จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : เสียกรุง / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

“คําให้การครั้งกรุงเก่า” กล่าวถึงอาเพศก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ไว้ดังนี้

“เมื่อใกล้จะเสียพระนครศรีอยุธยานั้นเกิดลางร้ายต่างๆ คือ พระพุทธปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหล พระพุทธปฏิมากรติโลกนาถซึ่งแกะด้วยไม้พระศรีมหาโพธินั้นพระทรวงแยกออกเปนสองภาค พระพุทธปฏิมากรทองคำเท่าตัวคน แลพระพุทธสุรินทร์ซึ่งหล่อด้วยนาคอันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระราชวังนั้น มีพระฉวีเศร้าหมอง พระเนตรทั้งสองหลุดหล่นลงอยู่บนพระหัตถ์ มีกาสองตัวตีกัน ตัวหนึ่งบินโผลงตรงยอดเหมฉัตรเจดีย์ที่วัดพระธาตุ อกสวมลงตรงยอดพระเจดีย์เหมือนดังคนจับเสียบไว้ เทวรูปพระนเรศวรนั้นมีน้ำพระเนตรไหลแลเปล่งศัพทสำเนียงเสียงอันดัง อสนีบาตตกลงหลายครั้งหลายหน”

แม้ลางบอกเหตุจะปรากฏให้รู้ล่วงหน้า ก็มิอาจหยุดยั้งอวสานแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์บทกวีชื่อ “อยุธยา” ไว้ตอนหนึ่งว่า

“อยุธยาพินาศแล้ว          ในไฟ พม่านอ

สมบัติของชาติไทย         ป่นปี้

ปรางค์ปราสาทบรรลัย    วิปโยค

กรุงเก่ามอดไหม้นี้         ชาติแม้นมลายสูญ”

 

ความเจ็บช้ำน้ำใจอันเกิดจากน้ำมือพม่าในครั้งกระนั้นฝังลึกในจิตวิญญาณของกวี หลวงจักรปาณี (ฤกษ์) ได้พรรณนาไว้ใน “นิราศทวาราวดี” ว่า

“พิไรพลางทางมุ่งดูกรุงเก่า        ให้แสนเศร้าโศกในฤทัยสลด

ดูภูมิฐานบ้านเมืองรุ่งเรืองยศ     ควรหรือลดมาเป็นป่าน่าเสียดาย

ดูวัดวาอารามงามสล้าง            บ้างรกร้างโรยราน่าใจหาย”

 

เช่นเดียวกับสุนทรภู่ สมัยยังหนุ่มเดินทางผ่านกรุงศรีอยุธยา ซากปรักหักพังรกร้างของอดีตอันโอฬารทำให้สะท้อนใจนัก ดังที่บรรยายไว้ใน “นิราศพระบาท” ว่า

“น่าใจหายเห็นศรีอยุธยา

ทั้งวังหลวงวังหลังก็รั้งรก      เห็นนกหกซ้อแซ้บนพฤกษา

ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา    ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน”

 

สุนทรภู่ถึงกับปรารภด้วยความคับแค้นใจว่า

 

“กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก                     ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้

ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย                 โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย”

 

พระยาไชยวิชิต (เผือก) (กวีที่สุนทรภู่คุ้นเคยและเอ่ยถึงในนิราศภูเขาทองว่า ‘เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง’) ได้ให้รายละเอียดสภาพบ้านเมืองตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไว้ใน “ยอพระเกียรติ 3 รัชกาล” ดังนี้

 

“เมื่อถึงกาลบ้านเมืองจะย่อยยับ               มีทัพมาประชิดติดกรุงศรี

ศึกพม่ามาล้อมถึงสามปี                        ไม่มีแม่ทัพออกรับรอง

ด้วยขุนนางต่างคนก็ร้าวฉาน                   ไม่ร่วมคิดกิจการเปนเจ้าของ

สาละวนขนหาแต่เงินทอง                      มุ่งมองอิจฉากันท่าเดียว

เมื่อไม่มีสามัคคีรศรัก                          ถึงมากสักโกฏิแสนแม้นขับเคี่ยว

ไม่พร้อมมูลสมาคมกลมเกลียว               ก็เหมือนมีคนเดียวไม่ได้การ”

 

การขาดความร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขาดความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลทั้งๆ ที่ผู้คนมากมี อาวุธมากมาย เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนไทยสมัยนั้น

 

“ครั้นแต่งพวกอาสาออกฝ่าฟัน               แต่กองเดียวเท่านั้นเข้าหักหาญ

ไม่มีกองหนุนด้วยช่วยรบราญ                จะทนทานไปได้เท่าไรมี”

