อ่านความเป็นไทย Thailand Pavilion ใน World Expo 2020 (3)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

อ่านความเป็นไทย

Thailand Pavilion

ใน World Expo 2020 (3)

 

ผู้เกี่ยวข้องกับการออกแบบ Thailand Pavilion ที่ดูไบท่านหนึ่ง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจที่ตัวเขาได้เคยถามกรรมการตรวจงานประมาณว่า สามารถออกแบบศาลาไทยให้เป็นรูปร่างหน้าตาสมัยใหม่ได้ไหม

ซึ่งกรรมการท่านนั้นตอบกลับมาว่า คุณจะออกแบบอาคารเป็นอะไรก็ได้ รูปแบบอย่างไรก็ได้ แต่สุดท้าย คนต้องดูออกว่านี่เป็น Pavilion ของประเทศไทย

ด้วยคำตอบที่เสมือนให้อิสระในการออกแบบ แต่แท้จริงกลับแฝงไว้ด้วยไม้บรรทัดที่แข็งทื่อในการประเมินผล จึงช่วยไม่ได้ที่บริษัทไหนก็ตามที่อยากชนะการประมูลงานสร้างศาลาไทยจึงต้องเลือกใช้ภาษาสัญลักษณ์ของความเป็นไทยแบบเดิมๆ ที่คุ้นชินมาร่วมศตวรรษ ในทุกครั้งของการออกแบบ

ในบรรดาสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทยที่ถูกใช้วนซ้ำเพียงไม่กี่อย่าง “หลังคาจั่วทรงสูง” คือสัญลักษณ์ยอดนิยมที่แทบไม่เคยหายไปจากศาลาไทยทุกครั้ง

ผมสงสัยมานานมากแล้ว หลังคาจั่วทรงสูงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” ในทางสถาปัตยกรรมได้อย่างไร

หากใครสนใจประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ย่อมเห็นชัดว่า รูปทรงดังกล่าวไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมไทยแต่เพียงอย่างเดียว อาคารเกือบทั้งโลกก็ล้วนสร้างด้วยหลังคาทรงแบบนี้มายาวนาน ไม่ได้มีอะไรที่จะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษของไทยแต่อย่างใดเลย

จะว่าเป็นด้วยเส้นโค้งอ่อนหวานของจั่วหลังคา ก็กล่าวได้ไม่เต็มปากมากนักอีกเช่นกัน เพราะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงก็นิยมทำเส้นโค้งหวานที่แทบไม่ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญอะไร

ความต่างที่แท้จริง มีเพียงลักษณะรูปแบบและทรวดทรงขององค์ประกอบตกแต่งอาคารที่ภาษาช่างเราเรียกกันว่า ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่อาจพอจะระบุแยกได้ว่ารูปแบบนี้เป็นของไทยโบราณ รูปแบบนี้เป็นของจากประเทศเพื่อนบ้านได้

แต่ก็อีกนั่นแหละ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่ดูไทยชัดๆ ดังกล่าว กลับไม่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมในอีสาน ล้านนา และสามจังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใด

พูดให้ชัดก็คือ มันมิใช่ลักษณะร่วมกันอย่างแท้จริงที่ทุกพื้นที่ในประเทศไทยนิยมทำแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงรูปแบบที่นิยมทำกันเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลักเท่านั้น

 

หากคิดอย่างมีสติจริงจัง เราก็จะทราบความจริงได้ไม่ยากนักว่าหลังคาจั่วทรงสูงนี้เป็นลักษณะร่วมของคนเกือบทั้งโลก ส่วนหลังคาจั่วทรงสูงที่ดัดโค้งในส่วนปั้นลมให้อ่อนช้อยเป็นลักษณะร่วมของหลายชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่องค์ประกอบตกแต่งอาคารก็เป็นเพียงเรื่องเฉพาะของท้องถิ่นมากกว่าจะสามารถตัวเองว่าเป็นลักษณะร่วมของคนทั้งชาติไทยได้

และถ้าเข้าใจแบบนี้ได้ เราก็จะทราบต่อมาได้ทันทีว่า หลังคาจั่วทรงสูงเป็นเพียงการตีความ (ในลักษณะบังคับ) จากผู้มีอำนาจรัฐให้มีค่าทางความหมายเท่ากับความเป็นไทย โดยที่ตัวของมันเองมิได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับความเป็นไทย

