หนุ่มเมืองจันท์ : ‘เป็น’ ในสิ่งที่ ‘คิด’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

‘เป็น’ ในสิ่งที่ ‘คิด’

 

วันก่อน ผมไปงานศพคุณแม่ “พี่อู้ด” ที่คุ้นเคยมานาน

เขาแจกหนังสือ “ชวนม่วนชื่น” ให้กับแขกทุกคน

หนังสือเล่มนี้เป็น “ธรรมะ” ที่อ่านสนุก ของพระอาจารย์พรหมวังโส พระชาวอังกฤษที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชา และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโพธิญาณที่ออสเตรเลีย

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งหนึ่ง

…ชอบมาก

และเคยเอาเรื่อง “อิฐสองก้อน” ในหนังสือมาทำมาหากินในคอลัมน์นี้

การเห็นหนังสือ “ชวนม่วนชื่น” อีกครั้งหนึ่ง เหมือนได้เจอเพื่อนเก่าที่ไม่เจอกันนาน

อ่านซ้ำอีกครั้ง เหมือนได้อ่านหนังสือเล่มใหม่เลยครับ

เพราะจำเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้แล้ว

มีบางเรื่องที่อ่านแล้วคุ้นๆ

แต่บางเรื่องเหมือนเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยอ่าน

“การลืม” จึงเป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่ง 555

มีเรื่องหนึ่งเพิ่งอ่านจบ อยากเล่าให้ฟังครับ

เป็นเรื่องที่พระอาจารย์พรหมวังโสไปเทศน์ที่คุกในเมืองเพิร์ธ

มีนักโทษมานั่งฟังแน่นขนัด

พระอาจารย์พรหมวังโสสอนเรื่องการทำสมาธิไปเรื่อยๆ

ยิ่งเทศน์นาน นักโทษก็ยิ่งกระสับกระส่าย

เวลาผ่านไปแค่ 10 นาที นักโทษคนหนึ่งทนไม่ไหว ยกมือขึ้นถาม

“การนั่งสมาธิสามารถทำให้ตัวลอยได้จริงหรือ”

ด้วยคำถามนี้ พระอาจารย์พรหมวังโสจึงเข้าใจว่าที่นักโทษทั้งหลายเข้ามานั่งฟังการสอนสมาธิกันแน่นห้อง

เพราะคิดว่าการนั่งสมาธิจะทำให้ตัวลอยได้

ทุกคนคงอยากเล่นเกมฮิตของเวิร์คพอยท์

“ร้องข้ามกำแพง”

เพราะถ้าฝึกแล้วตัวลอยได้จริง เขาจะได้ลอยตัวข้ามกำแพงคุก

ถือเป็นการแหกคุกรูปแบบใหม่

พระอาจารย์พรหมวังโสจึงอธิบายแบบเลี่ยงๆ ว่ามันเป็นไปได้เฉพาะนักปฏิบัติที่มีความสามารถเป็นเลิศบางคน

แต่ต้องใช้เวลาฝึกหลายปี

ครับ วันหลังที่ท่านกลับไปเทศน์อีกครั้ง

มีนักโทษที่เข้ามาฟังเหลือแค่ 4 คน

ทุกคนรู้แล้วว่าหนทางดับทุกข์ด้วยการนั่งสมาธิข้ามกำแพงนั้น

…ไม่มีจริง

เมื่อไปเทศน์ในคุกบ่อยๆ พระอาจารย์พรหมวังโสจึงเริ่มเข้าใจนักโทษมากขึ้น

ท่านบอกว่าอาชญากรทุกคนรู้สึกผิดกับสิ่งที่เขาได้ทำลงไป

เขาจะเปิดเผยความรู้สึกนี้เฉพาะเพื่อนสนิทที่เขาวางใจได้เท่านั้น

หากอยู่ต่อหน้าคนอื่น เขาจะสวมหน้ากากนักโทษที่ไม่ยี่หระต่อความผิดและไม่หวั่นกลัว

พระอาจารย์พรหมวังโสทำให้นักโทษหลายคนไว้วางใจ และยอมรับให้ท่านช่วยฟื้นฟูจิตใจเขา

ท่านเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่อง “เด็กนักเขียนห้อง ข”

ที่ประเทศอังกฤษ เคยมีการทดลองลับๆ ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง

เขาแบ่งนักเรียนเป็น 2 ห้องเรียน

มีการสอบประจำปีตอนปลายภาค แต่ไม่มีการประกาศผลสอบให้นักเรียนทราบ

มีเฉพาะครูใหญ่กับนักจิตวิทยาเท่านั้นที่รู้คะแนนสอบของแต่ละคน

จากนั้นเขาจัดห้องใหม่

ห้องแรก มีนักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุด อยู่ห้องเดียวกับเด็กที่ได้ที่ 4-5 ที่ 8-9 ที่ 12-13 ฯลฯ

