นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ศาสนากับการเมืองโดยเปรียบเทียบ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ศาสนากับการเมืองโดยเปรียบเทียบ

 

ศาสนาสำคัญสองศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีผู้นับถือจำนวนมากที่สุดคือพุทธศาสนาเถรวาทและอิสลาม แต่สองศาสนานี้ดูจะแตกต่างกันแบบขั้วตรงข้ามเลยทีเดียว ในแง่ความสัมพันธ์กับรัฐ

พุทธเถรวาทนั้นเป็นหรือเกือบเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับรัฐ ทั้งนี้ ในความหมายของคำสอนซึ่งถูกปรับให้สอดรับกับอำนาจรัฐ นักบวชและการศึกษาของนักบวชที่อบรมให้ไม่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐ ทรัพยากรของศาสนาซึ่งไม่เป็นอิสระจากรัฐอย่างเด็ดขาดนัก และการบริหารภายในขององค์กรซึ่งจะรวมศูนย์ได้ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนของรัฐ

ในขณะที่อิสลามในภูมิภาคเดียวกันนี้แตกต่างจากที่กล่าวเป็นตรงกันข้ามเลย หลักคำสอนของอิสลามเป็นหลักการอันแข็งแกร่งที่คอยตรวจสอบผู้ปกครองรัฐอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่โบราณแล้ว รัฐที่จัดการปกครองไม่ตรงกับคำสอนก็อาจถูก “ผู้รู้” ในศาสนาคัดค้านอย่างเปิดเผย (แต่แน่นอนว่า อะไรคือหลักคำสอนที่ถูกต้องอาจตีความต่างกันในแต่ละยุคสมัย และต่างกันในแต่ละสำนัก) ทรัพยากรทางศาสนา เช่น มัสยิด และทรัพย์สมบัติของมัสยิด ย่อมเป็นสมบัติของชุมชน ไม่ใช่ของหลวง แม้ว่าหลวงอาจช่วยสนับสนุนในการก่อสร้างด้วยก็ตาม การศึกษาอิสลามมีฐานอยู่ในหมู่บ้าน ไม่ใช่ในศูนย์กลางของรัฐ (ซึ่งก็ไม่ต่างจากพุทธในสมัยหนึ่ง) แต่บุคคลอาจศึกษาต่อจนเป็น “ผู้รู้” อาจทำหน้าที่เป็นครูศาสนาหรืออื่นๆ ในชุมชนมุสลิมได้ต่อไป เขาก็ต้องแสวงหาสำนักครูผู้มีชื่อเสียง ซึ่งอาจอยู่นอกหมู่บ้าน และหลายครั้งอาจอยู่นอกรัฐไปเลย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ องค์กรและการจัดองค์กรในศาสนาอิสลาม เป็นอิสระจากรัฐอย่างยิ่ง “ผู้รู้” ในศาสนาบางคนอาจมีเครือข่ายของตนเองข้ามประเทศกว้างไกลเลยทีเดียว เช่น มีครูผู้มีชื่อเสียงในเมกกะหรือเมดินาบางคน เป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จากชวาหรือปาตานี) ไปตั้งสำนักสอนที่นั่น และมีคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู้อุตส่าห์เดินทางไปเรียนในสำนักนั้นมาก อย่างน้อยก็พอจะพูดภาษามลายูกับครูได้ ก่อนที่จะคล่องภาษาอาหรับ

“นักวิชาการ” มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แข็งขืนต่ออำนาจรัฐมาก่อนนักเรียนอเมริกัน (ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย ฯลฯ) มานานแล้วล่ะครับ

อันที่จริง ความแตกต่างระหว่างพุทธเถรวาทและอิสลาม ไม่ได้มีเฉพาะในความสัมพันธ์กับรัฐในประวัติศาสตร์เท่านั้น แม้แต่การนำเอาศาสนาทั้งสองเข้าสู่ภูมิภาคนี้ก็แตกต่างกันตั้งแต่แรกแล้ว

