แก๊สน้ำตาในคำพิพากษา 7 ตุลาฯ : วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

โล่งอกโล่งใจไปตามกัน สำหรับ 4 จำเลย ในคดีสลายม็อบ พธม. เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 นำโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.

หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

คดีนี้ตัดสินกันไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม อันเป็นหนึ่งในคดีที่ถูกจับตามองว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมือง ก่อนที่ปลายเดือนสิงหาคม จะถึงวันตัดสินคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงคดีขายข้าวจีทูจีของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์

สำหรับคดีแรก คือ คดีสลายม็อบพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งคำพิพากษาไปนั้น

“ศาลได้พิเคราะห์ไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำเสนอ เป็นไปตามหลักของกระบวนการยุติธรรม ที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ”

ส่วนผลในทางการเมือง ย่อมทำให้เกิดบรรยากาศคลี่คลายในมวลชนฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน ก่อนจะไปรอลุ้นกันอีกที ในคดีจำนำข้าว

ขณะเดียวกัน ในด้านมวลชนฝ่ายม็อบ พธม. ย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกไปอีกแบบ เพราะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

“อีกทั้งในการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นม็อบสีไหนฝ่ายไหน โดยหลักแล้ว ไม่ควรให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น!”

หากเกิดการเจ็บตาย ก็ต้องค้นหาความจริงตามพยานหลักฐาน รวมไปถึงต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการออกคำสั่งของฝ่ายรัฐ ว่ายึดหลักอะไร ถูกต้องหรือไม่

กรณีรัฐบาลของนายสมชาย ที่เป็นคดีและเพิ่งมีคำพิพากษานั้น จะพบว่าเป็นการสั่งใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลเข้าปฏิบัติการ ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นไปตามหลักสากล ไม่มีการใช้ปืนจริง ไม่ใช้กระสุนจริง

“เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย รายหนึ่งเป็นหญิงเดินอยู่ในขบวนผู้ร่วมชุมนุม อีกรายเป็นอดีตตำรวจ อยู่ภายในรถจี๊ปเชโรกี ที่จู่ๆ เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงภายในรถคันนั้นเอง!!”

ถือว่าแตกต่างไปจากยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในการสลายม็อบเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ซึ่งอ้างว่ามีผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ จึงให้ใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติการ พร้อมกับให้ใช้กระสุนจริงได้ อ้างว่าเพื่อป้องกันตัว

“ผลคือมีคนตาย 99 คน!?!”

ทั้งนี้ ทุกคดี ที่มีประชาชนต้องเสียชีวิตจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรจะได้รับการตรวจสอบหาความจริง หรือพิสูจน์ไปตามพยานหลักฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อหาบรรทัดฐานความถูกต้อง

ในส่วนคดี 7 ตุลาคม 2551 จากคำตัดสินคดี ได้ให้รายละเอียดที่ควรเรียนรู้ ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจและการชุมนุมของฝ่าย พธม.

คดี 7 ตุลาคม 2551 ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คือ ป.ป.ช. ชุดที่มี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่แข็งขันในคดีที่เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งทางการเมืองช่วงนั้นจนลือลั่นไปทั่ว ท่ามกลางคำถามถึงความยุติธรรมของหลายๆ กลไกในสังคมไทย ที่เรียกกันว่า 2 มาตรฐาน

ป.ป.ช. ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 4 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเดือนมกราคม 2558 ไต่สวนพยานหลักฐานมาจนกระทั่งถึงวันพิพากษา เมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา

ประเด็นสำคัญในคำพิเคราะห์ของศาลระบุว่า

เหตุการณ์ช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้ง 4 สั่งการให้เปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา ปิดประตูเข้าออกทุกด้าน ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และมิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

“เจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ กรกฎ 48 จากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น”

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงบ่ายและค่ำ คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภา ไม่สามารถออกมาจากรัฐสภาได้ มีการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้ามาข้างในรัฐสภา

จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบ

เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในรัฐสภา โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบแล้ว

“จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว”

ประเด็นนี้มีพยานโจทก์และพยานจำเลยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแก๊สน้ำตา มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา

แต่ในสถานการณ์เช่นนั้น เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ในขณะเกิดเหตุ จำเลยไม่อาจคาดเห็นได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้

“และข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้อันตรายแก่กายและเสียชีวิต”

เหล่านี้จึงนำมาสู่บทสรุป ว่าจำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

โดยในคำพิพากษาดังกล่าว ได้ชี้ถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นไปตามแผนกรกฎอย่างถูกต้อง เริ่มจากเบาไปหาหนัก ก่อนจะใช้แก๊สน้ำตา

จุดสำคัญคือ การใช้แก๊สน้ำตาในเหตุการณ์นี้ ไม่อาจมองได้ว่ามีเจตนาทำร้ายผู้ชุมนุมให้อันตรายแก่กายและเสียชีวิต

พูดง่ายๆ คงไม่มีใครคิดทำร้ายคนอื่นด้วยการใช้แก๊สน้ำตายิง!!

