จาก eBay ถึง re-Commerce ‘ตลาดมือสอง’ เฟื่องฟู ยุค 5 G/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก eBay ถึง re-Commerce

‘ตลาดมือสอง’ เฟื่องฟู ยุค 5 G

 

คงไม่มีใครคาดคิดว่า “ตลาดสินค้ามือสอง” จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง COVID หลังจากเคยเฟื่องฟูในยุค eBay

แฟน “มติชนสุดสัปดาห์” ที่คุ้นเคยกับ eBay คงทราบดีว่า eBay คือเว็บไซต์ “ขายของมือสอง”

ที่แม้จะมีสินค้าใหม่ หรือ “ของมือหนึ่ง” ทว่า eBay มีชื่อเสียงจากการเป็นแหล่งรวมของสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าหายาก

ซึ่งฮือฮาเป็นอย่างมากจากการซื้อขาย “เรือดำน้ำ” ที่เขต New England รัฐ Boston ประเทศสหรัฐอเมริกา

นั่นอาจทำให้พูดได้ว่า eBay มีวางขาย ตั้งแต่ “สากกะเบือ” ยัน “เรือรบ” จริงๆ 555

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยมีสินค้าราคาแพงที่สุดชิ้นหนึ่ง ซึ่งเคยซื้อขายใน eBay และสร้างความฮือฮาไม่แพ้ “เรือดำน้ำ”

นั่นก็คือ “เรือสำราญ” ที่มีชื่อว่า Gigayacht ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากถึง 168 ล้านเหรียญสหรัฐ

eBay ก่อตั้งขึ้นในยุค 90 (ปี ค.ศ.1995) ช่วงที่ธุรกิจ Dot Com รุ่งเรืองถึงขีดสุด โดย Pierre Omidyar ที่เมือง San Jose รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา

ได้รับความนิยมในทันที และเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด จนเข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ได้ในที่สุด

และแม้ eBay จะประกาศตัวว่าเป็นธุรกิจแบบ Global Commerce หรือการค้าขายไร้พรมแดน

ทว่า ในความเป็นจริง มีการจัด eBay ให้อยู่ในหมวด e-Commerce หรือ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”

และในที่สุด การที่ eBay อยู่ยงคงกระพันข้ามยุคข้ามสมัยมาจาก Dot Com เฟื่องฟูมาจนถึง COVID แผลงฤทธิ์

ที่มีการกำหนดศัพท์ใหม่ คล้ายการเลียนเสียง และเหมือนการเขียนชื่อ e-Commerce โดยเติมตัว r เข้าไปให้เป็น re-Commerce ที่แปลว่า “ตลาด Online ที่ขายสินค้ามือสอง”

บางกระแสบอกว่า re-Commerce ย่อมาจากคำว่า Resale Commerce หรือบางค่ายก็บอกว่า มาจากศัพท์ Reverse Commerce

ซึ่งโดยรวมแล้ว ก็มีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ “การขายสินค้ามือสอง”

 

TrendWatching.com บริษัทระดับโลกซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการบริโภคยุคใหม่ ชี้ว่า ปัจจุบัน ส่วนแบ่งการตลาดใน re-Commerce หลักๆ คือการซื้อขายเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า

นอกจากนี้ TrendWatching.com ยังเผยปัจจัยที่ทำให้ re-Commerce เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ว่าประกอบด้วย

1. Nextism หมายถึง พฤติกรรมของคน Generation ใหม่ ที่ต้องการบริโภคสินค้าหรือบริการที่ท้าทายตลอดเวลา เพื่อสร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ

2. Excusumption หมายถึง ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งมาพร้อมกับความคุ้มค่าในการจับจ่ายใช้สอยในช่วง COVID และยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด

3. Statusphere หมายถึง การบริโภคเพื่อสร้างภาพลักษณ์เป็นคนรับผิดชอบต่อทรัพยากรโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ที่จะถูกยกระดับเป็นค่านิยมและวัฒนธรรม

สอดคล้องกับผลการวิจัยของ EY Consulting Services บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ที่กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generation Z จะให้ความสำคัญกับจุดยืนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคน Generation อื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงบทบาทและความรับผิดชอบของ Generation ในการช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ในฐานะของ Generation หลักของโลกในยุคต่อไป

EY Consulting Services ชี้ว่า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทุกวันนี้ Generation Z ต่างตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน และปัญหาสิ่งแวดล้อม

สะท้อนให้เห็นผ่านความสนใจในการซื้อขาย “สินค้ามือสอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า

ที่ Generation Z จำนวนมาก ได้ออกมาประกาศจุดยืน การตระหนักถึงผลเสียของอุตสาหกรรม Fast Fashion หรือธุรกิจเสื้อผ้า Brand ราคาถูก

ที่นำไปสู่จำนวนขยะมหาศาลจากการ “ใส่แล้วทิ้ง”

กรณีนี้ re-Commerce หรือ “การนำสินค้ามือสองมาขาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสื้อผ้า” Fast Fashion จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “การใส่ซ้ำ” “การใส่บ่อย” นำไปสู่การ “ไม่ใส่ทิ้งใส่ขว้าง”

 

โดยสรุปก็คือ re-Commerce มีส่วนช่วยสร้างให้เกิดพฤติกรรมการใช้สินค้าที่ซื้อมาให้ความคุ้มค่าที่สุด นั่นก็คือ การนำ “เสื้อผ้าเก่า” หรือกระเป๋า รองเท้า ไปขายใน “ตลาดสินค้ามือสอง Online”

โดยนัยก็คือ เพื่อยืดอายุการใช้งานสินค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้นั่นเอง

แม้ว่าจำนวนปริมาณของ Brand เสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ที่มีค่อนข้างมาก ทำให้การหลีกเลี่ยงการซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion ทำได้ยาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อจำกัดเรื่องรายได้ของประชาชนจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสินค้าราคาแพงที่มีคุณภาพดีได้

แน่นอนว่า ประเด็น re-Commerce นี้ สอดคล้อง และนำไปสู่ประเด็น SDGs (Sustainable Development Goals) หรือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงได้เป็นอย่างดี

 

GlobalData บริษัทที่ปรึกษาด้านงานวิเคราะห์ข้อมูลแห่งสหราชอาณาจักร เผยว่า “ตลาดของมือสอง” จะมีมูลค่าสูงถึง 64 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.2024 โดยเป็นลูกค้าเพศหญิงมากถึง 70% หรือราว 62 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม การปรากฏตัวของ Luxury Brand ยักษ์ระดับโลกอย่าง Gucci โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Brand กลางๆ ระดับ Mass คือ Levi’s ในตลาด re-Commerce กลับเป็นการตอกย้ำถึงทิศทางที่ถูกต้องของ re-Commerce อย่างแท้จริง

เห็นได้จาก ที่ผ่านมา Gucci ได้ร่วมมือกับ Website ระดับโลกอย่าง The RealReal รุกตลาด re-Commerce อย่างเต็มตัว

เช่นเดียวกับ Levi’s ที่มีโครงการ Levi’s Secondhand เปิดช่องให้ลูกค้า นำ “เสื้อผ้ามือสอง” มาที่ Levi’s เพื่อแลก Gift Card เพื่อซื้อสินค้าในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ Levi’s ได้เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อ “สินค้ามือสอง” ของ Levi’s ทั่วโลกได้โดยตรงผ่านทาง Website ของ Levi’s อีกด้วย

 

จากตัวอย่างของทั้ง Levi’s และทั้งของ Gucci ทำให้เราพอจะมองเห็น Business Model ของ re-Commerce

ที่หาได้จำกัดอยู่แค่การ “ซื้อมา-ขายไป” ใน “ตลาดสินค้ามือสอง” แต่เพียงเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว re-Commerce นั้น สามารถมีได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

1. การซื้อมาขายไปในรูปแบบดั้งเดิม หมายถึง การเปิดช่องทางให้ผู้คนซื้อขาย หรือ Person-to-Person Exchanges

เป็นลักษณะการค้าขายแบบโบราณ ที่เปลี่ยนช่องทางการขายจาก Face-to-Face มาเป็นแบบ Online อาทิ Amazon Alibaba Shopee Lazada

2. การรับฝากขายสินค้า หมายถึง การทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับฝากสินค้าที่มีคนอยากขาย โดยคิดค่าธรรมเนียมในการฝากขาย ตัวอย่างเช่น Website ที่ชื่อ thredUP

ซึ่งรับฝากเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นมือสองของสมาชิก Website ที่นำเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นที่ไม่ต้องการแล้วมาฝาก โดย thredUP จะหักค่าธรรมเนียมจากผู้ฝากขาย

3. ให้เช่าเพื่อนำไปใช้ หมายถึง บริการให้เช่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับ Brand Name แบบสมัครสมาชิกรายเดือน หรือ Subscription

เช่น Rent the Runway ธุรกิจให้เช่าชุดและเฟอร์นิเจอร์หรูหรา ที่มีสมาชิกมากกว่า 10 ล้านราย

4. รับซื้อของเก่านำมาแลกส่วนลดซื้อสินค้าใหม่ หมายถึง การรับซื้อสินค้ารุ่นเก่าจากลูกค้า แล้วให้ส่วนลด หรือ Voucher เพื่อนำไปซื้อสินค้าชิ้นใหม่ คล้ายโครงการ Levi’s Secondhand

นั่นคือ Apple Trade In ซึ่งเปิดให้ลูกค้านำอุปกรณ์รุ่นเก่ามาแลกรับ Credit สำหรับใช้ในครั้งต่อไป

จะเห็นได้ว่า ร่องรอยความรุ่งเรือง จาก eBay จนถึง re-Commerce ในยุค 5G นี้ มีส่วนเอื้อให้เกิด Platform ใหม่ๆ ท่ามกลาง Gen Z และ Start-up ที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งนั่นเอง!