ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
พิธา-ก้าวไกล ลุยระดับชาติ
ท้าชน ‘ช้างอุ้ยอ้าย-เสือนอนกิน’
ธนาธร-ก้าวหน้า
รุกปักธง ‘ท้องถิ่น’
ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธหลายครั้งถึงการยุบสภา เลือกตั้งใหม่
แต่การออกมาขยับของแต่ละพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน กลับเสมือนการส่งสัญญาณรัวกลองพร้อมรบได้ทุกเมื่อ แต่ละพรรคประกาศเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกันเกรียวกราว
บรรดาแม่ทัพ-ขุนพลพรรคจัดทัพเดินหน้าลงพื้นที่เปิดนโยบาย เช็กเรตติ้ง อาศัยจังหวะประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ออกเดินสายช่วยเหลือ แจกข้าวของ หาเสียงตุนคะแนนกันคึกคัก
โดยเฉพาะพรรคหลักๆ ไม่ว่าพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เพื่อไทย
และที่น่าจับตาคือพรรคก้าวไกล ใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองหนุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งประกาศตัวพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า
นายพิธาและพรรคก้าวไกล ระดมขุนพล ส.ส.จัดคาราวานลงพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด แสดงความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งระดับชาติ
คู่ขนานไปกับคณะก้าวหน้า ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำขุมกำลังเดิมจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ รุกปักธงระดับท้องถิ่น ในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะมีขึ้นวันที่ 28 พฤศจิกายน
แม้จะเป็นสนามท้องถิ่น แต่ผลเลือกตั้ง อบต.จะเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญ สะท้อนถึงสนามเลือกตั้งระดับชาติ
จังหวะของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า จึงเป็นการเดินหมากการเมืองแบบคู่ขนาน แบ่งบทบาทสอดประสาน ก้าวไกลลุยศึกเลือกตั้งระดับชาติ ก้าวหน้าลุยศึกเลือกตั้งท้องถิ่น
1 พรรค 1 คณะ จะก้าวไปข้างหน้าได้ไกลขนาดไหน น่าจับตา
“จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องชนะใจคนอีสาน หากไม่ชนะใจคนอีสานก็เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ที่สำคัญหากไม่สามารถเปลี่ยนภาคอีสานได้ เราก็เปลี่ยนประเทศไทยไม่ได้เช่นกัน” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว
นายพิธายังได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า หากแก้ไขเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม เรื่องที่ดินให้คนอีสานได้ เชื่อว่าจะสามารถชนะใจคนอีสานได้ ทุกเขตสำคัญหมด 116 เขตในภาคอีสาน ตนเองตั้งใจไปให้ครบทุกเขต
ในใจคาดหวังทุกเขต ทุกจังหวัดในภาคอีสาน
พรรคก้าวไกลเลือกศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (KICE) จ.ขอนแก่น เป็นสถานที่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 1/2564 มีกรรมการบริหารพรรค ตัวแทนประจำจังหวัด สมาชิกพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสาน เข้าร่วมราว 500 คน
มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคในหลายจังหวัดภาคอีสาน ประกาศพร้อมชิงชัยกับทุกพรรค รวมถึงพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย เจ้าของแชมป์เลือกตั้ง ส.ส.ภาคอีสานหลายสมัย
ครั้งนี้พรรคก้าวไกลมุ่งหมายเจาะพื้นที่อีสานให้ได้ เพื่ออุดช่องโหว่ ส.ส.เขตที่เป็นจุดอ่อนมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่
นายพิธาประกาศด้วยความมั่นใจ ครั้งนี้ก้าวไกลกวาด ส.ส.ภาคอีสานได้แน่ และไม่หนักใจที่ต้องต่อสู้ในสนามเลือกตั้งกับพรรคเพื่อไทย เพราะในระบอบประชาธิปไตยการแข่งขันเป็นเรื่องดี การแข่งขันเชิงนโยบาย ประชาชนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์
ในวันนั้น ช่วงบ่ายเป็นการเปิดเวทีปราศรัยนำเสนอนโยบายพรรค ภายใต้ชื่องาน “ก้าวไกล ไปนำแหน่”
นายพิธากล่าวปราศรัยเรื่องแรกคือ “ก้าวไกลสัญจร” ว่า นับตั้งแต่ปิดสภา ตนเดินทางกว่า 3,000 กิโลเมตร จากเหนือสุด จนใต้สุด ไม่เคยเจอไตรวิกฤตอย่างนี้คือ เศรษฐกิจ โควิด-19 และภัยพิบัติ
เหนื่อยใจกับการบริหารวิกฤตของรัฐบาล แต่ก็เกิดความฮึกเหิม ไม่ยอมแพ้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศ
จากนั้น กล่าวถึง “วิถีก้าวไกล” ระบุ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พวกเราได้เดินทางไปทั่วประเทศ เห็นถึงปัญหามากมาย ทำให้มองว่าประเทศไทยเหมือนต้องคำสาปห้ามพัฒนา โดยคำสาปห้ามพัฒนาประเทศ เกิดขึ้นจากห่วงโซ่พันธนาการร้อยเข้าด้วยกัน 3 ชั้น
ชั้นที่หนึ่งคือ ปัญหาการขาดเทคโนโลยี เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ไม่สามารถสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการทำให้บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้นได้
ชั้นที่สองคือ รัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นเหมือน “ช้างอ้วนอุ้ยอ้าย” เขียนนโยบายอยู่ในห้องแอร์ นั่งทับทุกปัญหาเอาไว้ไม่ให้พัฒนา แล้วดูดซับทรัพยากรเข้าส่วนกลางมากมายมหาศาล
ชั้นที่สามคือ การมีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากการแช่แข็งประเทศ พันธนาการประเทศไทยให้อยู่ในโครงสร้างที่ตัวเองอยู่บนยอดพีระมิด เป็นเหมือน “เสือนอนกิน” ได้ประโยชน์จากความไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น การแก้ปัญหาประเทศไทยจะเอานักบริหารที่เก่งมาทำอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้ “วิถีก้าวไกล” ที่พร้อมสู้ปัญหาทั้ง 3 ระดับ จัดการกับเสือนอนกิน และระบอบปรสิตกัดกินประเทศคือ นายทุนผูกขาด นักการเมืองท้องถิ่น และรัฐราชการรวมศูนย์
“เราจะต้องมียูนิคอร์นเหมือนประเทศอื่น นำเทคโนโลยีมาใส่ เป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองพูด แต่เราต่างจากพรรคอื่นเพราะเรารู้ว่าจะสร้างยูนิคอร์นอย่างไร” นายพิธากล่าว และว่า
พรรคก้าวไกลจะสู้กับช้าง ชนกับเสือ เราจะชนะระบอบนี้ได้ต้องอยู่ที่ทัศนคติ ทุกคนต้องมีทัศนคติเหมือนราชสีห์ ไม่ใหญ่เท่าช้าง ไม่เร็วเท่าเสือ ไม่ฉลาดเท่าลิง แต่มีความสุภาพและเข้มแข็ง อยู่ในใจประชาชน ไม่ใช่อยู่บนหัวประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
ครั้งนี้เป็นการเดินทางไกลและไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เส้นทางวิถีก้าวไกล ไม่โดดเดี่ยว เพราะไม่ใช่การเดินทางของตนคนเดียว
แต่เป็นการเดินทางของคนธรรมดาทุกคนที่ถูกกดขี่จากความอยุติธรรมในประเทศนี้ ที่สำคัญคือเมื่อเราเริ่มเดินแล้วห้ามหยุดเดิน ไม่มีครั้งไหนเวลาไหนที่เราเดินมาได้ไกลขนาดนี้
สุดท้ายแพ้กี่ครั้งไม่เป็นไร ชนะครั้งเดียวพอ แล้วประเทศไทยจะเปลี่ยนไป
นี่คือการเดินทางไกล ที่บทสุดท้ายคือชัยชนะของประชาชน
ขณะที่เส้นทางของคณะก้าวหน้า สู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น อบต.
เป็นอีกความท้าทาย คู่ขนานไปกับพรรคก้าวไกล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำทีมจัดกิจกรรม “หนึ่งเสียงเปลี่ยนบ้านเรา เลือก อบต. ก้าวหน้า” ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม คล้อยหลังการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลแค่ 1 วัน
คณะก้าวหน้าแถลงผลความสำเร็จของเทศบาลที่คณะก้าวหน้าสนับสนุน ในวาระบริหารครบ 5 เดือน นายธนาธรยังประกาศส่ง อบต. 210 ทีมทั่วประเทศครบทุกภาค
โดยเฉพาะภาคอีสาน คณะก้าวหน้าส่ง อบต.ลงมากสุด 130 ทีม แสดงถึงการให้ความสำคัญกับการทำงานการเมืองท้องถิ่นภาคอีสาน แต่สุดท้ายทั้งหมดต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนเห็นคือ
ประเทศไทยดีกว่านี้ได้ หากท้องถิ่นดี
บทบาทนำทัพเข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น สอดประสานระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ทั้งสองโดดเด่นในฐานะนักการเมืองคนรุ่นใหม่ไฟแรง
แต่ก็เป็นอย่างที่นายพิธากล่าวบนเวทีปราศรัย จ.ขอนแก่น เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ตรงกันข้าม ตามรายทางยังต้องเผชิญสิ่งกีดขวางนานัปการ
ทันทีที่นายพิธาประกาศตัวพร้อมชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องราวอื้อฉาวในอดีต กรณี “ต่าย ชุติมา” อดีตภรรยา กับประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ที่เป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล
แม้คดีจะจบลงโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ในเดือนพฤษภาคม 2562
แต่ในทางการเมือง เรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอ โดยเฉพาะหลังจากนี้เป็นต้นไป นายพิธาและพรรคก้าวไกลจะต้องเจอกับคำถามว่ามีนโยบายเรื่องลดความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร
เช่นเดียวกับนายธนาธร ถึงจะผ่านมรสุมการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังไม่หมดสิ้น
ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้ตรวจสอบผู้ก่อตั้งคณะก้าวหน้าในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น
ว่าอาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมเลียนแบบพรรคการเมือง ขัดมาตรา 111 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่
ทั้งที่ตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง อีกทั้งในความเป็นจริง ไม่มีพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัคร มีเพียงบางพื้นที่ส่งผู้สมัครในนามกลุ่ม
กรณีนักร้องศรีสุวรรณ จึงทำให้เกิดคำถามตามมา ว่าเหตุใดจึงมีแต่คณะก้าวหน้าที่ถูกร้อง ทั้งที่ในหลายจังหวัด กลุ่มที่เรียกว่าบ้านใหญ่ ก็ส่งผู้สมัครลงในนามกลุ่มเช่นกัน
เหล่านี้คือมรสุมที่ “พิธา” และ “ธนาธร” ต้องเผชิญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไม่ว่าในระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น
ที่ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการประกาศตัวเป็นราชสีห์ ท้าชน “ช้างอุ้ยอ้าย” กับ “เสือนอนกิน” ที่กัดกินประเทศมายาวนาน
สุดท้ายใครแพ้-ชนะ ผลออกมาอย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน