เสียดสี ตลกร้าย ที่อาจกลายเป็นข่าวเท็จ/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Diverse friends covered with emoticons

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

เสียดสี ตลกร้าย

ที่อาจกลายเป็นข่าวเท็จ

 

ข่าวปลอม ข่าวลือ ทฤษฎีสมคบคิด ข้อมูลเท็จ ไปจนถึงข่าวที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ไปในทางลบเป็นประเภทของคอนเทนต์ที่แพร่กระจายในอินเตอร์เน็ตรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่งและเกิดขึ้นกับชุมชนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก

บริษัทเทคโนโลยีต่างก็ทุ่มเทสรรพกำลังไปกับการคิดค้นวิธีที่จะระบุตัวตนและกำจัดข่าวปลอมออกจากแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเอไอหรือใช้วิจารณญาณของพนักงานที่เป็นมนุษย์ และออกฟีเจอร์ใหม่ๆ มาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเสพข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตอย่างระมัดระวังมากขึ้น อย่างเช่น การขึ้นคำเตือน หรือการขอให้ผู้ใช้ทบทวนให้ดีก่อนที่จะกดแชร์ข่าวอะไรบางอย่างโดยที่ยังไม่ทันได้คลิกเข้าไปอ่านด้วยซ้ำ

นอกจากด้านเทคโนโลยีแล้วก็ยังมีองค์กรหลายแห่งที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Fact Checkers ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็มักจะจับมือกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อทำงานร่วมกัน

ทำให้การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก

Diverse friends covered with emoticons

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีประเภทของเนื้อหาอีกแบบที่มีส่วนคล้ายกับเฟกนิวส์แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว จึงหลุดรอดจากการตรวจสอบของแพลตฟอร์มไปได้จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อไปด้วยทั้งที่ไม่ใช่ความตั้งใจของเจ้าของข้อมูล ก็คือเนื้อหาประเภทเสียดสี หรือที่เรียกว่า satire ที่จะใช้อารมณ์ขันและการเหน็บแนมเสียดสีเข้ามาช่วยในการวิพากษ์วิจารณ์โดยมักจะใช้หลักๆ กับสถานการณ์ทางการเมืองหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

ฉันคิดว่าคงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ เพราะเรามีตัวอย่างของ satire ให้เห็นอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของอินเตอร์เน็ตไทยทุกวันนี้

ในขณะที่ทั่วโลกก็มีเว็บไซต์จำนวนมากสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ของการผลิตคอนเทนต์ในเชิง satire โดยเฉพาะ

ข่าวอย่างโป๊ปฟรานซิสป่าวประกาศว่าใครจะขึ้นสวรรค์ได้จะต้องมีใบรับรองว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 มาเรียบร้อยแล้ว คนส่วนใหญ่ฟังปุ๊บก็น่าจะรู้สึกขำและปล่อยผ่านไปโดยไม่ได้สนใจอะไรจริงจัง ซึ่งเนื้อหาประเภทนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากบทความบนเว็บไซต์ที่ติดป้ายเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเว็บผลิตคอนเทนต์ประเภท satire

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเนื้อหาเหล่านี้หลุดเข้ามาอยู่ในโซเชียลมีเดีย ถึงจะเป็นเนื้อหาที่ดูไม่น่าเชื่อได้แค่ไหน ก็จะยังมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่จะเข้าใจว่าทุกอย่างที่เห็นบนอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องจริงและไม่ได้คุ้นเคยกับคอนเซ็ปต์ของ satire

หลงเชื่อเข้าไปเต็มๆ

 

ด้วยความที่เป็นเนื้อหาประเภท satire ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นอารมณ์ขันอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ไม่มีการออกมาตีแผ่หรือชี้แจงว่าไม่ใช่ข้อมูลจริง คนที่หลงเชื่อไปแล้วก็อาจหลงเชื่อตลอดไป และการกดแชร์ต่อก็ยิ่งช่วยเสริมความน่าเชื่อถือให้ข้อมูลที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องจริงตั้งแต่ต้น

จะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจให้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงก็อาจจะถูกเป็นส่วนใหญ่ แต่ในสังคมก็ยังมีคนเจตนาไม่ดีที่จงใจใช้ความเป็น satire ในการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ด้วย อย่างการไปหยิบเนื้อหาที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็น satire มาแล้วนำมาส่งต่อโดยพยายามตบแต่งให้กลายเป็นเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อ

เราพูดถึงการที่บริษัทเทคโนโลยีมีความพยายามในการระบุและกำจัดเฟกนิวส์ให้ออกจากระบบ แต่สิ่งที่ยากที่จะระบุได้ยิ่งกว่าเฟกนิวส์ก็คือสิ่งที่ต้องอาศัยการตีความของมนุษย์เท่านั้น อย่างเนื้อหาประชดประชันและเสียดสีนี่แหละ เพราะคอมพิวเตอร์ไม่สามารถช่วยระบุได้ว่าอันไหนประชด อันไหนไม่ประชด เพราะมันต้องอาศัยการอ่านระหว่างบรรทัดที่เป็นความสามารถซึ่งสงวนไว้ให้มนุษย์ด้วยกันเท่านั้นในตอนนี้

ขนาดเป็นสิ่งที่มีแต่มนุษย์ที่จะเข้าใจ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะแยกแยะ satire ได้ทุกครั้ง คุณผู้อ่านอาจจะเคยเห็นคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดียที่ดูสวนทางกับกระแสคอมเมนต์หลักเสียจนจะต้องมีคนเข้ามาถามต่ออีกทีว่า “นี่ดักหรือเปล่า”

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่ satire ทุกอันที่จะสื่อสารได้ชัดเจน หลายๆ ครั้งมันก็ก้ำกึ่งอยู่ตรงกลางไม่ซ้ายไม่ขวา

 

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวบนโซเชียลมีเดียที่เคลมว่าร่างของ Walt Disney ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1966 ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยวิธีไครโอเจนและจะมีความพยายามในการชุบชีวิตให้เขาอีกครั้ง

เรื่องนี้เกิดขึ้นจากเว็บไซต์ Daily News Reported ซึ่งระบุตัวตนไว้ชัดๆ ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ผลิตเนื้อหาเสียดสีแต่งแต้มโดยเฉพาะ แต่ก็มิวายถูกแชร์ต่ออย่างล้นหลามและทำให้คนหลงเชื่อไปจริงๆ

เนื้อหาประเภท satire มักจะมีพาดหัวหรือการใช้ภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาและสำนวนของสำนักข่าวตามปกติ หากอ่านผิวเผินโดยไม่ได้เปิดใช้งานต่อมวิจารณญาณควบคู่ไปด้วยก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่าเป็นข่าวจริงได้

ยังมี satire อีกมากมายที่ถูกนำไปกระจายต่อเสมือนเรื่องจริง อย่างเช่นข่าวที่กล่าวอ้างว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสรู้สึก “สกปรก” ที่เช็กแฮนด์กับคนจนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2017 ข่าวกลุ่มก่อการร้ายยอมวางอาวุธเพราะใจอ่อนกับการอ้อนวอนของนักร้องสาว Katy Perry ฯลฯ ซึ่งถึงแม้จะผลิตออกมาจากเว็บไซต์ที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเว็บไซต์ satire แต่ก็ยังมีคนหลงเชื่ออยู่ดี

แม้กระทั่ง Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐเองก็ยังเคยรีทวีตเนื้อหาจากเว็บประเภทนี้ไปแล้วด้วย

ตามปกติแล้วอัลกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook จะคอยตรวจจับว่าแอ็กเคาต์ไหนแชร์ข้อมูลเท็จบ่อยๆ และลดความสำคัญของแอ็กเคาต์นั้นลง หรือเอา fact checker เข้าไปช่วยกำกับด้วย

แต่ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นคือหากเนื้อหานั้นติดแท็กว่า satire ระบบก็จะปล่อยผ่านซึ่งก็ไม่เป็นไรถ้าหากเนื้อหานั้นเป็น satire ของแท้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีหากคนทำคอนเทนต์ตั้งใจใช้แท็กเดียวกันนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแน่นอน ข้อมูลที่เป็นอันตรายเหล่านี้ก็จะรอดหูรอดตาระบบไปได้

ในตอนนี้ยังไม่มีวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันข่าวปลอมที่ถูกกระจายต่อภายใต้หน้ากากของความเป็น satire ก็น่าจะต้องกลับมาที่ตัวเราเองไปก่อนว่าจะฝึกทักษะการเสพเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตให้แหลมคมได้แค่ไหน

พูดก็พูดเถอะ การอยู่บนโซเชียลมีเดียไทยนี่ไม่ใช่สนามฝึกที่ง่ายเลย เพราะหลายครั้งเราได้เห็นข่าวนายกฯ พูดแบบนั้น รัฐมนตรีอีกคนพูดแบบนี้ และเป็นสิ่งที่น่าขันเสียจนไม่มีคนสติสัมปชัญญะดีที่ไหนจะเชื่อลงไปได้

แต่กลับกลายเป็นเรื่องจริงไปเสียนี่