2503 สงครามลับ สงครามลาว (52)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (52)

 

“เทพ 333” ที่บ้านนา

BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ของ JAMES E. PARKER JR บันทึกการเดินทางเข้าสู่พื้นที่การรบบ้านนาของ พล.ต.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสม 333 ขณะที่บ้านนาถูกปิดล้อมมาตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ และสถานการณ์วิกฤตขึ้นตามลำดับ ดังนี้

“เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2514 ‘เทพ’ ต้องการเข้าไปตรวจเยี่ยมกองพัน BI-15 ที่บ้านนา ดิค เอลเดอร์ แคสเทอลิน และบ๊อบ โนเบล แห่งแอร์ อเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำนายทหารคนสำคัญท่านนี้และคณะเดินทางไปยังที่หมายและสามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย

ในการเข้าสู่ที่หมายบ้านนา แทนที่นักบินจะใช้วิธีการบินในระดับต่ำเรี่ยยอดไม้ลัดเลาะภูมิประเทศไปยังจุดร่อนลงตามปกติ แต่กลับใช้เพดานบินระดับสูงไปลอยลำอยู่เหนือเขตร่อนลง

และเมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือเว้นช่องว่างการยิง เฮลิคอปเตอร์ก็บินดิ่งทิ้งตัวลงแบบควงสว่านแตะพื้นอย่างรวดเร็ว ‘คายัค’ นายทหารติดต่อซีไอเอประจำกองพัน BI-15 รออยู่ที่พื้นรีบเข้ามารับคณะแล้วนำเข้าบังเกอร์กองบังคับการทันที

อาจเป็นเพราะความสามารถอันเยี่ยมยอดของนักบินในการร่อนลงท่ามกลางห่ากระสุนแบบที่ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถดักฟังและรับทราบแผนการตรวจเยี่ยมของ ‘เทพ’ ทันทีทันใดที่ ‘เทพ’ และคณะกระโดดลงจากเฮลิคอปเตอร์ ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เปิดฉากการยิงถล่มจุดลงพื้นและบังเกอร์ที่บังคับการที่อยู่ใกล้เคียงกันทันที

แคสเทอลินรายงานว่าขณะที่ดึงเครื่องขึ้นนั้น เขาสามารถได้กลิ่นดินปืนจากลูกกระสุนที่ตกลงมาใกล้ๆ รอบตัวด้วย”

 

เรื่องถึงไวต์เฮาส์

สถานการณ์คับขันที่บ้านนาถูกรายงานเข้าวอชิงตันอย่างต่อเนื่อง บันทึกรายงานฉบับหนึ่งของซีไอเอมีใจความว่า…

“31 มีนาคม พ.ศ.2514 ณ ไวต์เฮาส์ตะวันตก ที่ซาน เคลเมนเต แคลิฟอร์เนีย มีการประชุม ‘คณะกรรมการ 40’ ซึ่งมีเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ เป็นประธาน ได้มีการถกแถลงสถานการณ์ที่บ้านนา ที่ประชุมยอมรับความสำเร็จของนายพลวังเปา และกำลังทหารไทยที่สามารถต่อสู้จนสร้างความสูญเสียอย่างหนักให้กับฝ่ายเวียดนามเหนือ อันเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของกำลังกองทัพเวียดนามเหนือในลาว ซึ่งย่อมส่งผลต่อการลดขีดความสามารถของทหารเวียดนามเหนือในพื้นที่การรบเวียดนามใต้อีกด้วย

คิสซิงเจอร์ขอให้ที่ประชุมหาทางช่วยเหลือปฏิบัติการลับของซีไอเอในลาวต่อไป และเสนอว่าควรต้องให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากพื้นที่การรบแห่งนี้ด้วยการส่งเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ‘กันชิป-ฮิวอี้ คอบร้า’ ซึ่งประจำการอยู่ที่อุดรธานี (และได้รับอนุญาตให้เข้าเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในลาวได้) เข้าคุ้มกันการส่งกลับทางการแพทย์จากล่องแจ้ง

ที่ประชุมเห็นด้วย แต่ต่อมามีการพิจารณาว่า การใช้กันชิป-ฮิวอี้ คอบร้า ในลาวขัดต่อข้อห้ามตามกฎการใช้อาวุธ-Rules of Engagement

จึงเปลี่ยนเป็น UH-1 ติดอาวุธ ซึ่งมีประสิทธิภาพรองลงมาเข้าให้การสนับสนุนแทนในปีต่อมา ไม่ใช่กันชิป ฮิวอี้ คอบร้า”

 

ปัญหาเผชิญหน้าของ บก.ผสม 333

ต้นปี พ.ศ.2514 ระหว่างรอคอยการมาถึงของกองกำลังใหม่ “ทหารเสือพราน” เพื่อเตรียมผลัดเปลี่ยนกำลังทหารประจำการจาก ผส.13 ซึ่งจะหมดภารกิจในเมษายน 2514

บก.ผสม 333 ต้องเผชิญกับโจทย์สำคัญ 2 ประการ อันเกิดจากการรุกใหญ่ตาม CAMPAIGN 74 B ของฝ่ายเวียดนามเหนือครั้งนี้

ประการแรก : การคุกคามจากข้าศึกที่สามารถยึดบางส่วนของเนินสกายไลน์แล้วกดดัน บก.ฉก.วีพี ที่ล่องแจ้งโดยตรง

ประการที่สอง : การถูกปิดล้อมที่บ้านนา ของกองพันทหารราบ บีไอ-15 และกองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ-13

 

กำลังเพิ่มเติม

14 กุมภาพันธ์ 2514 ระหว่างถูกปิดล้อมที่บ้านนา โดยมีจำนวนกำลังพลเป็นรองฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างมาก ฉก.วีพี ก็ได้รับกำลังเพิ่มเติมชุดแรกจำนวน 2 กองพันจากประเทศไทย คือกองพันทหารราบเสือพราน บีซี 603 และบีซี 604 ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นการฝึกแล้วเคลื่อนย้ายทางอากาศมาลงที่ล่องแจ้งอย่างเร่งด่วน

บก.ฉก.วีพีได้วางกำลังส่วนนี้เข้าสถาปนาแนวตั้งรับป้องกันล่องแจ้งตามแนวสกายไลน์ และบริเวณทางตะวันออกของล่องแจ้งซึ่งกำลังบางส่วนของฝ่ายเวียดนามเหนือได้เข้ามายึดครองไว้แล้วทันที

บีซี 603 และบีซี 604 จึงนับเป็นทหารเสือพรานรุ่นแรกแห่งตำนานรบทุ่งไหหิน

3 มีนาคม 2514 : กองพันทหารเสือพรานจากประเทศไทยเดินทางมาเพิ่มเติมกำลังอีก 2 กองพัน ได้แก่ กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และบีซี 606

และอีก 6 วันต่อมา 9 มีนาคม 2514 ทั้ง 2 กองพันนี้ก็ได้รับภารกิจเข้าตีกวาดล้างข้าศึกบริเวณหน้าแนวสกายไลน์ออกไปจนถึงภูถ้ำแซ มุ่งสู่พื้นที่บ้านนา

เพื่อช่วยเหลือกองพันบีไอ-15 และกองร้อยปืนใหญ่ บีเอ-11 ซึ่งกำลังอยู่ในอันตราย

รุกกลับ

กองพ้นทหารเสือพราน บีซี 605 และบีซี 606 สามารถกวาดล้างและขับไล่ข้าศึกบริเวณหน้าแนวสกายไลน์ออกไปได้ตามความมุ่งหมาย

แต่ก็ยังมีข้าศึกจำนวนหนึ่งยังคงวางกำลังอยู่ที่บริเวณทิศตะวันออกของถ้ำตำลึง ซึ่งข้าศึกส่วนนี้อาจส่งกำลังแทรกซึมเข้าปฏิบัติการต่อฝ่ายเราที่บริเวณล่องแจ้งได้

ฉก.วีพี จึงได้จัดตั้ง “ฉก.บราโว่” ขึ้นเพื่อเป็น บก.ควบคุมกองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และบีซี 606 ในการปฏิบัติการร่วมกันเข้าตีผลักดันข้าศึกบริเวณถ้ำตำลึง-บ้านหินตั้งออกไป โดยมีทหารปืนใหญ่จากฐานยิงซีบร้ายิงสนับสนุน

19 มีนาคม 2514 : ทั้งสองกองพัน บีซี 605 และบีซี 606 เคลื่อนย้ายทางอากาศไปลงที่สนามบินถ้ำตำลึงเพื่อเข้าตีตามแผน โดยกองพันทหารเสือพราน บีซี 605 จะเข้าตีทางปีกขวา และบีซี 606 จะเข้าตีทางปีกซ้าย

เส้นทางเคลื่อนที่เข้าตีของกองพันทหารเสือพราน บีซี 605 ซึ่งอยู่ทางปีกขวานั้นมีลักษณะเป็นเส้นทางบังคับอยู่ในหุบเขาแคบๆ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงเคลื่อนที่ไปทางอื่นได้

ดังนั้น ในขณะที่กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 เคลื่อนที่เข้าเกือบถึงที่หมายจึงถูกข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธหนักอย่างรุนแรง กำลังพลเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจนไม่สามารถเคลื่อนที่เข้าตีตามแผนได้

กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 จึงขออนุมัติระงับการเข้าตี และในขณะที่ถอนตัวก็ได้ถูกข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธหนักอย่างหนักอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

ทางด้านกองพันทหารพราน บีซี 606 ซึ่งเคลื่อนที่เข้าตีทางปีกซ้าย เมื่อได้เคลื่อนที่เข้าไปถึงบริเวณหุบเขาบ้านหินตั้ง ก็ถูกข้าศึกยิงต้านทานอย่างหนักเช่นเดียวกัน เพราะเข้าไปยังพื้นที่มั่นตั้งรับแข็งแรงของข้าศึก ถึงแม้ว่าฝ่ายเราจะได้ใช้เครื่องบินเข้าโจมตีแต่ก็ไม่สามารถทำลายข้าศึกในที่มั่นแข็งแรงได้ จึงขออนุมัติระงับการเข้าตีเช่นกัน

กำลังพลทั้ง 2 กองพันนี้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากและได้พยายามเข้าตีอีกครั้งก็ยังไม่สามารถเข้ายึดที่หมายได้ แต่ก็ทำให้สามารถพิสูจน์ทราบที่ตั้งและการวางกำลังของข้าศึกเพื่อเป็นฐานข่าวสำหรับปฏิบัติการในอนาคต

ฉก.วีพีได้สั่งการให้ทั้ง 2 กองพันวางกำลังยึดที่มั่นทางตะวันออกของสนามบินถ้ำตำลึงไว้เพื่อสกัดกั้นมิให้ข้าศึกแทรกซึมเข้าสู่เนินซีบร้าและซำทอง

และต่อมาก็ได้เคลื่อนย้ายมาตั้งรับอยู่ที่เนินซีบร้า เพื่อเตรียมเข้าปฏิบัติการในขั้นต่อไป…