ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกหมุนเร็ว |
เผยแพร่ |
เมื่อครั้งที่มติชนอคาเดมีจัดนำเที่ยวตามรอยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยมี อาจารย์ปรามินทร์ เครือทอง เป็นวิทยากร ก็คิดไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะต้องหาโอกาสมาเที่ยวฝั่งธนฯ แบบไปรเวตบ้าง
คิดตามประสาคนฝั่งกรุงเทพฯ ที่เบื่อแสงสีเต็มประดา เบื่อความแออัดยัดเยียด รถติด ตึกสูง ที่ชวนให้เครียดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ทุกครั้งที่ได้ไปแถวเกาะรัตนโกสินทร์ ก็จะรู้สึกว่าชีวิตช่างดี รู้สึกได้ถึงความเป็นราชธานีเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว และก็นึกว่าข้ามฝั่งไปทางฝั่งธนฯ ก็คงจะมีบรรยากาศคล้ายๆ กัน
ไม่มีความรู้หรือความคุ้นชินเลยว่าแถวฝั่งธนฯ ถนนหนทางเป็นอย่างไร อะไรอยู่ตรงไหน
การคมนาคมแสนสะดวกเมื่อมีรถลอยฟ้าบีทีเอสจากสถานีตากสินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงสถานีตลาดพลู ลงรถที่นั่นแล้วมีเพื่อนขับรถมารับไปเที่ยวฝั่งธนฯ กัน
สามัญสำนึกบอกว่าให้ไปเที่ยววัด เพื่อทำความรู้จักกับฝั่งธนฯ
ชาวกรุงเทพฯ ได้นั่งรถไปตามถนนแคบๆ รถไม่ติด ไม่มีตึกสูง ไม่มีป้ายโฆษณา ห้องแถวริมทางมีอายุ บรรยากาศเป็นแบบดั้งเดิม ถนนหนทางสะอาดสะอ้าน เที่ยวทั้งวันไม่เห็นห้างสักห้าง เปลี่ยนบรรยากาศอีกแบบ เป็นความสุขเล็กๆ เรียบง่าย
เราขับรถไปตามถนนเทอดไท อยู่ตรงไหนของฝั่งธนฯ ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าแถวนั้นมีซอยวุฒากาศ ไปแวะวัดแรกชื่อวัดหนัง ชื่อเต็มว่า วัดหนังราชวรวิหาร เป็นวัดหลวง สร้างขึ้นประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นวัดร้างมากว่า 200 ปี เดิมเป็นวัดราษฎร์ และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.2460 เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ.2367
ก้าวเข้าประตูวัดไปก็เห็นตะโกดัด ตัดแต่งเรียบกริบอยู่ทั่วบริเวณ ทั่วพื้นวัดสะอาดสะอ้าน เพราะในเขตกำแพงชั้นในห้ามสุนัขเข้า
เราเดินอยู่เพียงรอบนอกไม่ได้เข้าโบสถ์ จิตใจร่มเย็นไปกับความมีระเบียบสะอาด และสวยงามของบริเวณวัด
ไม่เห็นมีชาวบ้านมาทำกิจกรรม เช่น ถวายสังฆทานเหมือนวัดกรุงเทพฯ ที่มีประชากรมากมายคอยเข้าออกวัดกันขวักไขว่
วัดนี้ใครไปเที่ยวฝั่งธนฯ แนะนำอย่าพลาดไปเที่ยวชม เสียดายที่ไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้าจึงเข้าโบสถ์ไม่ได้ เรานัดกันจะกลับไปอีกในวันข้างหน้าเมื่อวัดมีงานออกร้านในช่วงกลางคืน
ขับรถไปอีกหน่อยก็ถึงวัดชื่อ “ศาลาครืน” เหตุที่มาของชื่อก็คือคืนหนึ่งฝนตกฟ้าคะนอง หลังคาพระอุโบสถพังครืนลงมา ทำให้มีชื่อจำง่ายขำขันแบบนี้ วัดศาลาครืนเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ได้กลายเป็นวัดร้างลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดศาลาครืน หลังจากได้ทรงบูรณะวัดจอมทอง (วัดราชโอรสาราม) เสร็จเรียบร้อยแล้ว
วัดที่ต้องไปอีกวัดคือวัดนางนอง อาจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช ที่เป็นทั้งเพื่อน ทั้งเจ้าถิ่นฝั่งธนฯ และมีวิชาการเกี่ยวกับวัดวาอยู่พอตัวก็บอกว่าวัดนี้ คุณขรรค์ชัย บุนปาน มาบูรณะอยู่
วัดนี้เป็นวัดในรัชกาลที่ 3
วัดนางนองวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานของการสร้าง แต่สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยพระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์)
วันที่เราไปวัดกำลังอยู่ระหว่างการบูรณะ แต่องค์พระประธานที่เห็นอยู่นั้นรูปงามมาก พระพักตร์แย้มยิ้มอิ่มเอิบ
