อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (12)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (12)

 

ฏอลิบานกับการทูตของรัสเซีย

การแสดงความคิดเห็นของทูตรัสเซีย Dmitry Zhirnof แสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่ได้ปิดบังที่จะมีความสัมพันธ์กับฏอลิบานในเวลานี้ และมองว่าฏอลิบานเป็นผู้ปกครองที่ชอบธรรม และเป็นรัฐบาลที่รัสเซียเองล้มเหลวที่จะเข้าควบคุมก่อนที่สหภาพโซเวียตในเวลานั้นจะถอนกองกำลังสุดท้ายของตนออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989

รัสเซียต้องการความมั่นใจว่าความมั่นคงในอัฟกานิสถานจะส่งผลไปถึงเอเชียกลางที่ถือว่าเป็นหลังบ้านของตนและจะมีส่วนหยุดยั้งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอื่นๆ ที่มีอยู่ในอาณาบริเวณนี้ได้

รัสเซียเองก็รู้สึกแปลกใจเหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ ที่ฏอลิบานสามารถเข้าควบคุมประเทศได้รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กองกำลังของสหรัฐกำลังอพยพพลเมืองของตนอยู่

Zhirnof พูดถึงฏอลิบานในทางบวกและเป็นการเป็นงาน เขาบอกว่าเหตุการณ์โดยรวมเป็นไปด้วยสันติทุกๆ อย่างในเมืองก็สงบ สถานทูตรัสเซียซึ่งมีคนทำงานอยู่ 100 คน ก็ได้รับการปกป้องและรัสเซียก็ได้พูดถึงความมั่นคงกับฏอลิบานไปแล้ว

เขาบอกว่าโรงเรียนในกรุงคาบูล รวมทั้งโรงเรียนสตรีก็กลับมาเปิดเรียนเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ตำแหน่งของการมีอำนาจนำของสหรัฐในอัฟกานิสถานก็ได้กลายเป็นอดีต ท่ามกลางฉากหลังความเข้มแข็งในตำแหน่งทางการเมืองของรัสเซียและจีนไปแล้ว

ตัวแทนพิเศษว่าด้วยอัฟกานิสถานของปูติน Zamir Kabulov กล่าวว่า การรณรงค์อันยาวนานเพื่อมีความสัมพันธ์กับฏอลิบานได้เห็นผลแล้ว

“มันมิได้เป็นความสูญเปล่าที่เราติดต่อกับฏอลิบานมาเก้าปีแล้ว” Kabulov กล่าว เขามั่นใจว่าฏอลิบานจะมีบทบาทนำอยู่ในอนาคตของอัฟกานิสถาน

ฏอลิบานยึดกรุงคาบูลได้เร็วกว่าที่เคยยึดครองได้ในปี 1996 ผู้นำสำคัญได้หนีไป ที่ยังไม่ไปไหนก็คือหะมิด กัรซัย (Hamid Karzai) อับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ (Abdullah Abdullah) และกุลบุตดีน ฮิกมัตยาร์ (Gulbuddin Hekmatyar) ที่มีโครงข่ายของพวกเขาเองอยู่จำนวนหนึ่ง และไม่ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับฏอลิบาน

 

การเยือนฏอลิบานของคนไทยเมื่อปี 2002

กลุ่มชาวไทยที่มีทั้งคอลัมนิสต์ นักวิชาการและกลุ่มชาวไทยเชื้อสายปากีสถาน ได้รับรู้ถึงชะตากรรมที่ยากลำบากของชาวอัฟกันหลังจากสหรัฐบุกถล่มอัฟกานิสถานในปี 2001 ได้ตัดสินใจเดินทางไปอัฟกานิสถานเพื่อช่วยเหลือชาวอัฟกันที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม พร้อมกับนำเงิน 1 ล้านบาทอันเป็นเงินที่ได้จากบุคคลทั่วไปในสังคมเพื่อไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นต่อการครองชีพมอบให้กับผู้นำท้องถิ่น

อาจารย์ฮารูน (วีรโชติ) หะยีหมะ หนึ่งในผู้เดินทางไปปากีสถานและอัฟกานิสถานเล่าถึงสถานการณ์อัฟกานิสถานในเวลานั้นว่าผู้คนเต็มไปด้วยความยากลำบากและตกอยู่ท่ามกลางความระส่ำระสายจากการเปลี่ยนผ่านที่เพิ่งเกิดขึ้น

เขาเล่าให้ฟังต่อไปว่าการที่ฏอลิบานไม่ยอมส่งตัวบิน ลาดิน ให้สหรัฐมาตั้งแต่ในตอนต้นๆ แล้วนั้นมาจากประเพณีที่ได้รับการรักษาเอาไว้ในอัฟกานิสถานมาช้านาน ซึ่งเรียกกันว่าปักตุนวาลี (Paktun Wali) คือการปกป้องเกียรติยศของผู้เป็นแขกของประเทศหรือของกลุ่มชนมิให้ได้รับอันตราย

กลุ่มคนไทยที่เดินทางไปในครั้งนั้นมีอยู่ราว 10 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมาคมไทยปากีสถาน และอีกหลากหลายวิชาชีพ