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ในทางวิชาการ อัตลักษณ์ใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เลื่อนไหลและถูกตีความขึ้นมาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ใช่สัจธรรมจริงแท้แต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ไทยก็หนีไม่พ้นลัการะดังกล่าว

พูดให้ตรงประเด็นอย่างที่สุดก็คือ ความเป็นไทยที่แท้จริงนั่นไม่มีอยู่จริง ทุกความเป็นไทยคือการตีความขึ้นมาทั้งสิ้น

และแน่นอน หลังคาจั่วทรงสูง คือ แนวทางหนึ่งของการตีความอัตลักษณ์ไทยที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมาโดยรัฐไทย แต่น่าเสียดายที่การตีความดังกล่าวกลับถูกรัฐไทยอ้างอวดว่าเป็นสัจธรรมของความเป็นไทยที่จริงแท้ และผูกขาดอำนาจในการตีความไว้แบบเดียวอย่างไร้พลวัต

คำพูดของกรรมการตรวจรับงานออกแบบศาลาไทยที่ยกมาข้างต้น คือตัวอย่างที่ชัดเจน

 

สถาปนิกเป็นจำนวนมากก็กังวลกับการไม่ชนะการประมูลมากเสียจนขาดความกล้าหาญที่จะตีความความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ กลายเป็น “ขนมพอสมน้ำยา” ที่ทำให้ความเป็นไทยที่ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การตีความอัตลักษณ์ใหม่ที่มีพลังทางสังคมก็ไม่ใช่การมโนอย่างเลื่อนลอยบนความว่างเปล่านะครับ แต่มักจะเกิดขึ้นอย่างเชื่อมโยงกับเหตุผลหรือหลักฐานอะไรบางอย่างที่แลดูแล้วมีความสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมนั้นๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งทางประวัติศาสตร์เสมอ

ขอยกตัวอย่าง Philippines Pavilion อีกครั้งเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ

 

ตามที่เล่าไปในสัปดาห์ก่อนว่า ฟิลิปปินส์ออกแบบ pavilion โดยใช้แรงบันดาลใจจาก Bangkota ซึ่งเป็นภาษาตากาล็อก แปลว่า “แนวปะการัง” เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างคนฟิลิปปินส์กับธรรมชาติ และบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของชาวฟิลิปปินส์ตลอด 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

คุณ Royal Pineda สถาปนิกผู้ออกแบบ ได้อธิบายเพิ่มเติม ในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Khaleej Times ว่า

“…เราเลือกแนวปะการัง เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพโลก ไอเดียว่าด้วย Bangkota นำเสนอบางสิ่งที่ก้าวหน้ามาก แต่ขณะเดียวกันก็หยั่งรากลึกกลับไปสู่คำถามว่า เราคือใครและเราเป็นอะไรในเวลาเดียวกัน…”

สิ่งที่คุณ Pineda ทำคือการเลือกที่จะตีความ “ความเป็นฟิลิปปินส์” ในมุมมองใหม่ โดยตั้งใจที่จะงดเว้นการใช้ภาษาสถาปัตยกรรมอันเป็นภาพจำเดิมของชาติ (ทั้งรูปแบบกระท่อมชนเผ่าพื้นเมืองโบราณหรือสถาปัตยกรรมโคโลเนียลสเปน) ไปสู่การตีความอัตลักษณ์ใหม่ของชาติ

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือ การออกแบบมิได้ใช้แนวปะการังอย่างตรงไปตรงมาจนเสมือนว่ากำลังเดินอยู่ในตู้ปลาขนาดใหญ่ที่จำลองโลกใต้ทะเลนะครับ

แต่ผู้ออกแบบเลือกที่จะใช้เส้นสาย รูปทรง สีสัน และเทคโนโลยีสมัยใหม่บางอย่างเข้ามาช่วยสร้างความรู้สึกที่เชื่อมโยงแต่ไม่เถรตรงให้เกิดขึ้น (แตกต่างจากศาลาไทย ที่เลือกใช้ม่านมาลัยดอกรักเป็นแรงบันดาลใจ โดยที่ผู้ออกแบบเลือกใช้วิธีง่ายๆ คือการขยายขนาดม่านมาลัยดอกรักขึ้นหลายสิบเท่าอย่างตรงไปตรงมา ชนิดที่ไม่ได้ปรับแปลงรูปแบบอะไรเลย)