อีกห้องหนึ่ง ก็ใช้การผสมผสานแบบเดียวกัน

มีทั้งคนที่ได้ที่ 2-3 ที่ 6-7 ที่ 10-11 ฯลฯ

สลับกันไปเรื่อยๆ

การแบ่งแบบนี้ทำให้เด็กทั้ง 2 ห้องมีความสามารถเท่าเทียมกัน

แต่เด็กห้องแรก ถูกเรียกว่า “ห้อง ก”

ห้องที่สอง เรียกว่า “ห้อง ข”

“ชื่อห้อง” ทำให้ผู้ปกครองและเด็กคิดว่า ห้อง ก คือห้องเด็กฉลาด

ห้อง ข เป็นเด็กไม่ฉลาด

ผู้ปกครองเด็กห้อง ก พอใจที่ลูกสอบได้คะแนนดีจนอยู่ห้องเก่ง จะชมเชยและให้รางวัล

ส่วนผู้ปกครองเด็กห้อง ข กลับดุเด็กว่าขี้เกียจ ทำงานหนักไม่พอจึงมาอยู่ห้องนี้

ภาพลวงตานี้ถูกเก็บเป็นความลับจนถึงการสอบปลายภาค

ผลการสอบเด็กนักเรียนห้อง ก ทำคะแนนได้ดีกว่าห้อง ข

กลายเป็นเด็กห้องคิงส์ไปจริงๆ

ส่วนเด็กห้อง ข ที่มีความสามารถเท่าเทียมกับเด็กห้อง ก กลับสอบได้แย่ลง

ราวกับว่าเป็นเด็กห้องบ๊วยจริงๆ

เด็กยังเป็นเด็กคนเดิม

แต่คำตอกย้ำและวิธีปฏิบัติจากคนรอบข้างภายในเวลา 1 ปี

ทำให้เด็กคิดว่าเขาเป็นเด็กที่แย่ และจากสิ่งที่เขาคิด

สุดท้ายก็กลายเป็นสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ

พระอาจารย์พรหมวังโส

พระอาจารย์พรหมวังโสเล่าเรื่องนี้ให้นักโทษที่ท่านเรียกว่า “สหายนักโทษคนคุก” ฟัง

และสอนว่า “จงอย่าคิดว่าตัวเองเป็นอาชญากร”

แต่ทุกคนเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมเท่านั้น

เพราะถ้าตอกย้ำตัวเองว่าเป็น “อาชญากร”

เขาจะเป็น “อาชญากร” จริงๆ

ท่านถาม “สหายนักโทษ” ว่าในปีที่เขาก่ออาชญากรรม นอกจากวันนั้นแล้วเขาได้ทำอะไรบ้าง

แน่นอน ทุกคนต้องมีวันดีๆ ของชีวิต

มีวันที่มีความสุข

มีวันที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น

พระอาจารย์พรหมวังโสจึงยกตัวอย่างเรื่อง “อิฐสองก้อน” ที่กำแพงในวัด

ท่านรู้สึกเสมอว่ากำแพงไม่สวยเพราะมีอิฐสองก้อนที่โผล่ออกมาทำให้กำแพงไม่ตรง

จนมีลูกศิษย์คนหนึ่งชมว่ากำแพงสวย

ท่านก็เถียงว่าไม่เห็นอิฐสองก้อนที่เบี้ยวหรืออย่างไร

ลูกศิษย์คนนั้นจึงบอกว่า น่าเสียดายอิฐอีก 998 ก้อนที่ตรงและสวยงาม

ชีวิตของนักโทษแต่ละคนก็เช่นกัน

ทุกคนล้วนมี “อิฐสองก้อน” ที่ผิดพลาด

แต่ยังมีอิฐอีก 998 ก้อนที่ดีงาม

ท่านสอนให้ทุกคนมองเห็นในสิ่งที่ดีงามในชีวิตบ้าง

ให้บอกตัวเองว่าเขาเป็นแค่คนหนึ่งที่ผิดพลาดก่ออาชญากรรม

แต่ไม่ได้เป็น “อาชญากร”

อย่าโบยตีตัวเองเหมือนนักเรียนห้อง ข

เพราะยิ่งคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ดีมากเท่าไร

สุดท้ายเขาก็อาจจะ “เป็น” ในสิ่งที่เขา “คิด” จริงๆ

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พระอาจารย์พรหมวังโสติดภารกิจ ไม่ได้ไปสอนในคุกหลายเดือน

ท่านได้รับโทรศัพท์จากผู้คุมนักโทษคนหนึ่ง

อยากให้พระอาจารย์พรหมวังโสกลับไปเทศน์ในเรือนจำอีก

เพราะเหล่าสหายคนคุกที่เป็นลูกศิษย์พระอาจารย์พรหมวังโส เมื่อครบกำหนดการจองจำแล้ว

ทุกคนไม่เคยหวนกลับมาเข้าคุกอีกเลย

เพราะเขาไม่ใช่ “อาชญากร”