E-DUANG : ปฏิบัติการ ยืน หยุด ขัง การเมือง พลานุภาพ แห่ง ซอฟท์ พาวเวอร์

ปฎิบัติการ”ยืน หยุด ขัง”อันเป็นความริเริ่มอย่างสร้างสรรค์จากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ดำเนินไปในท่วงทำนองอย่างที่เรียกกันว่า เป็นซอฟท์ พาวเวอร์

ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการแสดงออกระลอกที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการแสดงออกระลอกที่ 2

เพราะจากที่เคยมีการเคลื่อนไหวเพียง 1 จุด นั่นก็คือ พื้นที่บริเวณหน้าศาลฎีกา ใกล้กับท้องสนามหลวง ก็ขยายไปยังบริเวณ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพตามความเหมาะสม

และความน่าสนใจก็คือ ได้มีปฏิบัติการอย่างเดียวกันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยการริเริ่มจากคนรุ่นใหม่พรรควิฬาร์ มหาวิทยา ลัยเชียงใหม่ รวมถึงที่ปรากฏตามวาระในอุบลราชธานี

การเคลื่อนไหว”ยืน หยุด ขัง”ดำเนินไปอย่างเงียบๆ ไม่มีแววแห่งการต้องการปะทะหรือ”บวก”ในทางการเมือง

เมื่อยืนครบตามกำหนดแล้วก็เปล่งเสียง”ปล่อยเพื่อนเรา”

การขยายตัวของ”ยืน หยุด ขัง”ก็ดำเนินไปแบบเงียบๆในลักษณะซึมลึก แต่ก็มากด้วยความหนักแน่นและจริงจัง

 

เหตุใดจึงเรียกการเคลื่อนไหวในกระสวน”ยืน หยุด ขัง”ว่าเป็นการเคลื่อนไหวในท่วงทำนองของ”ซอฟท์ พาวเวอร์” คำถามและคำตอบ นี้มีความหมาย

เพราะเป็นการเคลื่อนไหวในแบบเงียบๆ เพราะหากจะมีการเปล่งเสียงก็เพียงแต่ระบุว่า “ปล่อยเพื่อนเรา”

การเข้าร่วมของบรรดา”ราษมัม”ทั้งหลายไม่ว่าจะของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ว่าจะของ นายภาณุพงศ์ จาดนอก สามารถเข้าใจได้เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง

แต่ที่มีการขยายตัวไปยังบรรดาปัญญาชนนักวิชาการอย่าง นางพวงทอง ควัคพันธุ์ ไปยัง นายประจักษ์ ก้องกีรติ หน้าศาลฎีกา

และ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เชียงใหม่เร้าความสนใจยิ่งขึ้น

 

มีความพยายามจะเพิ่มจำนวนคดีให้กับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เมื่อรวมเวลาที่จะตามมาจากการต้องโทษก็รุนแรงร้ายกาจแม้จะจบชีวิต ไปแล้วก็ไม่จบสิ้น

ความพยายามเช่นนี้ยิ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นและเร้าอารมณ์

ทำให้ปฏิบัติการ”ยืน หยุด ขัง” ไม่ว่าที่หน้าศาลฎีกา ไม่ว่าที่เชียงใหม่ทรงความหมายมากขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ

ในที่สุด “ยืน หยุด ขัง”ก็แผ่พลานุภาพจากความเงียบออกมา