Oh LALISA!/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

Oh LALISA!

 

ผมได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาในงาน the 6th China-ASEAN National Culture Forum China Quanxi Federation of Social Sciences, Guilin Municipal People Government ประเทศจีน

ทางการจีนเขาเสนอให้ผมพูดเรื่อง National traditional culture in digital age

ผมคิดไม่ออกว่าจะพูดอะไรให้คนเป็นพันคนฟัง จนกระทั่งน้องลลิษา มโนบาล ผู้เกิดที่บุรีรัมย์จะมาเยือนไทยและเป็นอาคันตุกะรัฐบาลไทย เพื่อเต้นให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยฟื้นจากโรคระบาดสักที

ผมจะพูดดังนี้

National traditional culture in digital age หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติในยุคสมัยดิจิตอลอาจพูดได้หลายอย่าง แต่ไม่ง่ายนักที่จะสรุปว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมแห่งชาติในยุคสมัยดิจิตอลเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก ยุคสมัยดิจิตอลโดยพื้นฐานแล้ว ลื่นไหล ปั่นป่วน ซับซ้อนยิ่งกว่าโลกาภิวัตน์เสียอีก เพราะโลกาภิวัตน์เพียงแค่ย่อโลก รวดเร็ว ไร้อุดมการณ์ แต่ยุคสมัยดิจิตอล มีทั้งสามสิ่งนี้ แต่ดิจิตอลไลเซซั่นในทั้งโลกเสมือนจริงและโลกจริง

ประการที่สอง อะไรที่เป็นเรื่องวัฒนธรรม ย่อมมีอุดมการณ์อยู่เสมอ นั่นหมายความว่า เราตีความตามอุดมการณ์ ความเชื่อ ศรัทธา เสมอ นั่นคือ วัฒนธรรมไม่มีอะไรผิด อะไรดี คนคนนั้นกำหนดและตีความขึ้นมาเอง

แต่ผมโชคดี ผมจะอธิบายเรื่องที่เข้าใจยากแต่สำคัญนี้ผ่าน K Pop จากซีรีส์เรื่องดัง Squid Game และผ่านนักร้องนักเต้น หรือ rapper ชื่อ LALISA หรือนักร้องสาวไทย ชื่อ ลลิษา มโนบาล

 

Squid Game บอกอะไรแก่เราบ้าง

ซีรีส์เรื่อง Squid Game ทรงพลังจาก Over the Top-OTT เป็น steaming ค่าย Netflix เจ้าใหญ่ที่สุดในโลกที่มีสาขามากถึง 160 ประเทศทั่วโลก (ตามข้อมูล 2020)

พลังของ OTT ดูได้จากการเข้าชมซีรีส์เรื่องนี้ถึง 111 ล้านครัวเรือนภายใน 1 เดือน อันเป็นซีรีส์ของ Netflix เรื่องใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา1

พลังของ OTT ยังรวมถึงค่ายอื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อย ได้แก่ Disney plus เรื่อง Star war ค่าย Marvel เรื่อง Wanda Vision and The Falcon and The Winter Solder และค่าย Amazon เรื่อง Lord of the Rings แค่ OTT

4 เจ้ายักษ์ใหญ่นี้น่าจะ ครอบงำ โลกทั้งโลกด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศด้วย ด้วยแนววิเคราะห์ง่ายๆ คือ ทั้งหมดคือพลัง Soft power ที่ใครๆ ก็ยอมรับว่าทรงพลัง

พลังของ K Pop ครอบงำไปทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งสหราชอาณาจักร

ผมยกตัวอย่างสหราชอาณาจักรก็เพื่อชี้ว่า แม้แต่สังคมอนุรักษนิยมที่เคยแผ่อำนาจในนามของจักรวรรดินิยมทั่วโลก มีวัฒนธรรมหลักของโลกยาวนานช่วงระยะเวลาหนึ่ง ยังตั้งรับ K Pop แทบไม่ทัน

มีรายงานข่าวว่า ข้อมูลจาก Google Trends data เมื่อเดือนตุลาคม เข้า Google Korea-related topic มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน แล้วหากเข้าไปอ่านที่ Oxford English Dictionary คลื่น (wave) เกาหลีถึงจุดสุดยอดเหมือนกัน2

ไม่ใช่เพียงที่สหราชอาณาจักรเท่านั้น คลื่นเกาหลีแพร่ระบาดไปทั่วโลก เราไม่ควรลืมว่า Parasite หนังเกาหลีก็ได้รางวัลชนะเลิศจากออสก้าไม่นานนี่เอง ดังนั้น คลื่นเกาหลีคงไม่ม้วนกลับหรือตกต่ำง่ายๆ อย่างที่คิด ซึ่งก็ไม่ใช่เนื่องจากเทคโนโลยีและดิจิตอล สาระอยู่ที่เนื้อหา หรือที่หลายคนเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Content

คร่าวๆ เราลองดูเนื้อหา อาจกล่าวได้ว่า ดราม่าหรือหนังเกาหลีให้ความบันเทิง และพวกเขายังมีบางสิ่งที่หลายคนเรียกว่า unique อันสามารถสั่นสะเทือนอารมณ์ร่วมกับผู้คนทั่วโลก มีบางคนวิเคราะห์ สิ่งนี้คือประชาชนสามารถสัมพันธ์โดยผ่านบุคลิกของผู้คน

ดราม่าและซีรีส์เกาหลี ส่งสาร สุดขั้ว และผมคิดว่า สะท้อนว่าอะไรเกิดขึ้นตอนนี้

ดังนั้น จึงเป็นการดีที่เราสามารถเห็นสิ่งต่างๆ และเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน

 

