The Quad-AUKUS หมากพันธมิตรสยบมังกรอหังการ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

The Quad-AUKUS

หมากพันธมิตรสยบมังกรอหังการ

 

การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของโจ ไบเดน ได้ผลักดันการต่างประเทศให้สหรัฐกลับมามีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้งหลังลดลงในยุคของทรัมป์ หนึ่งในประเด็นนโยบายการต่างประเทศที่เพิ่มน้ำหนักมากขึ้นคือ พื้นที่เอเชีย-แปซิฟิก หลังปล่อยให้จีนขยายอิทธิพลและผลประโยชน์โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก-ใต้ได้ค่อนข้างราบรื่น

แม้ประเด็นเรื่องจีนจะเป็นเรื่องหนึ่งที่สหรัฐดำเนินมาตั้งแต่ยุคทรัมป์จนถึงยุคไบเดน แต่แนวทางของ 2 รัฐบาลก็มีความต่างในวิธีการ

หากยุคทรัมป์คือเอาสหรัฐกับนโยบายการค้าไปบุกชนตรงๆ กับจีน

ยุคไบเดนคือการสร้างพันธมิตรร่วมและขยายโครงข่ายค่อยๆ ตัดอิทธิพลจีน

การขยับสู่เอเชียอีกครั้งของสหรัฐจะสามารถสกัดอิทธิพลได้มากแค่ไหน และจะนำไปอีกระดับการเผชิญหน้าจนตึงเครียดหรือไม่?

 

The Quad – จตุรมิตรความมั่นคง

กรอบพันธมิตรความมั่นคงนี้ เกิดขึ้นจากแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐภายใต้การนำของไบเดน โดยมองภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียจากเดิมที่สนใจในพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะทะเลจีนตะวันออกและใต้ แต่แผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) ที่ต้องการสร้างอิทธิพลน่านน้ำไปไกลถึงมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ ทำให้มีการขยายพื้นที่จากเอเชีย-แปซิฟิก เป็นอินโด-แปซิฟิก

เอาเข้าจริง The Quad ไม่ใช่ของใหม่ แต่เกิดขึ้นในปี 2007 จากการริเริ่มของชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมการสนับสนุนจากรองประธานาธิบดีสหรัฐ ดิก เชนีย์, จอห์น โฮเวิร์ด นายกฯ ออสเตรเลีย และโมมาฮัน ซิงก์ นายกฯ อินเดีย เพื่อตอบโต้การขยายตัวที่มากขึ้นของอิทธิพลทางเศรษฐกิจและทหารของจีน

แต่กลับลดบทบาทลงหลังมีการถอนตัวจากกรอบความร่วมมือด้วยความกังวลในช่วงเวลา 10 ปี จนในปี 2017 The Quad นำกลับมาสานต่อในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงมะนิลา เพื่อตอบโต้อิทธิพลจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่กำลังมีข้อพิพาทพรมแดนทางทะเลกับชาติสมาชิกอาเซียน

กระทั่งในเดือนมีนาคม 2021 The Quad กลับมาแข็งขัน ผ่านการประชุมทางไกล ผู้นำทั้ง 4 มีแถลงการณ์ร่วมที่จะทำให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นพื้นที่เสรี เปิดกว้าง หยั่งรากคุณค่าประชาธิปไตย และการปราศจากอิทธิพลบีบบังคับ

นี่คือกรอบพื้นฐานของความร่วมมือ 4 ฝ่าย ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งในจุดสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะสกัดการขยายอิทธิพลอย่างแข็งกร้าวของจีน ที่แสดงผ่านแสนยานุภาพทางทหาร หรือการใช้อำนาจเศรษฐกิจครอบงำหรือชี้นำหรือตอบโต้หลายประเทศ

ซึ่งมีกรณีไม่ว่าเป็นข้อพิพาทพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยกับอินเดีย การตอบโต้ทางการค้ากับออสเตรเลีย รวมถึงความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน

นอกจากในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ยังมีเรื่องเศรษฐกิจที่บริเวณทะเลจีนตะวันออกและใต้ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และน่านน้ำนี้ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดียจนถึงทะเลอาหรับ เป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญ ซึ่งตรงกับแผนการ BRI ที่จีนทะเยอทะยานมุ่งสร้างความยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งทางบกและทางทะเล

อีก 6 เดือนต่อมา The Quad ถูกยกระดับในการประชุมระดับผู้นำที่วอชิงตัน ดี.ซี.ในวันที่ 24 กันยายน โดยไบเดนเป็นเจ้าภาพพร้อมด้วยสกอตต์ มอร์ริสัน นายกฯ ออสเตรเลีย นเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดีย และซึกะ โยชิฮิเดะ นายกฯ ญี่ปุ่น (ในเวลานั้น) เข้าร่วมประชุม

ผู้นำทั้ง 4 บรรลุกรอบงานสำคัญทั้งการร่วมมือสกัดการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับคนทั้งโลก, โครงการทุนศึกษาต่อ, การแก้ปัญหาโลกร้อน, ความมั่นคงไซเบอร์และอวกาศ

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ร่วม 4 ผู้นำหลังการประชุม ได้เน้นย้ำความร่วมมือจตุรมิตรนี้ว่า