ในการเดินทางครั้งนั้นผู้เดินทางได้ไปพำนักอยู่ที่บ้านของชาวมุสลิมในปากีสถานก่อนจะออกเดินทางไปพบกับผู้คนที่สังกัดอยู่กับฏอลิบาน โดยคณะของคนไทยได้นำเอาข้าวสารอาหารแห้งไปช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากจากการถล่มของสหรัฐ หลังจากที่เทือกเขาโตรา โบราซึ่งถูกคาดหมายว่าเป็นที่อยู่อาศัยของอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ถูกถล่มด้วยระเบิดขนาดน้องๆ นิวเคลียร์

โดยอาจารย์ฮารูนเล่าว่า เขาได้เห็นผู้อพยพที่หลั่งไหลมาจากดินแดนต่างๆ ของอัฟกานิสถานอย่างมืดฟ้ามัวดิน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้นำของฏอลิบานคนแรกคือมุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ได้จบชีวิตลงด้วยโรคปอด เมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี 2013 โดยความตายของเขาถูกปิดเป็นความลับมายาวนานถึง 2 ปี

ในขณะที่ผู้นำฮามาส มักจะถูกอิสราเอลสังหาร ผู้นำฏอลิบานบางคนก็มักจะถูกกองกำลังของสหรัฐสังหารเช่นกัน

อาจารย์ฮารูนยังบอกอีกว่าในการเดินทางไปเยือนอัฟกานิสถานเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้วนั้นพบว่าฏอลิบานเป็นกลุ่มก้อนของนักเรียนศาสนาที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน มีชื่อว่าดารุลอุลูม ฮักกอนียะฮ์ (Darululum Haqqaniyah) บรรดาผู้นำของฏอลิบานจะมาจากโรงเรียนศาสนา (Madrasa) แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในไคเบอร์ปักตุนควา แต่ที่น่าสนใจก็คือคำสอนที่พวกเขาได้รับนั้นมาจากสถาบันการเรียนรู้ทางศาสนาเดียวบัน (Deobandi) จากอินเดียเป็นด้านหลักหรืออาจกล่าวได้ว่าดารุลอุลูม ฮักกอนียะฮ์ ก็คือสถาบันที่สืบทอดมาจากเดียวบันในอินเดียนั่นเอง

ดังนั้น ดารุลอุลูม ฮักกอนียะฮ์ จึงเป็นดังสาขาของเดียวบันดี ตั้งอยู่ที่อะโกรา กัตทัค (Akoro Khattak) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน

 

การปรากฏตัวของ IS-K

กลุ่ม IS-K เป็นกลุ่มหลักที่คุกคามความมั่นคงในอัฟกานิสถาน โดยมีประวัติการนองเลือดกับฏอลิบานมาแล้วหลายครั้ง

สิ่งที่หลายคนหวาดหวั่นเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม 2021 หลังจากเสียงระเบิดดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวหลายครั้งในสนามบินหะมิด กัรซัย (Hamid Karzai) และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากแรงระเบิดดังกล่าว

การระเบิดเกิดขึ้นหลังจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐได้เตือนมิให้ประชาชนเดินทางไปยังสนามบิน เนื่องจากมั่นใจว่าจะมีการคุกคามด้วยระเบิดพลีชีพเกิดขึ้น จากนั้นหน่อเนื้อเชื้อไขของไอเอส (Islamic State) ที่มีชื่อว่า IS-K ก็ได้ออกมาเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีด้วยระเบิดดังกล่าว

กลุ่ม IS-K มีชื่อเต็มว่า ISIS-Kho-rasan รู้จักกันในชื่อ IS-K หรือ ISIS-K เป็นชื่อที่มาจากพื้นที่โครอซาน อันหมายถึงดินแดนที่ครั้งหนึ่งรวมอยู่ในพื้นที่อัฟกานิสถาน อิหร่านและเอเชียกลางในสมัยกลาง

เจ้าหน้าที่ของสหรัฐบอกกับ The New York Times ว่า การโจมตีสนามบินเป็นการโจมตีทางยุทธศาสตร์ต่อฏอลิบานและสหรัฐในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้นำของ IS-K ต้องการจะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ครอบครองอัฟกานิสถาน

เมื่อ Biden ประกาศในวันที่ 24 (2021) ว่าการถอนทหารจะต้องจบลงในวันที่ 31 สิงหาคม คำประกาศดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้กับพันธมิตรของสหรัฐเองส่วนหนึ่ง

โดย Biden ได้กล่าวถึง IS แต่ไม่ใช่ฏอลิบานคือเหตุผลที่ต้องถอนทหารตามเวลาที่ได้กำหนดไว้

“ทุกๆ วันที่เราอยู่ที่นี่คือวันใหม่ ซึ่งเรารู้ว่า ISIS-K จะเอาสนามบินเป็นเป้าและโจมตีชาวอเมริกัน รวมทั้งพันธมิตรและประชาชนผู้บริสุทธิ์”

Biden กล่าวในขณะกำลังพูดคุยที่ทำเนียบขาว โดยการย้ำว่านักสู้ที่เป็นผู้ก่อการร้ายนั้นเป็นผู้ “ประกาศการเป็นศัตรูของฏอลิบาน”