คำ ผกา | จนแต่นึกว่ารวย โง่แต่นึกว่าฉลาด

คำ ผกา

มีเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่กลายเป็นประเด็นในวงสนทนาของผู้คนอยู่แค่พอประมาณคือเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า อาจเป็นเพราะรถไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นมีแค่กรุงเทพมหานครที่วาสนาดีพอที่จะมี ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ไม่แม้แต่จะจินตนาการถึงความสำเร็จในการสร้างระบบขนส่งมวลชนของตนเอง ทั้งๆ ที่เป็นเมืองและจังหวัดอันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อาจจะไม่เท่ากรุงเทพฯ แต่ก็ใหญ่พอที่จะมีส่วนในจีดีพีของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรฯ ระยอง ชลบุรี ฯลฯ

เพื่อไม่ให้ประเด็นในคอลัมน์ชิ้นนี้ออกทะเลไปเสียก่อน ก็จะพักเรื่องที่ว่าทำไม “หัวเมือง” ของเราไม่มีขนส่งมวลชนสาธารณะเสียที และไม่ได้เกิดจากท้องถิ่นไม่พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะมีด้วย

พูดอีกอย่างได้ว่า ท้องถิ่นน่ะ มีศักยภาพที่จะสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดี และดีกว่ากรุงเทพฯ มาตั้งนานแล้ว แต่โดนสกัดดาวรุ่งไม่เกิดตลอด

ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า อีระบบรัฐราชการวมศูนย์ไทยนี้มันจะอะไรนักหนากับการที่ทนเห็นท้องถิ่นพัฒนา มีความสุขความเจริญ

เห็นต่างจังหวัดดีกว่ากรุงเทพฯ แล้วอกจะแตกตายหรืออย่างไรก็ไม่รู้ได้

 

กลับมาที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ เป็นที่ร่ำลือกันมานานว่าแพง แพงเหลือเกิน

จนล่าสุดที่มีการประกาศราคาค่ารถไฟฟ้า สถานีคูคต-สมุทรปราการ เป็น 104 บาทตลอดสาย และถูกศาลปกครองสั่งให้เลื่อนการขึ้นราคาออกไปก่อนนั้นก็ทำให้ประเด็นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ากลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง

เวลาดูว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงหรือไม่นั้นเราไม่ได้ดูที่ตัวเลขราคา แต่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชากรในประเทศหรือในเมืองนั้น

พอดูอย่างนี้แล้วจะเห็นว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ นั้นคิดเป็นร้อยละ 26-28% ของรายได้ขั้นต่ำ ในต่างประเทศจะอยู่ที่ 3-5% ของรายได้ขั้นต่ำเท่านั้น

ทีนี้พอมีข้อมูลออกมาว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ แพงที่สุดในโลก คิดเป็นเกือบร้อยละสามสิบของรายได้ขั้นต่ำ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาสำแดงความรอบรู้ โง่แล้วคิดว่าตัวเองฉลาด โต้แย้งว่า “ก็แหงล่ะสิ รถไฟฟ้าเขาไม่ได้มีไว้ให้คนจำพวกได้ค่าแรงวันสามร้อยบาทนั่ง เขามีไว้ให้คนที่กำลังทรัพย์กำลังซื้อนั่ง ไม่มีปัญญาขึ้นก็ไม่ต้องมาบ่น”

คนเหล่านี้จะโง่จริงหรือโง่ปลอมก็ไม่อาจรู้ได้ แต่ทำให้ฉันตระหนักว่าในประเทศนี้มีคนที่จนที่ไม่รู้ตัวว่า “จน” อยู่เยอะมาก

และมีคนที่สามารถ “รวย” ได้มากกว่านี้ แต่ไม่รวยเพราะถูกโครงสร้างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ กดไว้ไม่ให้รวย

นอกจากถูกกดไว้ไม่รวย ยังถูกล้างสมองให้เข้าใจว่าตนเองทั้งรวยและฉลาด ทั้งๆ ที่ถูกทำให้โง่อย่างต่อเนื่อง

คนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนจน และคนที่โง่ แต่ไม่รู้ตัวว่าโง่ในประเทศไทยนี่คือคนที่คิดว่าตนเองเป็น “คนชั้นกลาง” นั่นเอง