“ในช่วงเวลาที่ทดสอบเราทุกคน ความมุ่งมั่นของเราในการตระหนักถึงอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างนั้นมั่นคง และวิสัยทัศน์ของเราสำหรับการเป็นหุ้นส่วนนี้ยังคงมีความทะเยอทะยานและกว้างขวาง”

 

AUKUS – พันธมิตรเรือดำน้ำ

เป็นอีกพันธมิตรทางทหารที่ถูกพูดถึงมากในเวลานี้ อย่างโครงการความร่วมมือพัฒนาเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ 3 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ-สหรัฐและออสเตรเลีย จนถูกเรียกในชื่อว่า AUKUS (Australia-United Kingdoms-United States) ซึ่งเกิดก่อนการประชุมผู้นำ The Quad ไม่นาน เป็นโครงการพัฒนากำลังรบทางทะเลให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง เพื่อเตรียมรับมืออำนาจทางทะเลของจีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ

แต่โครงการนี้ก็กลายเป็นเรื่องดราม่าระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลียไป เพราะก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสมีข้อตกลงจะขายเรือดำน้ำพลังดีเซลให้ออสเตรเลีย ออสเตรเลียกลับเลือก AUKUS ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้นเรียกทูตฝรั่งเศสกลับประเทศ ทำให้ต่อมาต้องมีการเคลียร์ใจกันระหว่างไบเดนและเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จนผ่อนคลายและทูตฝรั่งเศสกลับไปประจำที่ออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม Council of Foreign Relations ลงบทวิเคราะห์เมื่อ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มองมิติสัมพันธ์ The Quad และ AUKUS โดยเฉพาะท่าทีของอินเดียที่มองว่า สหรัฐแบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียเพียงชาติเดียวในสมาชิก The Quad และอินเดียเองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส เป็นภาวะขัดกันที่เกิดขึ้นในแวดวงผู้กำหนดนโยบายในอินเดียจนนำไปสู่ข้อกังขาถึงจุดยืนของสหรัฐในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ถึงอย่างนั้น อินเดียเลือกให้ความสำคัญกับ The Quad เพราะ The Quad คือกรอบร่วมมือหลายมิติในระยะยาว ซึ่งก่อผลที่พลิกโฉมระเบียบโลกได้มากกว่า

ขณะที่บทวิเคราะห์ใน Diplomat มองว่าแม้ทั้ง The Quad และ AUKUS ยังมีจุดที่ต้องปรับ ไม่ว่าการสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคี หรือการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาไปกับกรอบที่ทับซ้อนจนแข่งกับพหุภาคอื่น แต่กระนั้นทั้ง AUKUS หรือ Quad หรือทั้งสองรวมกัน จึงเป็นกรอบการทำงานที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสถาปัตยกรรมความปลอดภัยในอินโด-แปซิฟิกที่ทนทานซึ่งสามารถจำกัดจีนได้

การสร้างสถาบันอันแข็งแกร่งในแถบอินโด-แปซิฟิกจึงต้องการอะไรที่ทั้งลึกและกว้างขึ้น

 

ทั้ง AUKUS และ The Quad หากเป้าหมายคือสกัดอิทธิพลจีน ย่อมมีความไม่พอใจจากจีนตามมาทันที และนำไปสู่การคุกคามตามมา เช่น การพบเรือดำน้ำต้องสงสัยซึ่งเชื่อว่าเป็นเรือดำน้ำจีน นอกเกาะทางใต้ของญี่ปุ่นที่เป็นพื้นที่พิพาท

บลูมเบิร์กยังรายงานท่าทีขุ่นเคืองของจีนโดยเรียกกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีนนี้ว่าความคิดตกค้างกับยุคสงครามเย็น และกล่าวโทษกับ AUKUS จะนำไปสู่การแข่งขันทางอาวุธ ไม่นับรวมที่รัฐบาลจีนก็มีปัญหากับอังกฤษ สมาชิกของ AUKUS ในเรื่องการปราบปรามประชาธิปไตยในฮ่องกงหลังการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง และการออกมาตรการแซงก์ชั่นกับสมาชิกสภาหลังวิจารณ์ประเด็นการลิดรอนสิทธิชาวอุยกูร์และแคนาดาในเรื่องการจับกุมพลเมืองแบบเอาคืนหลังการจับกุมลูกสาวประธานหัวเว่ย

เรียกว่า ประเทศสมาชิกใน The Quad และ AUKUS ต่างเป็นประเทศที่มีกรณีพิพาทกับจีนทั้งสิ้น

การขยับของประชาคมโลกจนก่อรูปพันธมิตรแบบต่างๆ สะท้อนความพยายามของชาติฝั่งเสรีประชาธิปไตยในการผนึกกำลังสกัดการขยายอำนาจจีนจนค่อยๆ โดดเดี่ยว เหลือไม่กี่หนทางอย่างการเข้าหาผู้ปกครองแบบเผด็จการหรือการเมืองอำนาจนิยม ไม่ว่ารัฐบาลทหารพม่า, รัฐบาลทาลิบันในอัฟกานิสถาน หรือแม้แต่รัฐบาลลายพรางของไทย

ส่วนพันธมิตรทั้ง 2 นี้จะไปได้ไกลแค่ไหน นั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของสหรัฐในการให้ความสำคัญกับชาติสมาชิกอย่างเท่าๆ กัน และการสร้างกลไกโครงสร้างเพื่อเกื้อหนุนความร่วมมือให้พร้อมรับความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต