ยินดีกับ Maria Ressa : นักข่าวเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ยินดีกับ Maria Ressa

: นักข่าวเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ

 

สัปดาห์นี้ขอแทรกเรื่องราวของ “นักข่าวรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” ก่อนจะเป็น “พิมพ์เขียวประเทศไทย-ตอน 2” ที่ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว

ผมได้แสดงความยินดีกับ “มาเรีย เรซซา” (Maria Ressa) แห่งสำนักข่าว Rappler ของฟิลิปปินส์ไปเมื่อสองเสาร์ที่ผ่านมาหลังจากได้รับทราบข่าวดีว่าเธอได้รางวัล “โนเบลสาขาสันติภาพ”

ที่ยินดีมากเป็นพิเศษเพราะเธอเป็นคนข่าวที่ผมรู้จักมายาวนาน และได้สัมผัสถึงความทุ่มเทและเสียสละอีกทั้งความกล้าหาญที่จะทำสื่อลักษณะขุดคุ้ยสอบสวนเพื่อเปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของผู้มีอำนาจอย่างไม่ลดละ

คุณปรางทิพย์ ดาวเรือง นักข่าวอาวุโสผู้คุ้นเคยกับวงการข่าวของเอเซียเขียนในเฟซบุ๊กบรรยายภาพที่เห็นบนจอ Zoom ที่เห็น 4 คนในวงการสื่ออาเซียนคนกำลังสนทนาออนไลน์กันอยู่ว่า

“ฟ้าผ่ากลางวง (แบบดี)”

บก.มาเรีย เรซซา (ล่างซ้าย) ผู้ก่อตั้ง Rappler News จากฟิลิปปินส์ รับโทรศัพท์สายตรงจากสวีเดนส่งข่าวเรื่องผลการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2564

ซึ่งเธอได้เป็นผู้ร่วมรับรางวัลกับ บก.หนังสือพิมพ์รัสเซีย ดิมิตรี มูราตอฟ

เหตุเกิดกลางวงเสวนาออนไลน์กับเพื่อนนักข่าว สตีเฟน กาน หัวหน้ากอง บก.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com ประเทศมาเลเซีย กับอารีฟ ซุลกีฟรี ซีอีโอกลุ่มหนังสือพิมพ์ Tempo อินโดนีเซีย และเอียน ยี ผู้ดำเนินรายการ

มาเรียถึงกับร้องไห้ด้วยความยินดี

เธอบอกว่า “I am shocked. I am speechless”

(“ดิฉันช็อก พูดอะไรไม่ออก”)

ส่วนคนอื่นกรี้ดวงแตก ด้วยความยินดีที่เพื่อนร่วมอาชีพสื่อได้รับรางวัลสูงสุดในชีวิต

เพราะเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการโนเบลโทร.มาแจ้งให้มาเรียรู้ข่าวดีก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

มาเรียตื่นเต้นยินดีปรีดาจนพูดไม่ออก

ตรงหน้าเธอบนจอคอมพิวเตอร์นั้นคือเพื่อนร่วมอาชีพที่มาเลเซียและอินโดนีเซียที่ฟันฝ่าต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อในประเทศของตนมาด้วยความอดทนและทุ่มเทมาตลอดเช่นกัน

อีกภาพหนึ่งเป็น selfie ของผมกับเธอเมื่อประมาณ 4 ปีก่อนนี้ที่สิงคโปร์ระหว่างการเสวนาบนเวทีว่าด้วยเรื่อง social media กับอิทธิพลต่อการเมืองระหว่างประเทศ

ขณะนั้นมาเรียตั้งสำนักข่าว Rappler แล้ว และกำลังต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐภายใต้ประธานาธิบดีดูแตร์เตอย่างร้อนแรง

เธอต้องทำสงครามกับอำนาจรัฐในทุกๆ ด้านเพราะสื่อของเธอได้เจาะลึกถึงเรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลดูแตร์เตมากมายหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นกรณี “วิสามัญฆาตกรรม” หลายพันคนที่ตำรวจอ้างว่าเข้าข่ายต้องสงสัยค้ายาเสพติด

ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนและไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง

กลายเป็นว่าผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรือเป็นศัตรูทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นถูกทำให้เป็นเหยื่อของกระบวนการวิสามัญฆาตกรรมภายใต้ข้ออ้างเรื่องปราบปรามยาเสพติด

เมื่อสื่อออนไลน์อย่าง Rappler เปิดโปงเรื่องเลวร้ายที่สื่อหลักไม่ทำหรือถูกกดดันและข่มขู่ไม่ให้ทำ ดูแตร์เตก็ประกาศมาเรียและทีมข่าวสืบสวนสอบสวนของ Rappler เป็นศัตรู

ด้วยการโยนข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคง”

ใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ในนามของ Cyber Libel Law หรือกฎหมายหมิ่นประมาททางไซเบอร์เพื่อข่มขู่และคุกคามคนข่าวที่ต้องการทำความจริงให้ประจักษ์

จนมาเรียและผู้บริหารถูกฟ้องร้องไม่ต่ำว่า 10 คดี

ถึงวันนี้มาเรียก็ดำเนินชีวิตและทำหน้าที่สื่อของตนด้วยการต้องประกันตัวจากคดีทั้งหลายทั้งปวง

แต่สำนักข่าวของเธอก็ไม่หยุดขุดคุ้ยเรื่องโกงกินและการใช้อำนาจรัฐในทางผิดกฎหมายต่อเนื่อง

รัฐบาลไม่หยุดแค่นั้น ยังตั้งข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีและทุนต่างชาติในบริษัท Rappler