ผลลัพธ์ที่ได้จึงทั้งแปลกใหม่แต่ไม่ไร้ราก ถึงขนาดที่มีผู้กล่าวชื่นชมว่า พื้นที่ภายในของ Philippines Pavilion เลื่อนไหลน่าตื่นตาตื่นใจเสมือนเข้าชมซิมโฟนีอันยิ่งใหญ่ของ ธรรมชาติ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม

ยิ่งอ่านจากบทสัมภาษณ์ที่ยกมา เราจะยิ่งเห็นว่า การตีความใหม่ของฟิลิปปินส์นั้นมิใช่กระทำไปอย่างเลื่อนลอย แต่ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและมุมมองทางประวัติศาสตร์บางประการ ขณะเดียวกันก็เป็นการตีความที่สร้างบทสนทนากับประเด็นสากลว่าด้วยเรื่องธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่ส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลายลงไปทุกทีด้วยน้ำมือมนุษย์ไปพร้อมกัน

นี่คือช่องว่างขนาดใหญ่มากระหว่างวงการออกแบบสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมของไทยกับฟิลิปปินส์ที่กำลังเกิดขึ้น และนับวันเราก็จะยิ่งถูกทิ้งห่างออกไปทุกที หากไม่รีบแก้ไข

 

ส่วนตัวมีข้อเสนอ 2 ข้อที่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อทดลองดูสักครั้งสำหรับการออกแบบศาลาไทยในครั้งหน้า

หนึ่ง เราควรยกเลิกวิธีการประมูลและจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษตามแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนมาเป็นวิธีการจัดประกวดแบบภายในประเทศแทน

กระบวนการจัดประกวดตลอดจนโครงสร้างของคณะกรรมการตัดสินควรอย่างยิ่งที่จะต้องแยกขาดออกจากภาครัฐ (รัฐสนับสนุนเพียงงบประมาณเท่านั้น) เพื่อให้ตัดขาดออกจากการตีความความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยมสุดโต่งตามแบบฉบับภาครัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ได้ยินข้อเสนอของผมแบบนี้ ไม่ต้องรีบออกมาโวยด้วยคำพูดประเภทว่า “อย่าด้อยค่าระบบราชการ” นะครับ ข้อเสนอข้างต้นไม่ได้ต้องการด้อยค่าใครหรือหน่วยงานไหนทั้งสิ้น แต่เป็นข้อเสนอเพื่อทดลองลดการผูกขาดการตีความ “ความเป็นไทยแบบภาครัฐ” ดูสักครั้ง ในรอบร้อยปีเท่านั้น

ที่สำคัญคือ การประกวดแบบไม่ควรจำกัดเฉพาะบริษัทสถาปนิกขนาดใหญ่ (ด้วยวิธีการกำหนดเงื่อนไขผู้มีสิทธิ์เข้าประกวดที่มากมายจนเกินไป) แต่ควรเปิดกว้างให้มากสำหรับการตีความความเป็นไทยที่สดใหม่จากสถาปนิกรุ่นใหม่

แน่นอน วิธีนี้อาจจะทำให้เกิดแนวคิดฟุ้งเฟ้อ จนอาจจะได้แบบที่มิได้คำนึงถึงการก่อสร้างได้จริง หรือเป็นแบบที่ไม่คำนึงถึงงบประมาณที่มีอยู่จริงเต็มไปหมด แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้มิใช่ข้อเสีย เพราะไอเดียที่สดใหม่เต็มไปด้วยจินตนาการคือจุดเริ่มต้นที่ศาลาไทยควรโหยหาอย่างเร่งด่วนเป็นอันดับแรก

เมื่อได้แบบที่ดีแล้ว กระบวนการพัฒนาเพื่อให้จินตนาการดังกล่าวสามารถสร้างได้จริงบนงบประมาณที่จำกัด

ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยากจนเกินไปสำหรับความสามารถของวงการสถาปนิกไทยอย่างแน่นอน