ประเทศไทยเรา เริ่มใช้ตำรวจปราบจลาจลตามหลักสากล หลังเกิดการสูญเสียของประชาชนในการประท้วงรัฐบาล รสช. เมื่อพฤษภาคม 2535 โดยมีการใช้ทหารออกมาสลายม็อบด้วยกระสุนจริง

รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ มีมติให้ตั้งหน่วยตำรวจปราบจลาจลอย่างจริงจังเต็มรูปแบบ จัดหาอุปกรณ์และฝึกให้เป็นไปตามหลักที่ประเทศทั่วโลกใช้กัน

ต้องไม่มีการใช้เจ้าหน้าที่มายิงคนล้มตายกลางเมืองอีก หากมีการประท้วงใหญ่

“ต่อไปนี้ใช้แต่ตำรวจปราบจลาจลเท่านั้น ห้ามใช้เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธจริงอีก”

จากนั้นจึงจัดตั้งหน่วยปราบจลาจลสมบูรณ์แบบขึ้นมา จะพบว่า ตำรวจ ปจ. ที่ออกมาควบคุมฝูงชน จะแต่งชุดที่ป้องกันตัวเองจากการถูกขว้างปาด้วยของแข็งจากม็อบ ทั้งเสื้อผ้า หมวก และโล่ขนาดใหญ่

ห้ามพกปืนจริง มีแต่กระบองไว้คอยตอบโต้ผู้ชุมนุมที่เข้ามาปะทะ

ใช้ปืนยิงกระสุนยาง ปืนยิงตาข่าย สเปรย์พริกไทย เครื่องชอร์ตไฟฟ้า รวมทั้งแก๊สน้ำตา ไปจนถึงรถใช้คลื่นเสียง รถฉีดน้ำ

นี่คือตำรวจปราบจลาจล ที่ไทยก็ยึดตามหลักสากล เป็นการควบคุมฝูงชนที่จะไม่ให้มีการตายเกิดขึ้น เพราะตำรวจหน่วยนี้ ไม่มีอาวุธจริง

“ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ใช้ตำรวจปราบจลาจลตามสูตรเดียวกันนี้!”

กรณีที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 ราย มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ละเอียดกว่านี้ เพราะแก๊สน้ำตาเป็นมาตรฐานโลก คิดค้นขึ้นมาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมสูญเสีย

“อาจมีข้อโต้แย้งว่า ในเหตุการณ์นั้นใช้แก๊สน้ำตาจากจีน ซึ่งอาจมีสารอาร์ดีเอ็กซ์มากเกินไป แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน!?!”

แต่ที่แน่ๆ การต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้

นอกจากเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ว่าที่สั่งการหรือกระทำไปนั้นอยู่ในกรอบปกติ

“สำหรับกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท ยังเป็นการต่อสู้คดีในฐานะ ผบ.ตร. ซึ่งยังผลเป็นการปกป้องคุ้มครองหลักปฏิบัติของตำรวจปราบจลาจลในภายภาคหน้าด้วย”

เท่ากับว่า การใช้แผนรักษาความสงบกรกฎ ยังได้รับความคุ้มครอง ซึ่งก็คือหลักการที่ทั่วโลกใช้นั่นเอง

อีกทั้งประเด็นที่ประชาชนไทยและสังคมไทยต้องต่อสู้มากกว่า คือ ให้รัฐใช้มาตรการควบคุมฝูงชนด้วยตำรวจปราบจลาจลเท่านั้น

ต้องไม่ให้ใช้เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมกระสุนจริงอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีข้ออ้างเรื่องผู้ก่อการร้ายในม็อบก็ตาม

เพราะเหตุการณ์ 99 ศพ ที่ตายไปไม่มีผู้ก่อการร้ายแม้แต่รายเดียว!