ผู้เขียนสนใจเรื่องวัดนางนอง กลับมาเปิดกูเกิลดูก็มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2375 ได้โปรดให้ทำการบูรณะเป็นงานใหญ่ รื้อของเก่า และปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม ดังปรากฏงานศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในพระองค์ที่พระอุโบสถและพระวิหารคู่ และเพราะในแขวงบางนางนอง เดิมเป็นนิวาสสถานของสมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาตระกูลของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ย้ายข้ามฟากไปอยู่บริเวณวัดหนัง จึงทรงบูรณะวัดนางนอง เนื่องในสมเด็จพระราชมารดาที่ว่าศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศิลปกรรมที่เลียนแบบศิลปะจีน การบูรณปฏิสังขรณ์ใช้เวลาหลายปีจึงแล้วเสร็จ ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ.2384
เรานัดกันว่าเมื่อคุณขรรค์ชัยบูรณะรอบนี้เสร็จน่าจะมาวัดนางนองกันใหม่
การไปชมวัดต่างๆ ควรแจ้งทางวัดล่วงหน้าเพราะมักจะปิดกุญแจโบสถ์ เนื่องจากมีพวกโจรขโมยพระชุกชุม บางวัดเจ้าอาวาสต้องนอนเฝ้าพระพุทธรูปกันเลยทีเดียว
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงเทพมหานคร วัดนี้รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก็ทรงบูรณะอีกเช่นกัน
การไปเยี่ยมชมวัด ถ้าอยากรู้ประวัติย่อๆ ปัจจุบันจะมีป้ายให้อ่านพอรู้ประวัติโดยสังเขป เช่นวัดนี้จะมีคำบรรยายว่า
รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี ใน พ.ศ.2363 เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ฝั่งธนบุรีทรงหยุดพักและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการทัพครั้งนี้ได้ชัยชนะ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา เมื่อยกทัพกลับ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่และถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชโอรส
ซึ่งหมายถึง พระราชโอรส คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
วัดอินทาราม เป็นวัดสุดท้ายที่เราไปเยี่ยมชมหลังการรับประทานอาหารกลางวันร้านอร่อยชื่อร้านจีนหลี หมี่กรอบสมัย ร.5 พร้อมกับที่เพื่อนผู้เป็นเจ้าถิ่นพาไปซื้อขนมไทยเจ้าอร่อยแจกเบอร์ พร้อมกับชี้ให้ดูร้านอาหารอร่อยอีกหลายร้านที่เราหมายตาจะต้องกลับมาชิม
ไม่ยากอะไรกับการเดินทางเพราะมีรถไฟฟ้ามาเกือบถึง
การที่ต้องแวะวัดอินทารามเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดนี้มีเจดีย์บรรจุพระอัฐิพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นวัดสำคัญของสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นวัดอนุสรณ์สันติสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาวีรกษัตริย์ของไทยเราทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์เป็นชีวิตจิตใจหลายอย่าง ที่นับว่าสำคัญน่าชมและศึกษา คือพระแท่นบรรทมไสยาสน์
สรุปว่าไปเที่ยวฝั่งธนฯ คราวนี้ก็ได้ทำความคุ้นเคยกับละแวกตลาดพลู เทอดไท วุฒากาศ และวัดในบริเวณนั้นซึ่งส่วนใหญ่สร้างในสมัยปลายอยุธยาและบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ไปดูวัดแล้วก็จินตนาการถึงเรื่องราวความเป็นไปของชาติไทยตั้งแต่ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงธนบุรีเป็นราชธานี 15 ปีจนมาถึงรัตนโกสินทร์
ในแง่การท่องเที่ยว เมื่อดูจากการตั้งอกตั้งใจบูรณะวัดต่างๆ ที่เราได้แวะเยือนก็รู้ว่าการเตรียมการรับนักท่องเที่ยวกำลังเริ่มขึ้นแล้ว
กรุงธนบุรีมีทั้งประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม และอาหารอร่อยรสชาติดั้งเดิม เช่น หมี่กรอบ ขนมกุฎีจีน ที่น่าไปเยี่ยมเยือน
สำหรับชาวต่างชาติก็เพื่อได้เห็นเมืองไทยในอดีตอีกบรรยากาศหนึ่ง และสำหรับเราคนไทยก็เพื่อให้ได้รู้จักซึมซับรากเหง้าของเราเอง