รัฐตีปี๊บ เอกชนรัวกลอง เปิดรับ 52 ประเทศเสี่ยงต่ำ ลุ้นตัวโก่ง ลบคำปรามาส ‘โควิด เอาอยู่’/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

รัฐตีปี๊บ เอกชนรัวกลอง

เปิดรับ 52 ประเทศเสี่ยงต่ำ

ลุ้นตัวโก่ง ลบคำปรามาส ‘โควิด เอาอยู่’

 

เริ่มนับถอยหลัง…หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ภาคธุรกิจต่างออกมาขานรับ ประกาศเห็นด้วยทันที แม้สถานการณ์ภายในประเทศยังไม่คลี่คลายเท่าที่อยากเห็น ทั้งเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังทรงตัวหลักหมื่นต่อวัน กำลังซื้อในประเทศฝืดทั่วประเทศ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งปัญหายิบย่อยอีกมากมาย ทั้งอากาศแปรปรวน และเสถียรภาพทางการเมือง แต่ความหวังของทุกคนคือ หวังเปิดประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยให้เศรษฐกิจไทยเกิดเงินสะพัดในระบบและคึกคักอีกครั้ง

ดังนั้น ขณะนี้จะเห็นการตื่นตัวของทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนเร่งเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงนักลงทุนต่างชาติอย่างขมีขมัน ทั้งจี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายและจูงใจท่องเที่ยวแบบอัดแน่น แต่ลึกๆ แล้วทุกคนยังหวั่นวิตก “โควิด-19 ระบาดรอบใหม่” จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ!!

วันนี้จึงขอเสนอเสียงสะท้อนภาคเอกชนผ่านประธานหอการค้าไทยทุกภาค

 

กดปุ่มเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน ตรงกับช่วงฤดูหนาวในไทย จังหวัดทางภาคเหนือจึงเป็นไฮไลต์ชวนเที่ยวได้อย่างดี นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนยังไม่ได้ใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกันมากนัก วัดได้จากสิทธิในการจองที่พัก ถูกใช้ไปเพียง 4 แสนสิทธิ จากช่วงระยะที่เปิดใช้สิทธิวันที่ 8-16 ตุลาคมนี้

เขาชี้ถึงปัจจัยจาก

1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

2. มีข้อกำหนดให้สำหรับคนที่เดินทางเข้าพัก ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขของกรมควบคุมโรค ที่ต้องได้รับวัคซีนตามที่กำหนด หรือเอทีเคที่ได้รับการรับรองจากสถานพยาบาลของรัฐ

3. ภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้อใช้จ่าย

4. การเดินทางยังไม่สะดวกและครอบคลุมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะสายการบินที่ยังไม่ได้กำหนดตารางบินที่ชัดเจน

และ 5. นักเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่วางแผนเดินทางล่วงหน้าแค่ระยะสั้นๆ 1-2 เดือน จากเดิมล่วงหน้า 3-6 เดือน ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข และทำให้ประชาชนเชื่อมั่นที่จะใช้เงินและท่องเที่ยว

 

อีกภาค นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เห็นว่า ช่วงเวลาที่ยังเหลือก่อนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

เรื่องแรก ที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการคือ เร่งฉีดวัคซีนให้ถึง 70% หรืออย่างน้อยต้องทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

เรื่องที่สอง รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากเปิดเมือง และเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้กลับมาเร็วๆ นี้ แม้หวังจำนวนนักท่องเที่ยวมาล่อเลี้ยงผู้ประกอบการช่วงนี้ รัฐบาลต้องเร่งออกแคมเปญหรือออกมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แม้นำกลับมาใช้และเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว อาจยังไม่เพียงพอต่อการจูงใจที่เราต้องแข่งขันกับนานาชาติ

อีกด้านคือ ผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ก็ต้องใช้เวลาฟื้นกิจการ ทั้งเรียกพนักงานกลับมาทำงาน ที่สำคัญต้องมีทุนสภาพคล่องที่ยังเป็นปัญหาของกลุ่มเอสเอ็มอี อีกเรื่องสำคัญไม่แพ้เปิดประเทศที่รัฐบาลต้องรีบทำ โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นแม่งานหลัก

 

ขณะเดียวกัน นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ในภาวการณ์เช่นนี้ การเปิดประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็น ปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆ มีความพร้อมแล้ว แต่ปัญหาอุปสรรคหลักยังเป็นเรื่องของการเข้าถึงวัคซีน และการเข้าถึงแหล่งเงิน อยากให้รัฐเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะช่วงวันหยุดยาวอาจจะช่วยเพิ่มเงินให้กับธุรกิจไม่ได้มาก จึงอยากให้รัฐช่วยเหลือในเรื่องของสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ต่อไป

เขาระบุว่า ถึงปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคอีสานนั้น ภาพรวมยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคมากนัก แม้มีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จ.ชัยภูมิ และนครราชสีมา เป็นต้น

ตอนนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเบนเข็มเรื่องของการตรวจหาโควิด-19 เชิงรุก โดยต้องการจบปัญหานี้ เพื่อเรียกความมั่นใจของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็ว หากได้รับการจัดสรรวัคซีนในเร็วๆ นี้ เชื่อว่าจะครอบคลุมคนในพื้นที่ต่อไป

 

อีกภาค นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าในการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ มีความเป็นไปได้เพราะช่วงเดือนตุลาคมนี้ วัคซีนเริ่มทยอยเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่อยากเสนอถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังมีอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐ และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แยกเป็นสินเชื่อฟื้นฟู ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และสินเชื่อพักชำระหนี้ ประมาณ 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันยังเดินหน้าไม่ถึงไหนเลย อย่างเช่น สินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติไปเพียง 1 แสนล้านบาท หรือนุมัติไปเพียง 46% ส่วนสินเชื่อพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติไปเพียง 1.6 พันล้านบาท

ดังนั้น หากรัฐบาลเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินเหล่านี้ ก็จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเดินหน้าได้ต่อไป อีกทั้งอยากขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือกระทรวงการคลัง ลงมาดูปัญหาที่ยังติดขัด หรือข้อจำกัดของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถปล่อยเงินให้กับผู้ประกอบการได้ แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาดี แต่เข้าถึงได้ยาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะส่งผลถึงธุรกิจในอนาคตได้ เพราะในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานี้ หลายธุรกิจไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย

ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเร่งช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินโดยเร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ปิดท้ายด้วยความเห็นจากภาคธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศในครั้งนี้ อย่างนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เห็นว่า ภายหลังที่ ศบค.ประกาศคลายล็อกดาวน์ลดระยะเวลาเคอร์ฟิว จาก 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-03.00 น. เริ่มปฏิบัติ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้ร้านอาหารสามารถได้กลับมาเปิดให้บริการได้ถึงเวลา 22.00 น. โดยเป็นไปตามที่ภาคธุรกิจได้เสนอขอไปทางรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันเริ่มเห็นบรรยากาศร้านอาหารคึกคักมากขึ้น

แต่ยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะยังติดเรื่องฝนตก ทำให้ร้านค้ากลุ่มสตรีตฟู้ดยังไม่สามารถขายได้แบบปกติมากนัก แม้จะขยายเวลาเปิดขายให้แล้วก็ตาม

คงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงปลายปี 2564 หรือวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่รัฐบาลเตรียมคลายล็อกให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เมื่อถึงเวลานั้นช่วยกระตุ้นให้ประชาชนออกมานั่งร้านอาหารมากขึ้นต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล เพื่อลดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

แม้ว่าเอกชนจะเห็นด้วยกับการเปิดประเทศ ที่เป้าหมายเล็งเปิดเสรีเข้ามาจาก 52 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ปัญหาที่ยังล้นมือภาครัฐอีกมาก เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า รัฐจะสามารถอ้าแขนเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสวยงาม หรือต้องมือเป็นระวิงตามแก้ปัญหาซ้ำซากอย่างที่ทำมาตลอด 2 ปี