พร้อมกับถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อของ Rappler ไปเมื่อ 3 ปีก่อน

ถึงวันนี้มาเรียก็ยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้ทางศาลเพื่อยืนยันสิทธิของการประกอบกิจการสื่ออย่างสุจริตและตรงไปตรงมา

ผมเจอมาเรียครั้งแรกในฐานะคนอาชีพสื่อมวลชนเหมือนกันตอนที่เธอทำหน้าที่เป็นนักข่าวประจำเอเชียอาคเนย์ของ CNN

เธอคือนักข่าวหุ่นเพรียวที่คล่องแคล่วปราดเปรียว พูดจาตรงไปตรงมาแต่ถ่อมตน

ระหว่างนั้นมาเรียเจาะลึกเรื่องการก่อการร้ายระหว่างประเทศซึ่งก็เป็นการสืบเสาะหาเบื้องหลังความเคลื่อนไหวของเครือข่ายก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนไม่น้อย

มาเจอเธออีกครั้งหนึ่งก็ในปี 2012 (9 ปีก่อน) เมื่อเธอบอกผมว่ากำลังจะก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ชื่อ Rappler พร้อมกับผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 คนที่เป็นผู้หญิงทั้งทีม

นั่นเป็นยุคสมัยที่คนทำสื่อกำลังปรับตัวเพราะ disruption ที่กำลังสร้างความป่วนให้กับวงการมีเดียไปทั่ว

ผมทึ่งกับความกล้าตัดสินใจออกจากงานสื่อขององค์กรที่ใหญ่กว่าและมีรายได้มากกว่า เช่น CNN และสถานีทีวี ABS-CBN ของฟิลิปปินส์

มาเรียบอกผมว่าเธอต้องการความเป็นอิสระเพื่อสามารถเจาะข่าวที่มีความสำคัญต่อสังคมมากกว่าจะเป็นเพียงนักข่าวของสำนักข่าวนานาชาติหรือระดับชาติเท่านั้น

สำนักข่าวออนไลน์คือโอกาสใหม่ แต่ก็เป็นทางเลือกที่เสี่ยงเพราะไม่มีความมั่นคง และไม่มีอะไรรับรองว่าจะไม่ล้มเหลวในระยะเวลาอันสั้น

เธอเริ่มต้น Rappler ด้วยนักข่าวทีมเล็กๆ แค่ 12 คน

แม้จะเป็นทีมจิ๋วแต่ใจใหญ่ เพราะต้องการจะทำข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงลึกที่สื่อหลักไม่ทำ ไม่สนใจจะทำหรือไม่กล้าทำ

มาเรียยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงสำหรับเธอทั้งในแง่ของความมั่นคงในอาชีพ

และเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยส่วนตัวและครอบครัว

แต่นักข่าวตัวเล็กที่หัวใจยิ่งใหญ่คนนี้เดินหน้าลุยอย่างไม่หวั่นไหวท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกออนไลน์ และความเสี่ยงของการเจาะข่าวที่อาจจะทำให้เธอและทีมงานกลายเป็นเป้าของการโจมตี

โจมตีทั้งในแง่ของการใส่ร้ายป้ายสีจากฝั่งผู้มีอำนาจ

และความเป็นไปได้ของการอาจจะถูกคุกคามและทำร้ายร่างกาย

เพราะฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประวัติที่นักข่าวและผู้เปิดเผยความจริงถูกลอบสังหารและถูก “สั่งเก็บ” อย่างไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมมาแล้วอย่างยาวนาน

ตัวเลขของ Committee to Protect Journalists (CPJ) บอกว่าในช่วง 10 ปีระหว่างปี 1991-2020 นั้นมีนักข่าวที่ถูกฆ่าทิ้งไปไม่น้อยกว่า 85 ราย

โดยที่มือสังหารส่วนใหญ่ยังลอยนวล

และรัฐบาลไม่เคยดำเนินคดีอย่างจริงจังกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นทหารหรือตำรวจที่เข้าข่ายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะมีส่วนร่วมในการลอบสังหารคนข่าวที่เปิดโปงความชั่วร้ายของทางการเหล่านี้

(ในกรณีของ Dmitry Muratov คนข่าวรัสเซียที่ได้รางวัลนี้คู่กับมาเรีย ภัยคุกคามต่อชีวิตของเขาและนักข่าวในสังกัดก็มีในระดับพอๆ กันโดย CPJ ระบุว่าตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมามีนักข่าวรัสเซียไม่น้อยกว่า 47 คนที่ถูก “เก็บ” ไปอย่างไร้ร่องรอย)

มาเรียถูกศาลมะนิลาตัดสินว่ามีความผิดข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นทางสื่อไซเบอร์ให้จำคุก 6 เดือน

อีกทั้งยังมีคดีอื่นๆ อีกหลายคดีที่รอคำพิพากษาของศาลอยู่วันนี้

มาเรียกลับมาทำงานตามปกติหลังจากขอประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดีต่างๆ ต่อไป

างวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับเธอจึงเป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์

ไม่เพียงแต่สำหรับวงการสื่อที่ต้องการทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้น

แต่สำหรับคนทำข่าวทั่วโลกที่ตกอยู่ในภาวะถูกข่มขู่คุกคามโดยผู้มีอำนาจรัฐด้วยอย่างแน่นอน

นี่คือแรงบันดาลใจเพื่อการทำหน้าที่อย่างองอาจกล้าหาญท่ามกลางอำนาจเถื่อนและการเมืองสกปรกในหลายๆ ประเทศต่อไป