เราไม่ทราบว่า พุทธเถรวาทเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้อย่างไรในระยะแรกๆ (เช่นที่ปรากฏในเมืองใหญ่ๆ ของทวารวดี) แต่ถ้าเปรียบเทียบกับมหายานของศรีวิชัย หลักฐานที่ยังเหลือตกทอดมาค่อนข้างจะส่อว่า ราชสำนักเป็นผู้ส่งเสริมให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตไปศึกษาศาสนาในอินเดีย เพราะแม้แต่มหาราชาแห่งศรีวิชัยยังพระราชทานทรัพย์ไปสร้างศาสนสถานในอินเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พุทธเถรวาทสำนักลังกาขยายเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ มีหลักฐานชัดเจนว่าพระภิกษุที่ไปบวชแปลงและศึกษาที่ลังกา ล้วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐทั้งสิ้น อย่าลืมว่า การเดินทางไปลังกาและจำพรรษาอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานๆ ย่อมเกินกำลังของสามัญชน และเมื่อเดินทางกลับมาแล้ว ก็ขยายพระธรรมวินัยของสำนักใหม่นี้ไปในประเทศได้ด้วยแรงอุดหนุนของราชสำนักอยู่ดี

ถ้าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็เป็นมอญ-พม่า ไม่ใช่ไทย, กัมพูชา หรือลาว เพราะเมืองท่าในหัวเมืองมอญเช่นเมืองพัน (เมาะตะมะ) หรือหงสาวดีของราชวงศ์มะกะโทหรือราชวงศ์ตองอู ต่างเป็นเมืองท่าสำคัญของการค้าในมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น การเดินทางไปลังกา จึงอาจทำได้ไม่ยากนักเพราะสำเภาค้าขาย (ทั้งของพื้นเมือง, อินเดีย และตะวันออกกลาง) ย่อมเข้าแวะเมืองท่าในพม่าล่างตลอดเวลา พวกมอญมีชื่อเป็นนักเดินเรือและพ่อค้าที่โด่งดังในแถบนี้มานานแล้ว ในมะละกา ก็มีชุมชนมอญตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองท่าใหญ่นี้

พม่าอาจเป็นประเทศเดียวที่องค์กรสงฆ์ไม่ถูกรวมศูนย์ และทำให้พระสงฆ์มีบทบาททางการเมืองที่เป็นอิสระจากรัฐได้สืบมา ตำราบางเล่มกล่าวว่า วัดในหมู่บ้านของพม่า เกิดจากความพยายามของพระภิกษุนักเผยแพร่บางรูป ที่นำพุทธศาสนาเข้าไปแทนที่ความเชื่อพื้นเมืองบางส่วนของชาวบ้าน เมื่อเกิดวัดขึ้นแล้ว ชาวบ้านก็ดูแลอุปถัมภ์พระต่อมาอย่างเป็นอิสระจากการควบคุมของส่วนกลาง

เราจะพูดอย่างนี้กับวัดในหมู่บ้านไทยก็อาจได้เหมือนกัน แต่รัฐอยุธยาพยายามจะควบคุมสงฆ์โดยการตั้ง “สังฆราช” (เทียบปัจจุบันคือเจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะภาค) ขึ้นดูแลสงฆ์ในอาณาบริเวณต่างๆ ในทางปฏิบัติจะคุมได้แค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มีโครงสร้างการควบคุมมาแต่โบราณแล้ว

ยิ่งมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 รัฐรัตนโกสินทร์ออกกฎหมายพระสงฆ์ และมีสมรรถนะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุมพระสงฆ์อย่างใกล้ชิด แต่อังกฤษซึ่งปกครองพม่าไม่สนใจจะทำอย่างเดียวกัน เป็นเหตุให้พระสงฆ์พม่าอาจแสดงบทบาททางการเมืองในการต่อต้านอังกฤษได้อย่างชัดเจน จนแม้เมื่อพม่าได้เอกราชแล้ว พระสงฆ์พม่าก็ยังไม่ได้ถูกรัฐควบคุมภายใต้โครงสร้างที่รวมศูนย์มากนัก และพระสงฆ์พม่าก็มีบทบาททางการเมืองอย่างที่ไม่อาจเห็นได้ในไทย