 

ในขณะที่ฝ่ายศัตรูนั้นตรงกันข้าม

 

“ทัพช่วยเข้ามาล้อมอ้อมโอบหลัง             ตีประดังบัดดลก็ป่นปี้

บรรดาคนที่อยู่ในบุรี                           ก็ดูเล่นเช่นนี้ทุกทีมา

อันทแกล้วทหารการยุทธ                     เครื่องศาสตราอาวุธก็หนักหนา

ผู้คนหล่นกลาดดาษดา                        ไม่น่าจะแตกตายพรายพลัด

เหมือนไม่มีผู้ใหญ่ใช้สอย                      แต่ผู้น้อยฤๅจะรับทัพกระษัตร

แม้เสนาบดีที่ชงัด                              กับต่างกรมระดมตัดเสียแต่ไกล

ทัพพม่าก็จะล่าเลิกหนี                        จะเหยียบชานบุรีที่ไหนได้

ไม่ควรจะละเลยเฉยไว้                        นิ่งให้มาทำถึงกำแพง”

 

น.ม.ส. หรือพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงวิเคราะห์ตีความตามพงศาวดารถึงสาเหตุสำคัญของการเสียกรุง ไทยเสียเอกราชตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเมื่อ พ.ศ.2310 ว่ามาจาก ‘ไทยไม่ปลงใจกัน ยืนยันรับสัปรยุทธ์ สุดยำเกรงไพรี’ นั่นคือ คนไทยแตกความสามัคคี ไม่ร่วมใจกันสู้รบ เอาแต่หวั่นเกรงศัตรู ดังที่ทรงบรรยายไว้ในเรื่อง “สามกรุง”

 

“มัวแต่เพลิดเพลินใจ              ในการแข่งแย่งอำนาจ                     เวียนวิวาทกันเอง

ความโฉงเฉงมิรู้หมด              ความออมอดมิรู้มี…….                    ชำรุดทางปัญญา

ชำรุดสามัคคี                       มีแต่มืดมัวตา                              อวิชชาโชกชุ่ม

ไทยแตกกลุ่มแตกพวก           ดังไฟลวกเผาผลาญ…….                   เมื่อกลีกาลกรุ่นใกล้

ใครจะดีไม่ได้                      หั่นห้ามความดี ฯ”

 

สภาพของบ้านเมืองผู้คนที่สับสนวุ่นวาย แตกเป็นหลายกลุ่ม มุ่งแต่ทะเลาะวิวาท แย่งชิงความเป็นใหญ่ ใครดีกว่าต้องกำจัด นำไปสู่ ‘หายนะของชาติ’

“ไทยเอยเคยเพลี่ยงพล้ำ                      ลงเพราะ

เพลินวิวาทบาดทะเลาะ                             เบาะแว้ง

อย่าโกรธพิโรธเคราะห์                              คราวโชค ร้ายเลย

พึงโทษความโหดแห้ง                               หั่นห้ำกรรมเวร”

 

ไม่ใช่เพราะ ‘เคราะห์กรรม’ แต่เป็น ‘การกระทำ’ ของคนไทยที่ทำให้เสียบ้านเสียเมือง

 

อย่ามองข้ามอดีตที่เป็นครูสอนให้รู้ว่า ‘เมื่อใดคนในชาติแตกความสามัคคี เมื่อนั้นเท่ากับเผยจุดอ่อนหรือเปิดทางให้ศัตรูจู่โจมทำลายชาติจนพินาศ’ หนทางที่จะป้องกันมิให้เสียกรุงครั้งต่อไปจาก ‘สงครามธุรกิจการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ’ ก็คือ

“ไทยรวมกำลังตั้งมั่น                                  จะสามารถป้องกันขันแข็ง

ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรง                                   มายุทธ์แย้งก็จะปลาตไป

ขอแต่เพียงไทยเราอย่าผลาญญาติ                  ร่วมชาติร่วมจิตเป็นข้อใหญ่

ไทยอย่ามุ่งร้ายทำลายไทย                           จงพร้อมใจพร้อมกำลังระวังเมือง

ให้นานาภาษาเขานิยม                                ชมเกียรติยศฟูเฟื่อง

ช่วยกันบำรุงความรุ่งเรือง                            ให้ชื่อไทยกระเดื่องทั่วโลกา

ช่วยกันเต็มใจใฝ่ผดุง                                  บำรุงทั้งชาติศาสนา

ให้อยู่จนสิ้นดินฟ้า                                     วัฒนาเถิดไทยไชโย”

(บทละครร้องเรื่อง “พระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)