ศรัทธาทิพย์ เป็นต้น

จากละครโทรทัศน์ครั้งนั้น 19 ปีต่อมา เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น ก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของละครเวทีแนวบันเทิง โดยใช้ชื่อละครว่า “ว้าวุ่น 2013 ซีนย้อนยุค แต่มุขทันสมัย” จัดโดยบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด แสดงที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์

มีนักแสดงที่มารวมตัวเป็นพวกว้าวุ่นกันหลายคน เช่น เปอร์ สุวิกรม, ต้อล วันธงชัย, แม็ค วีรคณิศร์, คชา นนทนันท์, ฮ่องเต้ กนต์ธร

 

ไม่แน่ว่าจากเรื่องสั้นที่เขียนเป็นตอนๆ ในนิตยสาร มาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก มาเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ มาเป็นละครเวที ถ้ามีคนสนใจ เราอาจจะได้เห็นว้าวุ่นในรูปแบบของภาพยนตร์ หรือซีรีส์ทางออนไลน์ อย่างที่นิยมอยู่ก็ได้

หรืออาจจะถูกแปลงเป็น e book สำหรับนักอ่านรุ่นใหม่ก็เป็นได้

เพราะโลกของออนไลน์นั้นหากใช้ในทางที่ถูกก็มีพลังในการขับเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้จริง

แต่ที่แน่ๆ คือ จากเล่ม 1 ได้กลายมาเป็นเล่ม 2 ในชื่อ “ว้าวุ่น…วาย” ให้ผู้อ่านได้จับจองเป็นเจ้าของแล้ววันนี้ ทาง line : @pinda

น้ำยังท่วม โควิดยังแพร่ระบาด ประเทศกำลังจะเปิด รัฐบาลกำลังดิ้นเฮือกสุดท้าย จีนกับไต้หวันยังหึ่มแฮ่ใส่กัน แต่เราก็ยังสามารถหาความสุขเล็กๆ ง่ายๆ ได้จากการอ่าน ไม่ว่าจากหนังสือเล่มไหนๆ

ลองหยิบจับขึ้นมาสักเล่มสิครับ ความสุขอยู่ในมือแท้ๆ เทียว