จนกระทั่งถึงประมาณช่วงปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าจึงพยายามเข้าไปควบคุมคณะสงฆ์อย่างรัดกุมขึ้น เรียกว่ากระบวนการ Mianmarization ขององค์กรสงฆ์ จนทำให้พระสงฆ์บางกลุ่มตกเป็นเครื่องมือทางนโยบายของกองทัพ เช่น การปลุกปั่นให้รังเกียจชาวมุสลิม ตอบสนองนโยบายของกองทัพในยะไข่

ผมได้ทราบจากผู้สื่อข่าวที่ไปทำงานในพม่าว่า อันที่จริงมีพระสงฆ์พม่าชั้นผู้ใหญ่อีกไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับพระวีรธูในการปลุกปั่นความเกลียดชังต่อมุสลิม แต่ไม่สามารถออกมาแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยได้ เพราะเกรงการแทรกแซงลงทัณฑ์จากทหารพม่า

และไม่ต้องพูดถึงบทบาทของพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพในปีนี้ ในขณะที่มองเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า องค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นทางการของไทยยืนอยู่ฝั่งไหนในระหว่างเผด็จการทหารกับความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

ตรงกันข้ามกับพุทธเถรวาท การเข้ามาของศาสนาอิสลาม เป็นพลังอิสระของ “คนนอก” โดยแท้ อาจเป็นพ่อค้าจากอินเดีย, เปอร์เซีย, อาหรับ, เติร์ก หรือนักปฏิบัติสายซูฟีจากอินเดีย แม้แต่ผู้เผยแพร่ศาสนาในภูมิภาคเอง ก็มักออกไปเผยแพร่ในดินแดนนอกรัฐที่ตนได้รับความคุ้มครองอยู่ เช่น “ครู” จากชวาไปเผยแพร่ศาสนาในกาลิมันตันหรือบอร์เนียว จากรัฐชายฝั่งของสุมาตรา ข้ามมาเผยแผ่ศาสนาบนคาบสมุทรมลายู หรือจากจามปาไปสู่ชวา เป็นต้น

ตำนานของรัฐมลายู, อินโดนีเซีย และมินดาเนา หลายแห่งเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองท้องถิ่น และ “ครู” สอนศาสนาที่มาจากต่างแดน ซึ่งในที่สุดฝ่าย “ครู” ก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนศาสนาของผู้ปกครอง

อิสลามจึงต่างจากพุทธเถรวาท เพราะตลอดประวัติศาสตร์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิสลามเป็นพลังอิสระในรัฐเสมอ ไม่ใช่ในรัฐที่ผู้ปกครองนับถือศาสนาอื่นนะครับ แม้แต่ในรัฐที่ผู้ปกครองนับถือศาสนาอิสลามเอง “ผู้รู้” ทางศาสนาและชุมชนมุสลิมของเขาก็เป็นพลังอิสระทางการเมืองตลอดมา ไม่ต้องพูดถึงเมื่อตะวันตกเข้าครอบครองรัฐแถบนี้ อิสลามย่อมเป็นพลังใหญ่อันหนึ่งที่ต่อต้านระบอบอาณานิคมมาก่อนใคร

ดังนั้น ทั้งพุทธและอิสลาม ต่างก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเหมือนกัน เพียงแต่พุทธมักหนุนการเมืองของรัฐ ในขณะที่อิสลามคอยถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของรัฐ

ผมคิดว่าประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ระหว่างผู้คนในสังคมพุทธเถรวาทและสังคมมุสลิม ทำให้การแข็งขืนต่ออำนาจรัฐของมุสลิมในสังคมพุทธ จะกลายเป็นความรุนแรงมากกว่า การแข็งขืนต่อรัฐของชาวมุสลิมในสังคมมุสลิมเอง

ในสังคมพุทธเถรวาท เช่นไทยและพม่า การแข็งขืนต่อรัฐโดยชาวมุสลิม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงการต่อต้านด้วยอาวุธเสมอไป อาจเพียงการยื่นข้อเสนอซึ่งรัฐไม่อาจยอมรับก็ได้ หรือการตำหนิวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐก็ได้) มักนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งจากการตอบโต้ของรัฐ และจากฝ่ายชาวมุสลิมที่แข็งขืนบางกลุ่ม

