‘เยาวรุ่น’ ที่มีตัวตน : เมื่อคนหนุ่มสาวสามัญพิทักษ์ประชาธิปไตย 2476/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘เยาวรุ่น’ ที่มีตัวตน

: เมื่อคนหนุ่มสาวสามัญพิทักษ์ประชาธิปไตย 2476

 

“ฉันไม่มีทรัพย์สมบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรที่จะเหลือไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกของเรา ฉันมีแต่เกียรติคุณความดีที่ฉันได้ทำในครั้งนี้ทิ้งไว้เป็นมรดก” (ศรีบูรพา 2476)

เรื่องสั้นของ “ศรีบูรพา” เขียนขึ้นภายหลังปราบกบฏบวรเดช

88 ปีที่แล้ว เกิดปรากฏการณ์ที่เยาวชนคนหนุ่ม-สาว ลูกเสือและนักเรียนหญิงภายหลังการปฎิวัติ 2475 ลุกขึ้นมาปกป้องระบอบประชาธิปไตยจากกบฏบวรเดชเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน

อันมีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ปัจจุบันที่เยาวชนหนุ่ม-สาวหลายกลุ่มตั้งแต่คณะราษฎร 2563 ดาวดิน เยาวชนแฮมทาโร เยาวชนปลดแอก นักเรียนเกรียมอุดม สหภาพนักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย คณะจุฬา เยาวชนทะลุฟ้า นักเรียนเลว ฯลฯ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการปกครองภายหลังการรัฐประหาร 2557 พร้อมทวงคืนประชาธิปไตยและอนาคตที่ดีกว่ากลับคืนคนรุ่นตนและลูกหลานของพวกเขาและเธอ

พลันที่กบฏบวรเดชยกทัพมาประชิดพระนครในกลางเดือนตุลาคม 2476 เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก พร้อมต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ เหตุการณ์นี้ ไม่แต่เพียงทำกระตุ้นให้ทหารกองหนุนจำนวนมากเข้ารายงานตัวประจำการ อีกทั้งมีพลเมืองต่างๆ รวมตัวกันเป็นอาสาสมัครเรียกร้องให้รัฐบาลส่งอาวุธมาให้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย

พลเมืองจำนวนมากที่มารอต้อนรับทหารฝ่ายรัฐบาลกลับจากปราบกบฏที่สถานีรถไฟหัวลำโพง

แต่ยังรวมถึงเหล่าลูกเสือ ได้อาสาสมัครฯ เข้าช่วยเหลือรัฐบาลในการต่อต้านฝ่ายกบฏเช่นกัน

บทบาทของลูกเสืออาสาสมัครฯ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เอกสารฝ่ายรัฐบาลและหนังสือพิมพ์รายงานว่า พวกเขาทำหน้าที่ลำเลียงเครื่องมือเครื่องใช้ กระสุนปืน จัดทำและจัดวางอาหาร เป็นเวรยามตามสถานที่สำคัญทางราชการทั้งในเวลากลางวันกลางคืน รวมถึงการเดินหนังสือราชการให้รัฐบาลด้วยรถจักรยานในแนวหน้าของการสู้รบ

เป็นเวรยามประจำช่องทางสำคัญ และแจกจ่ายแถลงการณ์ของรัฐบาลท่ามกลางสงครามกลางเมืองด้วยความกล้าหาญและความเสียสละของพวกเขามีส่วนช่วยเหลือกิจการปราบกบฏของรัฐบาลเป็นอันมาก

ลูกเสือช่วยปราบกบฏบวรเดชจากโรงเรียนสวนกุหลาบฯ กลัดเข็มรัฐธรรมนูญเหนือกระเป๋าซ้าย

“ศรีบูรพา” นักเขียนหัวก้าวหน้าร่วมสมัยได้แต่งเรื่องสั้นอุทิศให้กับทหาร ตำรวจฝ่ายรัฐบาลที่พลีชีวิตปกป้องประชาธิปไตยในเรือง “ลาก่อนรัฐธรรมนูญ” (2476) ซึ่งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของสังคมและผู้แต่งไว้ ในห้วงเวลานั้น

สมศักดิ์ เด่นชัย คือคัวละครเอก เป็นคนหนุ่มผู้รักประชาธิปไตยวัย 24 ปี พบการถกเถียงระหว่างข้าราชสำนักและนายทหาร

นายทหารเสียใจที่ไม่ได้ถูกระดมไปปราบกบฏด้วย

ข้าราชสำนักแสดงสีหน้าไม่พอใจและกล่าวว่า “เดี๋ยวนี้ยังไม่ใช่เวลาที่คุณจะเรียกฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชว่าอ้ายพวกกบฏ การแพ้และชนะเท่านั้นจะตัดสินได้ว่า ใครเปนฝ่ายกบฏ”

พอสิ้นคำของข้าราชสำนักผู้นั้น สมศักดิ์ปราดไปพร้อมกล่าวว่า “อ้ายพวกกบฏ!” เขาร้องเสียงดัง “ทำไมจึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเรียกฝ่ายเจ้าบวรเดชว่า อ้ายพวกกบฏ เจ้าบวรเดชกบฏต่อรัฐบาล กบฏต่อรัฐธรรมนูญ กบฏต่อมติมหาชน นี่ยังเรียกว่ากบฏไม่ได้อีกหรือคุณ?”

ต่อมาข้าราชสำนักผู้นั้นกล่าวว่า หากสมศักดิ์เมาให้ออกไปที่อื่น ที่นี่ผู้ดีกำลังกินเหล้ากัน สมศักดิ์ยกแก้วเหล้าสาดไปที่ใบหน้าข้าราชการพูดนั้น พร้อมพูดว่า “อ้ายผู้ดีกบฏ”

สมศักดิ์เปรยกับภริยาว่า เขาอยากจะไปรบที่แนวหน้า ภริยากล่าวกับเขาว่า ไม่ใช่หน้าที่พลเรือนอย่างเขา แต่เป็นหน้าที่ทหาร พร้อมกล่าวเตือนสามีว่า นายทหารบางคนฝ่ายกบฏเป็นญาติของคุณนะ

สมศักดิ์ตอบว่า “ในเวลารบ เราไม่มีคุณลุง คุณน้อง คุณพี่” เขาพูดด้วยเสียงหนักแน่น “เรามีแต่ฝ่ายเขากับฝ่ายเรา เมื่อคิดถึงการของประเทศ เราต้องเลิกคิดถึงการส่วนตัว ฉันถือมั่นอย่างเดียวว่า ฉันจะไปรบพวกกบฏ เมื่อคุณลุงของฉันเป็นพวกกบฏ ฉันก็ช่วยไม่ได้”

ภริยาถามต่ออีกว่า “เธอไม่มีความเคารพญาติผู้ใหญ่ของเธอบ้างหรือ?”

เขาตอบว่า “ฉันเคารพเหมือนกัน แต่ฉันยังเคารพรัฐบาล เคารพรัฐธรรมนูญ เคารพมติมหาชนยิ่งกว่าหลายเท่านัก”

เวลานั้น ความตื่นตัวของคนหนุ่มเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อันเห็นได้จากมีลูกเสือจากโรงเรียนมัธยมในพระนครและในจังหวัดอื่นๆ จำนวนมากเข้าอาสาช่วยรัฐบาลปราบกบฏบวรเดช

ดังมีผู้บันทึกว่า มีนักเรียนหนุ่มคนหนึ่ง เป็นลูกเสือสังกัดโรงเรียนพาณิชยการแก้วฟ้าล่าง สวมเครื่องแบบลูกเสือแล้วหายตัวออกไปจากบ้าน ไปช่วยงานทหารลำเลียงอาวุธทั้งคืน

พ่อ-แม่ของเขาเป็นห่วงมาก เมื่อกลับมา พ่อต่อว่า เด็กหนุ่มได้อธิบายว่า เขาไปช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญ หากไม่มีรัฐธรรมนูญ เราจะอยู่ได้อย่างไร จากนั้น เอามือชี้เข็มรัฐธรรมนูญที่หน้าอกเขา พ่อ-แม่จึงบอกกับเขาว่า “ทำไมไม่บอกเสียก่อนเล่า ไปอย่างนี้ละก็ไปเถอะ แล้วเข็มรัฐธรรมนูญนั่น เจ้าต้องเก็บไว้ให้ดี เห็นไหมว่า มีรูปธรรมนูญเป็นของมีค่า โตขึ้นมีลูกหลานจะได้ให้มันดู” (ป.ศรีสมวงศ์ 2476, 168-169)

มีผู้บันทึกบรรยากาศการช่วยงานปราบกบฏของเหล่าลูกเสือว่า คนหนุ่มเหล่านี้ ไปรบเหมือนไปสนุก พวกเขามีความกล้าหาญมากว่า “ยุวชนที่ในเยาว์วัย เคยกลัวแขกขายถั่วมันๆ แต่กลับไม่กลัวเสียปืน มีมากในครั้งนี้”

ลูกเสืออาสาสมัครฯ ช่วยลำเลียงเครื่องมือเครื่องใช้ กระสุนปืน ขึ้นรถไปแนวหน้า รวมทั้งทำและจัดวางอาหารในกองเสบียง ทำหน้าที่เป็นเวรยามรักษาความสงบตามสถานที่ราชการต่างๆ ทั้งในเวลากลางวัน-กลางคืน รวมถึงการเดินหนังสือราชการให้รัฐบาลด้วยรถจักรยานในแนวหน้าของการสู้รบ เป็นเวรยามประจำช่องทางสำคัญ และการแจกจ่ายแถลงการณ์ของรัฐบาล ด้วยความกล้าหาญและความเสียสละของพวกเขาได้ช่วยเหลือกิจการปราบกบฏของรัฐบาลเป็นอันมาก

จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม รัฐบาลประกาศชมเชยน้ำใจลูกเสืออาสาสมัครฯ ที่ช่วยงานอย่างเข้มแข็งว่า ลูกเสือ “ช่วยลำเลียงสรรพาวุธ ช่วยลำเลียงอาหาร ช่วยในการสื่อสาร และกิจการเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นอกจากนี้ ยังหาญเข้ากระทำการต่างๆ เหล่านี้ในแนวหน้าในระยะกระสุนของกองทหารฝ่ายกบฏ โดยมิได้คิดเห็นแก่อันตรายและความเหน็ดเหนื่อย ทั้งๆ ที่ลูกเสือเหล่านี้เป็นเพียงยุวชนอายุน้อยๆ…”

ทั้งนี้ ลูกเสืออาสาสมัครฯ ปฏิบัติงานอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และพระนคร เป็นต้น

พระองค์เจ้าบวรเดช และหนังสือที่ผลิตโดยนักเรียนกฎหมายที่ช่วยปราบกบฏบวรเดช

การปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งของเหล่าอาสาสมัครฯ ทุกเพศทุกวัยที่มาช่วยงานการปราบกบฏครั้งนั้น ทำให้พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ประกาศชมเชยพลเมืองผู้แข็งขันในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

“รัฐบาลจึ่งขอประกาศชมเชย เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ประชาชนทั้งหลาย ในความจงรักภักดีของคณะนักเรียนกฎหมาย ทหารอาสา กรรมกร และราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศสยาม และต่อชาติไทย อันเป็นที่รักยิ่งของชาวเรา”

ต่อมารัฐบาลสร้างเข็มรัฐธรรมนูญ และอิสริยาภรณ์พิเศษขึ้น คือ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2476) แจกจ่ายแก่พลเมือง ลูกเสือและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและพลเรือนจำนวนมากเพื่อเป็นเกียรติแด่พลเมืองทุกคนที่ช่วยกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

ความประทับใจในความตื่นตัวของพลเมืองในการต่อสู้กับกลุ่มอนุรักษนิยมในครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เขียนเรื่องสั้นที่เชิดชูวีรกรรมของผู้เสียสละชีวิตในการปกป้องประชาธิปไตยไว้ใน ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2476) ซึ่งตัวละครได้กล่าวในวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “ฉันไม่มีทรัพย์สมบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรที่จะเหลือไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกของเรา ฉันมีแต่เกียรติคุณความดีที่ฉันได้ทำในครั้งนี้ทิ้งไว้เป็นมรดก”

สุดท้ายนี้ หากผู้อ่านลองกลับไปค้นกล่องเก่าๆ ในลิ้นชักตามโต๊ะ ตู้โบราณ หิ้งพระของบรรพบุรุษแล้วอาจจะพบเหรียญบำเหน็จความกล้าหาญเป็นทองแดงทรงขนมเปียกปูนมีลายพานเทอดรัฐธรรมนูญติดแพรแถบเป็นลายธงชาติมีข้อความว่า “สละชีพเพื่อชาติ” “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือเข็มกลัดทองเหลืองดุนลายพานเทอดรัฐธรรมนูญมีข้อความว่า “สละชีพเพื่อชาติ” แล้ว

ขอให้ท่านภูมิใจว่า คนหนุ่ม-สาวผู้เป็นเจ้าของความกล้าหาญเหล่านั้นคือปู่ย่าตาทวดของเรา

ลูกเสืออยุธยาช่วยปราบกบฏและจดหมายจากหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ขอบคุณลูกเสือจากโรงเรียนสวนกุหลาบฯ