สิ่งแวดล้อม : ไม่ปรับตัวไม่รอดแน่ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

ไม่ปรับตัวไม่รอดแน่

 

ปลายเดือนตุลาคมนี้ จะมีการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ หรือที่เรียกว่า COP26 (Conference of the Parties) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกอย่างแน่นอน

งานนี้เจ้าภาพได้เชิญผู้นำ 200 ประเทศ นักธุรกิจและนักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมงาน แต่ขอให้แต่ละประเทศทำการบ้านล่วงหน้าว่าหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ได้อย่างไร แล้วนำมาเสนอต่อที่ประชุม

เชื่อว่า ตลอด 2 สัปดาห์ของการประชุม แต่ละประเทศจะเสนอแนวคิดใหม่ๆ เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตภัยอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า ภัยแล้ง คลื่นความร้อน น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลสูงกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่ง

COP26 กำหนดการประชุมเมื่อปีที่แล้ว แต่บังเอิญทั่วโลกเจอไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักทำให้งานต้องเลื่อนมาเป็นปีนี้แทน รัฐบาลอังกฤษแสดงท่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากเนื่องจากเป็นการประชุมในสหราชอาณาจักร

เล็งๆ กันว่า เมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้ ทั่วโลกจะหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินมีแนวโน้มลดลง โครงการปลูกต้นไม้ ป้องกันการลักลอบโค่นป่า และโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม จะได้รับการใส่ใจจากรัฐบาลทั่วโลกมากกว่าปัจจุบัน

 

เมื่อกลางเดือนนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งอังกฤษร่อนใบแถลงข่าวว่าด้วยเรื่องการประชุม COP26 หัวข้อข่าวว่า “Adapt or die” แปลเป็นไทยตรงตัวได้ว่า “ปรับตัวหรือตาย”

ในคำแถลงบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศนี้อยู่ในขั้นฉุกเฉิน ชาวโลกได้เห็นได้รับรู้กันมานานแล้ว หนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ผลกระทบนั้นรุนแรงใหญ่หลวงมากไปกว่านี้ ชาวโลกต้องร่วมมือกันปรับตัว รัฐบาลทุกประเทศต้องลงมือแก้ปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่

อย่างที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ปี 2558 ผู้นำทั่วโลกตกลงจะจับมือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงมากกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนสิ้นศตวรรษนี้

หรือชาวโลกคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็ยิ่งเป็นเรื่องดีถ้าทำได้และทุกประเทศต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซพิษเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2593

ข้อตกลงในครั้งนั้นเรียกกันว่า “ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพราะผู้นำโลกกว่า 190 ประเทศเซ็นกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ปรากฏว่า ตลอด 6 ปีนับจากลงนามในข้อตกลง ยังไม่มีชาติใดในโลกเดินตามเป้าหมายที่ว่าได้เลยเพราะต่างฝ่ายต่างยึดประโยชน์ของตัวเอง

แล้วก็พากันกลัวว่า ถ้าเลิกใช้ถ่านหิน น้ำมันหรือก๊าซซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการสร้างก๊าซพิษ หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม จะเกิดต้นทุนสูง เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบ

ประเทศร่ำรวยหลายๆ ประเทศไม่ยอมควักเงินช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง แม้รู้อยู่แก่ใจว่า ปริมาณก๊าซที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศล้วนมาจากบรรดาประเทศร่ำรวยทั้งสิ้น

ประเทศเล็กๆ อยู่กลางมหาสมุทร เผชิญกับน้ำทะเลเพิ่มสูงจนท่วมเกาะ ประเทศยากจนในทวีปเอเชีย แอฟริกา ต้องประสบกับภัยแล้งพืชไร่แห้งตาย ผู้คนอดอยาก หรือพายุถล่มฝนตกหนักน้ำเอ่อท่วม โคลนทะลักใส่บ้านเรือน

ทั้งหมดนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนชั้นบรรยากาศโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

มิหนำซ้ำ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ก็ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส แถมยังสนับสนุนให้วงการอุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกันต่อไปไม่แยแสสายตาชาวโลก ทำให้ข้อตกลงปารีสสะดุด

เมื่อเปลี่ยนผู้นำสหรัฐเป็นนายโจ ไบเดน สถานการณ์แก้โลกร้อนกลับมาดีขึ้น

 