คําที่ถูกแปลมาเป็นภาษาไทยว่า “มวลชน” ในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานนั้นมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า public ซึ่งไม่มีอะไรใกล้เคียงกับคำว่า “มวลชน” เลยแม้แต่น้อย เพราะคำว่า mass ต่างหากที่แปลว่า “มวลชน”

จึงไม่ต้องแปลกใจที่คน “รุ่นใหม่” เลือกจะทับศัพท์คำว่า mass เมื่อจะสื่อสารถึงความหมายที่ตรงกับคำจริงๆ เช่น “เดี๋ยวนี้คำผกาแมสแล้ว” แปลว่าคำผกาเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว

จึงมีคนพยายามใช้คำว่า “ขนส่งสาธารณะ” แทนคำว่า “ขนส่งมวลชน” เพราะตรงกับคำว่า public transportation มากกว่า

อีกคำหนึ่งที่ไม่เคย “แมส” ในสังคมไทยเลย – และสะท้อนความสำเร็จในการสกัดกั้นไอเดียที่ว่ารัฐมีหน้าที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะให้ประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด คือคำว่า public housing ที่พอแปลเป็นภาษาไทยแล้ว กลายเป็น การเคหะแห่งชาติ, เคหะชุมชน, บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ ที่สุดท้ายไม่ได้สะท้อนหน้าที่ของรัฐที่พึงมี พึงรับผิดชอบต่อสังคม แต่ไปสะท้อนภาพประชาชนที่ต้องรอคอยความ “อาทร” หรือการ “สงเคราะห์” จากรัฐแทน

คำว่า “สาธารณะ” นั้นเป็นถ้อยคำที่มาพร้อมกับแนวคิดประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และเราคงคุ้นเคยกับคำว่า “พื้นที่สาธารณะ” กันบ้าง และน่าจะพอเดาออกว่าถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่สาธารณะ”

คำว่าสาธารณะเป็นประจักษ์พยานของการมี “ส่วนร่วม” และการใช้ทรัพยากรบางอย่างร่วมกันของคนในสังคมและไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็น “เจ้าของ” แต่เพียงผู้เดียว

ถ้าเราจะมีสวนสาธารณะ ก็แปลว่า สวนนั้นเป็น “สมบัติ” ร่วมของทุกคน สร้างและดูแลจากเงินภาษีของประชาชนทุกคน ดังนั้น ไม่มีใครสามารถมาเคลมความเป็นเจ้าของหรือลำเลิกบุญคุณใดๆ ทั้งสิ้น

การเฉลิมฉลองการประกาศเอกราช หรือการฉลองวันชาติของหลายๆ ประเทศหลังจากปลดแอกตนเองจากการเป็นไพร่ เป็นทาส จากระบบการปกครองที่มีคนเพียงกลุ่มเดียวอ้างว่าตนเองเป็น “เจ้าเมือง” และเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองรวมถึงเป็น “เจ้าชีวิต” ของคนในเมือง จึงมักออกมาฉลองพร้อมสถาปนาพื้นที่สาธารณะ ป่าวประกาศว่าสวนนี้เป็นของประชาชน ถนนนี้ก็ของประชาชน แม่น้ำนี้ก็ของประชาชน

งานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยหลัง 2475 ใหม่ๆ ก่อนคณะราษฎรหมดอำนาจก็เป็นเช่นนั้น มีนัยของการสถาปนาพื้นที่สาธารณะ ให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่นี้เป็นของพวกเราร่วมกัน

เราสามารถออกมาร้องรำทำเพลง มีเวทีประกวดนางงาม ประกวดชายงาม ประกวดแม่ลูกดก มีดนตรี มีจุดพลุ เป็นงานสังสันทน์ รื่นเริงที่ปวงประชาออกมาสนุกสนาน แต่งตัวสวยๆ งามๆ เป็นการประกาศว่านี่คือบ้านเมืองของเรา เราเป็นเจ้าของ เรามีสิทธิ์ เรามีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เราที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ห้ามมองหน้า ห้ามสบตา ทำตัวลีบๆ เจียมๆ เพราะกลัวว่าการปรากฏตัวของเราจะไปเกะกะลูกกะตาใครในทำนองว่า “ทะลึ่ง”