บริบทสังคมไทย

ขอกลับไปที่วัฒนธรรมดั้งเดิมแห่งชาติ ที่หยิบยกกันขึ้นมา ผมคาดว่า เหตุที่หยิบยกวัฒนธรรมดั้งเดิมแห่งชาติขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจว่า ยุคสมัยดิจิตอลก่อผลอย่างไร หรือท้าทายต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติมากน้อยแค่ไหน ผมไม่อาจรู้และตอบคำถามไม่ได้

แต่น่าสนใจบริบทสังคมไทย เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายบ้านเราเตือนว่า กลัวคนดูจะเลียนแบบหนังเรื่อง Squid Game ที่มีฉากความรุนแรง ซึ่งมีจริง

ผมสงสัยว่า แล้วที่คนทั่วโลกตั้งหน้าตั้งตาดู เขาดูความรุนแรงด้วยความบันเทิงหรือ ใน Squid Game มีเรื่องความพยายามเอาชีวิตรอดของคนเกาหลี ซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยอย่างที่คนชาติอื่นๆ คาดคิด เกาหลีเพิ่งเจริญ (แต่เจริญรวดเร็ว) เมื่อปลายทศวรรษ 1970 นี่เอง สังคมเกาหลีเป็นสังคมแห่งการแก่งแย่งแข่งขัน คนเกาหลีต้องชนะ ต้องเหนือกว่าคนอื่นๆ เรื่องราวของ Squid Game สะท้อนความจริงมากกว่าและตรงไปตรงมา มีเรื่องด้านมืดของวงการและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องจริง

ตรงนี้ ผมคิดว่า Squid Game แสดงความต่างตรงไปตรงมาต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติ ของเกาหลี และคงสะใจคนดูที่จินตนาการว่า ช่างเหมือนบ้านของเขาด้วย

เราไม่ควรเสียเวลาสงสัยยุคสมัยดิจิตอลและโลกหลังโรคระบาดโควิด-19 อีกแล้ว ความสำเร็จของ OTT เป็นความสำเร็จท้าทายวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติทุกๆ ชาติแล้ว

 

Oh LALISA !

ขอขอบคุณซีรีส์ Squid Game และหนังเรื่อง Parasite ที่มาก่อนกาลโดยช่วยปูทางความเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ให้ประชาคมโลก

ขอขอบคุณลลิษาที่เธอเป็นคนไทยที่กล้าหาญเป็นพิเศษ เธอท้าทายวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติ โดยเฉพาะชาติไทย แต่เธอไม่ได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยเพราะสวมชฎาแล้วสวย แต่สวมชฎาแล้วเท่ จะเป็นอะไรไหม หากเธอเต้นๆ และเต้น แต่ยากจนแสนสาหัส คงไม่มีชนชั้นนำไทยเอ่ยถึงเธอ เหมือนที่ไม่นับไทเกอร์ วู้ด นักกอล์ฟชาวไทย-อเมริกันซึ่งพูดไทยไม่ได้ แต่เป็นแชมป์กอล์ฟระดับโลก ถ้าไทเกอร์ วู้ด เป็นอเมริกันผิวเข้มเสิร์ฟอาหาร น้ำชากาแฟอยู่ร้านกาแฟในเมืองบ้านนอกสหรัฐสักแห่ง ชนชั้นนำไทยคงไม่ไยดีข้าวนอกนาอย่างเขา

ชนชั้นนำไทยฉกฉวยความเด่นดังของเขาเพื่อประโยชน์เสมอมา ชอบเคลมความเป็นไทย เพื่อผลเฉพาะหน้าเสมอมา

ท่ามกลางโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐเรื่องการท่องเที่ยวและเปิดประเทศ รัฐไทยแสดงความฉลาดด้วยการดึงพรีเซ็นเตอร์ ลลิษาให้ไปเต้นที่บนสะพานสารสิน จังหวัดภูเก็ตด้วย ตามที่พวกเขาบอกว่า ใช้เงิน 200 ล้านบาท แล้วเชื่อว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกจะมั่นใจประเทศไทย คนไทยจะได้ลืมทุกข์เข็ญที่ผ่านมา

สงสารคนไทยจริงๆ ไม่รู้จะเต้นไปร้องไห้ไป รอว่าเมื่อไรเราชนะกับเขาบ้าง คงมีคนภูเก็ตแห่กันไปชมลลิษาเต้น แต่อาจดูอยู่หลังแถวที่นั่งไฮโซมั่ง

ผมกลับเห็นว่า ทุกจังหวะของท่าเต้นของลลิษา เธอเป็นยิ่งกว่า K-POP เธอคือตัวแทนพลังเยาวชน ตัวแทนแห่งความเปลี่ยนแปลง

ผมยังไม่ได้ยินเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายบ้านเราพูดอะไร ชนชั้นนำไม่กลัวแรงกระแทงจากท่าเต้นของลลิษาหรือ ทั้งๆ ที่ท่าเต้นของเธอ เยาวชนไทยเต้นส่งศพที่ตายไปเมื่อ 48 ปีที่แล้วในเหตุการณ์ตุลาคม 2519 ก่อนหน้านั้น เยาวชนไทย กลุ่มทะลุฟ้าใช้ท่าเต้นลลิษาสยบ คฝ.มาแล้ว เพื่อแสดงสันติวิธีอย่างที่สุดของพวกเธอ

แน่นอน ลลิษาไม่มีฝักฝ่ายในการเมืองไทย เธอเป็นตัวแทนเยาวชนผู้เปลี่ยนแปลงโลก จากวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติ

Oh LALISA!

1Manish Pandey, “Squid Game knocks Bridgerton off Netflix top spot” BBC News 14 October 2021

2″Why is Squid Game so popular?” BBC News 15 October 2021