แต่อย่านึกว่า ไม่มีการต่อต้านรัฐของชาวมุสลิมในมาเลเซียหรืออินโดนีเซียนะครับ ทั้งสองรัฐนั้น แม้ไม่ประกาศออกมาโต้งๆ แต่ก็วางระบบรัฐไว้เหมือนเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) เช่นอินโดนีเซียประกาศหลัก “ปัญจศีลา” ซึ่งยอมรับทุกศาสนาที่นับถือพระเจ้า แม้แต่พระเจ้าในพหุเทวนิยมเช่นศาสนาฮินดูก็ตาม (อันเป็นบาปมหันต์เลยในศาสนาอิสลาม)

รัฐบาลทั้งของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เคยต้องต่อสู้กับกลุ่มมุสลิมที่ต้องการประกาศตั้ง “รัฐอิสลาม” บ้าง ต้องการแยกตัวจากรัฐโลกวิสัยบ้าง หรือกลุ่มที่ใช้วิธีรุนแรง เช่น แยกตัวเป็นเอกราช ไปจนถึงกลุ่มที่ใช้การก่อการร้าย กล่าวโดยสรุปก็คือ อิสลามเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญในรัฐทั้งสอง ซ้ำเป็นพลังอิสระที่ไม่อยู่ในกำกับของรัฐอย่างราบคาบด้วย แม้แต่ในสมัยของเผด็จการทหารซูฮาร์โต แม้ไม่อาจลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังแข็งขืนต่อรัฐในรูปอื่นๆ เสมอมา ความพยายามของซูฮาร์โตที่จะรวมพรรคการเมืองอิสลามไว้ภายใต้พรรคเดียว ที่รัฐอาจกำกับได้ ไม่ยั่งยืนอย่างที่หวัง เพราะความแตกร้าวภายในของพรรค และในที่สุดก็แยกตัวออกจากกัน กลายเป็นหลายพรรคการเมืองในเวลาต่อมา

แม้อิสลามเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ แต่พรรคอิสลามไม่เคยประสบความสำเร็จทางการเมืองในสองรัฐนั้นเลย แม้ในสมัยประธานาธิบดีอับดุลวาฮิดของอินโดนีเซีย พรรคมุสลิมสาย “ครู” รุ่นเก่าเป็นผู้สนับสนุนวาฮิด แต่พลังของรัฐบาลมาจากการสนับสนุนของพรรคอื่นๆ ในสภาด้วย รวมทั้งมาจากความนิยมในตัววาฮิดเอง ซึ่งเป็นมุสลิมสายปฏิรูปมากกว่าสายเก่า ในมาเลเซีย พรรคปาส (PAS) อาจได้รับเลือกตั้งมากขึ้น หรือมีบทบาทมากขึ้นเมื่อยอมเข้าร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยเป็นพรรคใหญ่ที่ได้เสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งเลย

ที่ผมพูดถึงประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ก็เพราะประสบการณ์เหล่านั้นให้ความหมายต่อการแข็งขืนต่อรัฐของศาสนาแตกต่าง ในสังคมพุทธ หากศาสนาแข็งขืนต่ออำนาจของรัฐเมื่อไร ก็มักถูกมองเป็นเรื่องใหญ่ รัฐเองก็ไม่เคยเรียนรู้ว่าจะจัดการกับการแข็งขืนนั้นอย่างไร นอกจากปราบปรามด้วยกำลัง ในขณะที่ในสังคมมุสลิม การแข็งขืนต่อรัฐในหมู่ศาสนิกเป็นเรื่องปรกติธรรมดา เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รัฐเรียนรู้วิธีจัดการกับการแข็งขืนนี้ได้หลายวิธี ปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้ และถึงที่สุดศาสนาก็ยังไม่เคยเข้ามาแทนที่รัฐได้ ดังนั้น จึงทำให้รัฐมุสลิมมักไม่นำความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงที่ทำให้แก้ไขได้ยาก

ถ้าสักวันหนึ่ง ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเต็มที่ ผมให้สงสัยว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย ไม่ว่าในตำแหน่งส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น จะไม่ใช่คนที่มีนโยบายมุสลิมสุดโต่ง ไม่ต่างจากมุสลิมในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งไม่เคยเลือกพรรคอิสลามสุดโต่งเป็นเสียงข้างมากในสภาเลย