ในสังคมประชาธิปไตย หากใครมีความไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจผู้นำประเทศก็มาสามารถเปิดปราศรัยในพื้นที่สาธารณะ หรือออกมาชุมนุมประท้วงบนพื้นที่ “สาธารณะ” ได้

ดังนั้น ประเทศที่ประชาชนออกมาชุมนุมในที่สาธารณะโดยปราศจากอาวุธ แล้วถูกจับจึงเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าประเทศนั้นไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย

กลับมาที่คำว่า ขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่คำว่า สาธารณะเคหะ หรือ public housing ที่พอแปลเป็นภาษาไทยแล้วคำว่าสาธารณะถูกเปลี่ยนเป็นคำว่า “มวลชน” ซึ่งฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาเลือกใช้คำว่า “มวลชน” แทน ส่วนคำว่า public housing กลายเป็นคำว่า การเคหะแห่งชาติ ที่ภายหลังคำว่า “ชาติ” กลายความเป็น “ราชการ” มากกว่าจะหมายถึงการเคหะเพื่อประชาชนไทยหรือการเคหะเพื่อราษฎร

เมื่อคำว่า public ถูกทำให้หายไปจากสำนึกของคนไทยในมิติแห่งการเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของพื้นที่ เจ้าของเงินภาษี และเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองที่ผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของเราเข้าไปทำงานในฐานะรัฐบาลมีหน้าที่บริหารทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันหมายถึงประโยชน์ “กองกลาง” สำหรับคนไทยทุกคนที่จะใช้สอยสิ่งนั้นร่วมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือจ่ายก็ต้องจ่ายน้อยที่สุด เพราะเราเสียภาษีไปแล้ว – นัยเช่นนี้หายไปโดยสิ้นเชิง แล้วก็จะมีไอ้ อีบ้าๆ บอๆ มาอ้างมาเคลมว่า “รัฐบาลกำลังช่วยเหลือประชาชนทุกคนอยู่ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทุกคนก็เดือดร้อนเหมือนกันหมดแหละ รัฐบาลก็พยายามจะช่วยเหลือ แต่จะให้ทันใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ บลา บลา บลา”

ได้ยินทีไรก็อยากจะตะโกนว่า “กูจ่ายเงินเดือนให้มึงมาทำงานให้กู ไม่ใช่มาช่วยเหลือกูแล้วทวงบุญคุณ ทำไม่ได้หรือไม่อยากทำก็ออกไป ไอ้สัส”

กลับมาที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในขนส่งสาธารณะ นั่นแปลว่าการออกแบบรถไฟฟ้า และการคำนวณราคารถไฟฟ้าจะต้องไม่ถูกแยกออกจากบริหารขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่มีอยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถราง และที่สำคัญ หัวใจของการทำขนส่งสาธารณะคือ ทำอย่างไรให้คนในเมืองไม่ว่าจะยากดีมีจน รวยล้นฟ้าแค่ไหน เมื่อมาใช้ “ขนส่งสาธารณะ” ทุกคน “เท่ากัน” อันหมายความว่าทุกคนต้องได้รับการบริการในมาตรฐานที่พลเมืองที่มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งความสง่างามในฐานะเจ้าของประเทศทุกประการ ไม่เป็นอื่น

ในประเทศอื่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้า บนดิน ใต้ดิน ค่าโดยสารรถเมล์ จึงมีราคาไม่แตกต่างกัน ความ “สะดวกสบาย” ไม่ได้วัดกันที่แอร์เย็นเจี๊ยบ หรือรถใหม่มากๆ เพียงอย่างเดียว แต่ความสะดวกสบายหมายถึงการออกแบบการเชื่อมต่อของทุกการขนส่งให้ลื่นไหลไม่ติดขัด ปั่นจักรยานออกจากบ้าน มาจอดจักรยานตรงนี้ ขึ้นรถเมล์ตรงนี้ ต่อรถไฟใต้ดินตรงนี้ ขึ้นจากใต้ดิน เดินต่อในทางเดินใต้ดินนั่นแหละ ไม่ตากแดดตากฝน ในทางเดินใต้ดิน มีร้านขายอาหารสะดวกกิน ราคาถูก มีร้านกาแฟ ฯลฯ ขึ้นไปที่ทางออกนี้ เจอที่ทำงานพอดี

นี่คือความหมายของขนส่งสาธารณะ

ส่วนราคานั้นก็ต้องทำให้ได้สัดส่วนกับรายได้ของประชากรที่ใช้บริการ โดยเอารายได้ “ต่ำสุด” เป็นเกณฑ์ ว่าคนที่มีรายได้ต่ำสุดของเมือง หากขึ้นรถสาธารณะแล้วก็ยังไม่เดือดร้อน

ส่วนใครจะบริหารการโดยสารสาธารณะตัวเองให้มีเงินเหลือมากกว่าเดิม ก็ถือเป็นกำไร

เช่น ฉันมีค่าแรงสามร้อยบาทต่อวัน ค่ารถไฟฟ้าเที่ยวละสิบบาท สองเที่ยวยี่สิบ แต่ฉันเลือกปั่นจักรยาน เพื่อจะมีเงินเหลือไปทำอย่างอื่นวันละยี่สิบบาท ก็เป็นเรื่องของฉัน และนั่นแปลว่า ทางจักรยานที่ใช้งานได้จริงก็เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำให้ประชาชนด้วยเช่นกัน

หรือฉันมีเงินเดือนสองหมื่นห้า ขึ้นรถไฟฟ้าวันละยี่สิบ แทนที่จะเป็นวันละสองร้อย คิดดูว่าฉันจะมีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่นอีกเท่าไหร่ มีเงินเหลือมากขึ้นก็ดีกว่าไม่เหลือเพราะต้องเอาไปจ่ายค่ารถไม่ใช่หรือ แล้วอย่าลืมว่าฉันจ่ายภาษีไปแล้วด้วย ภาษีนั้นต้องถูกนำไปใช้เพื่อ “ประโยชน์สุข” ของผู้เสียภาษี – เรียบง่ายแค่นี้แหละ

ไม่ใช่เอะอะ กูต้องควักกระเป๋าจ่าย จ่ายไปเสียทุกสิ่งในทุกลมหายใจ แล้วเมื่อไหร่กูจะลืมตาอ้าปากได้

ทำยังไงจะให้ราคาค่าโดยสารถูกและไม่ขาดทุน ประเทศที่เขามีสติปัญญาปกติ และมีการเมืองเป็นประชาธิปไตยปกติ ไม่มีปรสิตเสือนอนกินมาสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน ไม่ต้องฉลาดเป็นพิเศษเขาบริหารได้ทั้งนั้นแหละ

วันนี้ให้เทศบาลขอนแก่น ยะลาทำ แล้วไม่ไปขัดขาเขา เขาจะทำให้ดูภายในสามเดือนหกเดือน

 

ส่วนไอ้ อีที่บอกว่า รถไฟฟ้าไม่ได้มีให้คนจนขึ้น ฉันอยากจะบอกว่า พวกมึงแหละคนจนตัวจริง

จนไม่พอยังเสือกโง่ เพราะมึงไม่เคยรู้ว่า ทรัพย์สินเงินเดือนพวกมึงสามารถมีได้มากกว่านี้ เหลือได้มากกว่านี้ ที่จะให้พวกมึงเอาไว้ใช้เพื่อเติมความฉลาดให้กับชีวิต

แต่มึงไม่มี และมึงก็ไม่รวย แต่เสือกคิดว่าการนั่งรถไฟฟ้า กินชาบูร้านโมโม่ กินกาแฟสตาร์บัคส์ ซื้อแก้วร้านกาแฟสะสมได้คือ สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นคนรวย เป็นคนมีอันจะกิน เป็นคนชั้นกลาง จึงรู้สึกรำคาญที่มีคนมาโวยวายเรื่องรถไฟฟ้าราคาแพง

ก็ไม่มีอะไรจะบอกคนพวกนี้ นอกจากจะถุยคำว่าอีดักดานใส่หน้า และขอให้มึงจนแถมโง่เป็นทาสแต่นึกว่าเป็นญาติคนชั้นสูงต่อไปไปชั่วกาลนาน