สํานักงานสิ่งแวดล้อมแห่งอังกฤษยังจัดทำรายงานไปถึงรัฐบาลอังกฤษพร้อมกับคำเตือนว่า ในขณะนี้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงสุดขั้ว นำไปสู่วิกฤตการณ์น้ำท่วม ภัยแล้งและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ภายใน 6 ทศวรรษ น้ำทะเลอาจเพิ่มสูงถึง 78 เซนติเมตร

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า มีผลกระทบต่อการกักเก็บสำรองหรือจัดหาแหล่งน้ำให้พอเพียง คาดกันว่าเมื่อถึงปี 2593 อังกฤษต้องการใช้น้ำมากกว่า 3,400 ล้านลิตรต่อวัน

นั่นหมายความว่า รัฐบาลอังกฤษต้องเตรียมแผนรองรับบรรดาธุรกิจอุตสาหกรรม เกษตรกร หรือชุมชนต้องปรับตัวรับมือกับภาวะการขาดแคลนน้ำ

แน่นอนวิกฤตภัยแล้งจะมีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถ้าไม่ปรับตัวจะอยู่รอดยาก

สำนักงานสิ่งแวดล้อมอังกฤษ ยังยกตัวอย่างกรณีวิกฤตน้ำท่วมในประเทศเยอรมนี ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตราว 200 คน กรณีอย่างนี้จะเกิดขึ้นกับประเทศอังกฤษในอนาคตข้างหน้า ไม่ช้าก็เร็ว

รัฐบาลอังกฤษต้องเตรียมแผนสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมรับมือกับกระแสน้ำที่รุนแรงระดับน้ำที่เพิ่มสูง ลดผลกระทบที่มีต่อโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ ชุมชนและบ้านเรือน

เช่นเดียวกัน ผู้คนจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตภัยเหล่านี้ ต้องหาที่อยู่ที่เหมาะสม เลี่ยงอยู่ในทำเลที่มีเส้นทางน้ำหลากไหลผ่าน

รัฐบาล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการวางแผนผังเมือง การลงทุนก่อสร้างที่ลดความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมทะลัก

 

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูง 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สภาวะภูมิอากาศของอังกฤษจะเปลี่ยนแปลงดังนี้

ฤดูหนาว คาดว่าภายใน 30 ปีข้างหน้าฝนตกเพิ่มขึ้นราว 6% และเพิ่มเป็น 8% ในอีก 30 ปี แนวคาดการณ์นี้ใช้ฐานข้อมูลระหว่างปี 2524-2543 มาคำนวณ

ฤดูร้อน ฝนจะตกลดลงราวๆ 15%

ระดับน้ำทะเลชายฝั่งกรุงลอนดอน คาดว่าเพิ่มขึ้น 23 ซ.ม.ภายในปี 2593 และ 45 ซ.ม.ในปี 2623

กระแสน้ำในแม่น้ำจะไหลแรงขึ้น อาจจะไหลแรงขึ้นถึง 27% ในปี 30 ปีข้างหน้า แต่เมื่อถึงฤดูร้อน การไหลของกระแสน้ำจะลดลงถึง 82%

 

สํานักงานสิ่งแวดล้อมแห่งอังกฤษยอมรับตรงๆ ว่า สำนักงานไม่สามารถป้องกันวิกฤตภัยทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง การกัดเซาะแนวชายฝั่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าได้เพียงลำพัง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ชาวอังกฤษต้องเรียนรู้การมีชีวิตในความเสี่ยง

เมื่อภัยมาถึงทำอย่างไรจึงจะหาทางป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดและสามารถปรับตัวกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษฟื้นฟูระบบนิเวศน์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา อังกฤษเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ สภาพชนบทเปลี่ยนเป็นเมืองชุมชนหนาแน่น

“อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจะทำให้สัตว์ป่าต้องปรับตัว เราต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศน์ธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง” สำนักงานสิ่งแวดล้อมแถลง

ยักษ์ใหญ่ของโลกเช่นอังกฤษ ยังแสดงความวิตกกังวลกับภาวะโลกร้อนอย่างมากถึงกับบอกว่า ถ้าไม่ปรับตัวจะไม่รอด

ถามว่า รัฐบาลไทยเคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเตรียมรับมือกับหายนภัยอย่างไร เพราะที่เห็นกันตำตาเมื่อเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งทีไรก็แก้ปัญหาเอาตัวรอดไปวันๆ แค่นั้น