ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ ‘อาวุธยุคใหม่’ ที่มหาอำนาจโลกต้องมี/บทความต่างประเทศ

A Hypersonic Air-breathing Weapons Concept (HAWC) missile in seen in an artist's conception. Raytheon Missiles & Defense/Handout via REUTERS. NO RESALES. NO ARCHIVES. THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY.

บทความต่างประเทศ

 

ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์

‘อาวุธยุคใหม่’

ที่มหาอำนาจโลกต้องมี

 

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเริ่มมีกระแสข่าวเกี่ยวข้องกับ “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ

สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานตรงกันว่า “เกาหลีเหนือ” กำลังทำการทดสอบ “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ในช่วงต้นเดือนตุลาคม

ด้านรัสเซียออกมายอมรับเองเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่าได้ทำการทดลองยิง “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” จากเรือดำน้ำที่ปฏิบัติการอยู่ใต้น้ำเป็นครั้งแรก

ตามมาด้วย “จีน” ที่สื่ออย่าง “ไฟแนนเชียลไทม์ส” รายงานว่า มีการทดสอบยิง “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ที่มีความสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา และอีกอย่างน้อย 5 ชาติที่กำลังพัฒนาขีปนาวุธชนิดใหม่นี้อยู่

แน่นอนว่าเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมชาติมหาอำนาจหลายๆ ชาติต้องมุ่งพัฒนา “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ด้วย

ขีปนาวุธชนิดนี้คืออะไร และแตกต่างจากขีปนาวุธเดิมๆ อย่างไร?

 

“ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” นั้นเป็นมิสไซล์ที่มีความเร็วสูงมาก ทำให้ใช้เวลาโจมตีถึงเป้าหมายได้ในเวลารวดเร็ว และที่สำคัญก็คือ “ป้องกันได้ยากอย่างยิ่ง”

ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้เหมือนกับขีปนาวุธข้ามทวีปแบบเดิมๆ แต่จะแตกต่างตรงที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วย “ความเร็วเหนือเสียง” ถึง 5 เท่าตัว

ในขณะที่ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบเดิมต้องยิงขึ้นในวิถีโค้งสูงขึ้นสู่อวกาศก่อนที่จะโค้งลงสู่เป้าหมาย แต่ “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” นั้นจะถูกยิงไปในวิถีโค้งในชั้นบรรยากาศโลกระดับต่ำ พุ่งทะยานสู่เป้าหมายได้เร็วกว่า

และที่สำคัญที่สุดก็คือ “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” นั้นสามารถบังคับทิศทางหรือให้หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ เช่นเดียวกับขีปนาวุธร่อน ที่ไม่ได้มีความเร็วเหนือเสียงและเดินทางได้ช้ากว่า และนั่นทำให้ “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ตรวจจับและป้องกันการโจมตีได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

แม้แต่ “สหรัฐอเมริกา” ที่สามารถพัฒนาระบบป้องกัน “ขีปนาวุธร่อน” และ “ขีปนาวุธข้ามทวีป” ได้แล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าสามารถป้องกัน “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ได้หรือไม่

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานั้นทำให้ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ จะกลายเป็นอาวุธที่เป็น “ภัยคุกคามใหม่” และเพิ่มอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากเกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์

 

อีกคำถามก็คือเวลานี้ใครมีเทคโนโลยี “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” อยู่แล้วบ้าง?

เวลานี้ รัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีเหนือ ได้เริ่มทดสอบยิง “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ไปแล้ว

สำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐ (ซีอาร์เอส) ระบุว่า เวลานี้ รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ ขณะที่อิหร่าน อิสราเอล เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเดียวกันนี้อยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซีย เป็นชาติที่พัฒนา “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ได้ก้าวหน้ามากที่สุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา รัสเซียประกาศว่าได้ยิง “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ที่มีชื่อว่า “เซอร์คอน” (Zircon) จำนวน 2 ลูกขึ้นจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ “เซเวริดวินสก์” (Severodvinsk)

โดยลูกแรกยิงขณะเรือดำน้ำอยู่ที่ผิวน้ำ โดย “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” ยิงเข้าสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

ส่วนลูกที่ 2 นั้นถูกยิงขึ้นมาจากเรือดำน้ำที่ดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำลึก 40 เมตร อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเปิดเผยเอาไว้ว่ายิงเข้าเป้าหรือไม่

ซีอาร์เอสรายงานด้วยว่า จีนก็เร่งพัฒนา “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” อย่างจริงจังเช่นกัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางอาวุธกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่สหรัฐเองวางแผนที่จะทดสอบไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์จำนวนมากถึง 40 ลูกภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้เช่นกัน

ด้าน “สหรัฐอเมริกา” ก็เพิ่งทำการทดสอบ “เครื่องยนต์เจ็ตขับดันไฮเปอร์โซนิก” ด้วยเช่นกัน โดยระบุด้วยว่าเป็น “การแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและศักยภาพที่จะสร้างไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์แบบร่อน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการรบของเราได้”

ด้านเกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จของการทดสอบไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ที่ดูจะไปไกลกว่าสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าการทดสอบเน้นไปที่ “ความสามารถในการขับเคลื่อน” และ “ลักษณะพิเศษในการบิน”

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้และกองทัพสหรัฐที่สังเกตการณ์เกาหลีเหนืออยู่ห่างๆ ระบุถึงการทดสอบไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ของเกาหลีเหนือว่า

“จากการประเมินลักษณะพิเศษ เช่น ความเร็ว มันยังคงเป็นการพัฒนาในเฟสแรกๆ และจะต้องใช้เวลาอีกค่อนข้างมากที่จะสามารถใช้จริงได้”

 

คาเมรอน ทราซี ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอาวุธ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด มองว่า ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์นั้นไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงสมดุลทางนิวเคลียร์ในเวทีโลกขึ้นใหม่ แต่จะเป็นการเพิ่มวิธีการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ จากเดิม 3 วิธี คือ 1.เครื่องบินทิ้งระเบิด 2.ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ยิงขึ้นจากฐานยิงบนพื้นโลก และ 3.การยิงขึ้นจากเรือดำนำ

ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดก็คือไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ ที่ถูกยิงมานั้นติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ตาม

ทราซีระบุว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมเอา “ไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์” เอาไว้ในข้อตกลงการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ซึ่งน่าหวั่นใจที่เกาหลีเหนือและจีนนั้น ปัจจุบันไม่ได้อยู่ร่วมในข้อตกลงใดๆ ที่มีบนโลกนี้เลย

“การพัฒนาอาวุธเหล่านี้ การแข่งขันในด้านอาวุธไฮเปอร์โซนิก มันไม่ใช่สถานการณ์ที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ดังนั้น จะเป็นการดีที่จะต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดระบุ