ชีวิตนี้มีแต่ทหารนำ/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ชีวิตนี้มีแต่ทหารนำ

 

ประเทศนี้ ไม่เพียงมีแค่ “การทหารนำการเมือง” ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นแนวทางที่ผิดพลาด ควรต้องใช้ “การเมืองนำการทหาร” ในการแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ อะไรแบบนี้ ล่าสุดมาอีกแล้ว “การทหารนำสาธารณสุข” หรือ “การทหารนำการแพทย์” อันเนื่องจากคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า

โดยให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ถือเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ที่ประกอบด้วยหน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จึงนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า เอาทหารมานำการแพทย์ แล้วจะถูกทิศทางได้อย่างไร

ความที่สถานการณ์การระบาดของโควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา มีตัวเลขที่ยังสูงลิ่ว บรรดาแพทย์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดสรรวัคซีนที่มีคุณภาพสูงลงมายังพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อเร่งฉีดให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้

ส่งผลให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข สั่งระดมวัคซีนลงพื้นที่เป็นการเร่งด่วน

ไปๆ มาๆ นายกรัฐมนตรีประกาศตั้ง ศบค.ส่วนหน้า เพื่อบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยในการแก้ไขโควิดใน 4 จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง แต่พอมีพลเอกมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ก็เลยงงกันไปทั้งเมือง

แม้ว่า พล.อ.ณัฐพลจะเคยมีบทบาทอยู่ใน ศบค.ใหญ่ เมื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อาจจะเป็นเหตุผลที่ส่งมาคุม ศบค.ส่วนหน้าที่ภาคใต้

แต่ตอนที่เอา พล.อ.ณัฐพลในฐานะเลขาธิการ สมช. เข้ามามีบทบาทสำคัญใน ศบค. ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่แล้ว ว่าใช้ทหารมาร่วมกำหนดการแก้ไขวิกฤตด้านสาธารณสุข จะถูกทิศถูกทางได้อย่างไร

แถมเมื่อ พล.อ.ณัฐพลครบเกษียณอายุ พ้นจากเลขาธิการ สมช. ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ

ยังเรียกใช้บริการต่อไปด้วยตำแหน่งผู้อำนวย ศบค.ส่วนหน้าล่าสุด

วิเคราะห์กันว่า ความที่ พล.อ.ประยุทธ์มีความเป็นทหารเต็มตัว จนป่านนี้ก็ยังเป็นทหารอยู่อย่างเข้มข้น คนที่ไว้วางใจย่อมเป็นทหาร คิดอะไรไม่ออกก็นึกถึงทหาร

เมื่อมองการคลี่คลายโควิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะนึกถึงแต่ความเป็นพื้นที่ไฟใต้ มีสถานการณ์ก่อความไม่สงบรุนแรง

ทั้งที่เป็นเรื่องการแก้ไขโรคระบาดรุนแรง ก็ยังอุตส่าห์เอานายพลเอกลงไปเป็นผู้อำนวยการ ศบค.ส่วนหน้าเสียอีก

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองในพรรคภูมิใจไทย ที่อาจจะหงุดหงิดใจ จึงตั้งประเด็นขึ้นมาว่า ทำไมต้องเอาทหารลงไปนำสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกของคนอีกหลายฝ่ายที่ว่า ทำไมต้องให้ทหารเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว

แต่พร้อมๆ กัน นักวิเคราะห์การเมืองก็มองว่า เพราะจิตสำนึกของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น มีความคิดแบบนักการทหารเต็มเปี่ยม

ชีวิตนี้มีแต่ทหารนำ ในทุกๆ อย่างทำนองนั้น

เมื่อตอนเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เมื่อปี 2557 นั้น ก็อาศัยการนำกองกำลังกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

จากนั้นตั้งรัฐบาลเข้าปกครองประเทศ แบบรัฐบาลทหาร อ้างอิงเรื่องความมั่นคง ควบคุมความสงบของประเทศ หยุดการเคลื่อนไหวรุนแรงของกลุ่มการเมืองต่างๆ

อยู่ยาวนานถึง 5 ปี พอปล่อยให้มีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็อาศัยกลไกรัฐธรรมนูญ ที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เพื่อการสืบต่ออำนาจของนายกรัฐมนตรีต่อไป

ประชาชนแห่กันไปเลือกตั้งคึกคักขนาดไหน แต่จำนวน ส.ส.ที่เลือกเข้าไป ก็ไม่อาจเหนือกว่า พรรค 250 ส.ว. ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่เข้าไปนั่งรออยู่ในรัฐสภาแล้ว พร้อมล็อกโผนายกฯ เอาไว้ล่วงหน้า

เท่ากับว่าการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2562 นั้น อาศัยกลไกรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์เอาไว้แล้ว อาศัยเสียง 250 ส.ว.ที่เต็มไปด้วยนายพลทหาร ตำรวจและข้าราชการต่างๆ ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.เองอีกด้วย

ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตรวจสอบอย่างมากว่า ยังใช้งบประมาณเพื่อการเสริ้มเขี้ยวเล็บกองทัพอย่างสูง ขนาดช่วงโควิดระบาด ควรใช้งบประมาณไปในด้านสาธารณสุข แต่กลับไม่ยอมเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำ จนฝ่ายค้านต้องขุดคุ้ยต่อต้านอย่างหนัก จึงยอมชะลอไปก่อน จึงกล่าวได้ว่า แม้จะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แต่กลไกที่ทำให้ต่อท่ออำนาจได้ ไม่เกี่ยวกับเสียงของประชาชน อีกทั้งความคิดนโยบายต่างๆ ก็ยังสะท้อนความเป็นผู้นำรัฐบาลทหารอยู่เช่นเดิม

สิ่งที่เห็นตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์อีกประการ คือเมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดด้านโควิด สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์รีบนำออกมาใช้ก็คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็คือการให้อำนาจพิเศษกับนายกฯ ด้วยหลักการด้านความมั่นคงนั่นเอง

แล้วก็ไม่ลืมนำเอาเลขาธิการ สมช. ซึ่งเป็นนายทหารจากกองทัพบกที่คุ้นเคย เข้ามามีบทบาทใน ศบค.ใหญ่ พอตั้ง ศบค.ส่วนหน้าแก้โควิด 4 จังหวัดใต้ ก็ส่งพลเอกลงไปคุมอีก

หลักใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่พ้นการใช้ทหารและการใช้อำนาจด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ

 

เมื่อพูดถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมต้องพูดถึงสถานการณ์การก่อความไม่สงบ ที่ยังไม่สงบลงง่ายๆ ยังมีเหตุรุนแรงต่อเนื่องมายาวนานกว่าสิบปีแล้ว ขณะเดียวกันในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะพบว่ากลไกการตั้งโต๊ะพูดคุยเจรจา ที่เคยทำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เริ่มหายไป

เท่ากับยืนยันความเป็นรัฐบาลทหารของแท้ ด้านหนึ่งออกข่าวว่า ยังมีเจรจา แต่ก็ไม่เคยเห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรม

ในทางปฏิบัติ ความเป็นนายกฯ จากกองทัพ ดังนั้น ทหารจึงมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีกในพื้นที่ไฟใต้ ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า เหตุใดความไม่สงบในพื้นที่จึงยังมีอยู่ต่อไป

เพราะสงครามทั่วโลก ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งด้านความไม่เป็นธรรม ด้านความคิดอุดมการณ์ พิสูจน์แล้วว่า ต้องจบที่การเจรจา ด้วยการพูดคุยหาทางออก

การปราบปรามผู้ก่อการร้ายนั้น เข้าทำนองยิ่งปราบก็ยิ่งโต

สงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2508 พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า จบลงด้วยการเมืองนำการทหาร ใช้คำสั่งที่ 66/2523 มาคลี่คลาย ยอมให้คนเข้าป่ากลับคืนเมืองมาต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมายใดๆ ไฟสงครามจึงสงบลงได้

สงครามคอมมิวนิสต์นี่แหละ ที่ทำให้ทฤษฎีการเมืองนำการทหาร ทฤษฎีใช้สันติวิธีแก้ไขสงคราม เป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างเป็นรูปธรรม!!

แต่พอมาสถานการณ์ไฟใต้ แนวทางการเมืองนำการทหารกลับไม่ยอมนำมาใช้

ความขัดแย้ง การก่อความไม่สงบก็ยังดำเนินต่อไป การสูญเสียของชาวบ้านในพืนที่ ทหาร ตำรวจชั้นผู้น้อย ยังเกิดขึ้นอยู่แทบทุกวัน

นอกจากไม่คิดจะใช้การเมืองนำการทหารเพื่อหยุดไฟใต้ในพื้นที่ 3-4 จังหวัดใต้แล้ว คือยังใช้การทหารนำต่อไป

พอมีโควิด ก็ยังใช้การทหารนำการสาธารณสุขเสียอีก

จะถูกทิศถูกทาง ถูกเรื่องถูกราวได้อย่างไร!?!