คำเตือน จาก “ปรีดี พนมยงค์” | ปราปต์ บุนปาน

ภาพ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอบคุณภาพจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 22/10/2021

 

เพิ่งมีโอกาสได้ย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2517

จุดใหญ่ใจความของบทสนทนาดังกล่าวอยู่ที่เรื่องราวความขัดแย้งในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยระหว่าง “พลังเก่า” กับ “พลังใหม่” ของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้น

ดูเหมือนอาจารย์ปรีดี (ซึ่งพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส) จะมีความเห็นว่าผู้มีอำนาจ/ฝ่ายขวา/ฝ่ายจารีตนิยมนั้น ควรหาหนทางประนีประนอมหรือเอาชนะใจพลเมืองคนรุ่นใหม่ มากกว่าจะขัดขืนต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

สารสำคัญข้อนี้ปรากฏผ่านการยกกรณีตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสยุคเดียวกัน

ดังจะขออนุญาตหยิบยกถ้อยคำของผู้เป็น “มันสมองคณะราษฎร” มานำเสนออีกครั้ง ณ พื้นที่นี้

 

“การมองการณ์ไกลย่อมมีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสังคมนิยมที่แท้จริง และทั้งฝ่ายขวา เท่าที่ผมได้สังเกตมาในฝรั่งเศส คือทางฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสเคยขอแก้อายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจาก 21 เป็น 18 ปี เขาได้เรียกร้อง แต่ว่าฝ่ายขวายังไม่ยอม

“ทีนี้ในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งเลือกตั้งเป็นการชิงชัยกันอย่างหวุดหวิด ฝ่ายซ้ายก็มีนโยบายอย่างเดียวคืออันนั้น ที่จะแถลงออกมา แต่ทางฝ่ายขวายังลังเล

“แต่ว่าหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วมา ดัสแตงค์ (วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง) ได้รับเลือก ซึ่งท่านก็ชนะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถึงแม้ว่าพวกฝ่ายซ้ายเขาเป็นเสียงข้างน้อยในสภา เขาก็พยายามเสนอร่างฯ ให้แก้ไข ฝ่ายขวาเขาก็มองการณ์ไกล ความจริงเขาก็คัดค้านก็ได้ แต่เขามองการณ์ไกล เห็นว่ารั้งเอาไว้ไม่ได้

“การเรียกร้องนี้เข้มแข็งและมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ฝ่ายขวาเขาจึงได้บัญญัติเรื่องกฎหมายนี้ โดยไม่แก้แต่เพียงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น แต่ว่าแก้กฎหมายว่าด้วยการบรรลุนิติภาวะจาก 22 ลงเหลือ 18 ด้วย

“ฝ่ายเด็กอายุ 18 มันก็มาจากหลายตระกูล เท่าที่ผมคุยด้วยเขาก็ดีใจที่ได้บรรลุนิติภาวะ ทีนี้ฝ่ายขวาเขาไม่กลัว เขาแก้หมดเลย ไม่แก้เฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น ทีนี้มันก็ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งคราวหน้าว่า เด็กอายุ 18 เขาจะไปลงให้ฝ่ายซ้ายหมด ฝ่ายขวาเขาก็จะต้องได้เหมือนกัน

“นี่หมายความว่าการมองการณ์ไกลของเขา”

 

“ก่อนการเลือกตั้ง นักศึกษาฝรั่งเศสเขาก็มีการต่อสู้กับทหารตำรวจ มีการปิดป้ายอะไรกันอยู่ตั้งหลายเดือน

“ถ้าหากฝ่ายขวายังดื้อดึงว่า 21 ปีดีแล้ว เพราะว่ากฎหมายนี่มันมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ตั้งแต่สมัยโค่นนโปเลียนโน่น ไม่ได้ ฉันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นจารีตนิยม ถ้าดื้อดึงเด็กอายุ 18 ก็ไม่พอใจ และก็นำไปสู่การเดินขบวน การปะทะกัน

“แต่ว่าเราก็ต้องการทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ของเขามองการณ์ไกล ถ้าเราเป็นฝ่ายขวาก็ไม่ควรมีความคิดแบบจารีตนิยมจนถอนตัวไม่ขึ้น

“อย่างของฝรั่งเศส นายดัสแตงค์และเมียท่านก็สืบตระกูลมาจากนโปเลียนโดยสายเลือด แต่เขาก็ไม่คอนเซอร์เวตีฟเสียจนไม่ลืมหูลืมตา ส่วนใหญ่ของพรรคเขาก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เขาก็ได้ทั้งประโยชน์ด้านความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและด้านการเมือง

“นับตั้งแต่กฎหมายนี้ออกมา ไม่มีการแสดงกำลังของพวกเยาวชน…”

 

“ถึงแม้จะเป็นขวาอยู่ แต่ว่าเขาก็ไม่ถึงจะเป็นคอนเซอร์เวตีฟอย่างร้ายแรง วิธีที่เขาทำอย่างนี้ไม่ได้เสียประโยชน์ แต่เป็นการหวังประโยชน์ระยะยาว

“คุณจะมองอะไรโดยทิฐิมานะไม่ได้ มัน ‘สูญ’ นะ มันนำไปสู่ความ ‘สูญ’ ถ้าเขาไม่ทำอย่างนี้

“หนึ่ง จะเกิดความไม่พอใจ

“สอง จะรั้งเอาไว้ได้หรือ

“มันอาจจะป้องกันไว้ได้หลังเลือกตั้ง 3-4 ปี แต่ว่าพลังอันนี้ต้านไว้ไม่ไหว เขาทำแบบนี้ อย่างน้อยเด็กอายุ 18 แทนที่จะไปทางโน้น (ซ้าย) หมด เขาก็มีมาทางนี้ด้วย…”

 

ดูเหมือนคำเตือนด้วยความปรารถนาดีของอาจารย์ปรีดีเมื่อปี 2517 จะกลายเป็นคำพยากรณ์ล่วงหน้าที่ฉายภาพความขัดแย้งของสังคมไทย ซึ่งยกระดับไปสู่ “การทำสงครามประชาชน” ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ได้อย่างแม่นยำ

และคล้ายกับว่าคำเตือนเมื่อ 47 ปีก่อน จะยังคงเป็นชุดคำอธิบายที่ทรงพลังมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะโครงสร้างอำนาจหลักๆ ยังดำรงอยู่เช่นเดิม และปัญหาเดิมๆ ยังไม่ได้ถูกแก้ไข