ฤๅ เพราะ “พรหมลิขิต”

และแล้ววันที่ 1 สิงหาคม

การไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าวของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาถึงขั้นตอนสุดท้าย

เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงปิดคดีในคดีโครงการรับจำนำข้าว

ท่ามกลางบรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) อดีต ส.ส.พรรคเกือบทุกภาค และแกนนำ นปช. มาให้กำลังใจ

เช่นเดียวกับมวลชนร่วมพันคนจากทั้งภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย, ภาคอีสาน จ.ร้อยเอ็ด จ.ชัยภูมิ จ.กาฬสินธุ์ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ กทม. จากเขตลาดกระบัง และมีนบุรี

โดยต่างตะโกน “ยิ่งลัจำนำกษณ์สู้ๆ” เสียงดังก้องไปทั้งบริเวณ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ฝ่ายรัฐบาล ทหาร และตำรวจ ปลอบและขู่ ให้มวลชนเหล่านี้ไม่ควรเดินทางมาศาลเพราะอาจจะเกิดความวุ่นวาย

แต่มวลชนเหล่านี้ก็มา

นำมาสู่ความปลาบปลื้มของ “จำเลย” อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างยิ่ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกอัยการสูงสุดฟ้องฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว กระทั่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท และปล่อยปละละเลยให้โครงการดำเนินต่อไปจนก่อให้เกิดการทุจริตในขั้นตอนของโครงการที่เกี่ยวเนื่อง

ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็สู้จนถึงขั้นตอนสุดท้าย แถลงปิดคดีด้วยวาจา

วาจาที่เธอระบุว่า “กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้”

โดยยืนยันว่า ถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม และมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง

จากนั้นใช้เวลาแถลงปิดคดี 1 ชั่วโมง สำหรับเนื้อหาที่ยาว 19 หน้า

โดยย้ำใน 6 ประเด็นคือ

1. ข้อกล่าวของ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด และคำฟ้องอัยการโจทก์ มีพิรุธ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เริ่มกล่าวหาด้วยเอกสาร 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวน 79 วัน และเร่งชี้มูลความผิดหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตนพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน ทั้งที่ข้อกล่าวหาต่อคนอื่นเรื่องทุจริตระบายข้าวยังไม่มีข้อสรุป แล้วยังนำเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในสำนวนคดีระบายข้าว เสมือนมาเป็นหลักฐานใหม่กล่าวหา ทั้งที่ครั้งแรกในชั้น ป.ป.ช. ไม่มีเอกสารส่วนนี้ กระทั่งฟ้องแล้วจึงนำมาเสนอศาล

2. นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องปฏิบัติตามและเป็นนโยบายสาธารณะที่ทำเพื่อชาวนา

3. ยืนยันไม่ได้เพิกเฉยเพราะมีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ เพื่อปฏิบัติการและถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงเป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ มิใช่ในฐานะนายกฯ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

4. โครงการจำนำข้าวไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง แต่เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและทางอ้อม คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น และยังส่งผลให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสภาพัฒน์ได้ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าควรดำเนินโครงการไปจนถึงปี 2558 ซึ่งไทยกำลังจะเข้าสู่เออีซี

5. ยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช.

6. ไม่ได้ปล่อยปละให้ทุจริตระบายข้าว ซึ่งข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องระดับปฏิบัติการ มีคณะกรรมการรับผิดชอบ และเป็นเรื่องกรมการค้าต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ดูแล โดย ครม. ใช้ความระมัดระวังใส่ใจเรื่องการระบายข้าวโดยมีมติกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันการทุจริตให้เข้มงวดขึ้น

เมื่อมาถึงช่วงท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อกล่าวสรุปว่า

“ดิฉันรู้ดีว่า ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง จึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงและสภาวะแวดล้อม ในขณะที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐาน ที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการของดิฉันในอดีต

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเยี่ยมเยือนชาวนาและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากวิกฤตราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบัน ระหว่างทางที่จังหวัดศรีสะเกษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แวะพบชาวนากลางทุ่งนาขณะที่กำลังเกี่ยวข้าวที่บ้านโชคอุดม ต.ผือใหญ่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

ดิฉันใคร่ขอเรียนโดยสรุป ดังนี้

1. นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ “พาณิชย์นโยบาย” ที่คิดกำไรขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้

2. ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเอง จึงควรพิจารณาบทบาทของดิฉัน ในฐานะผู้กำกับนโยบาย ไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากมีผู้ปฏิบัติกระทำผิดในขั้นตอนใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นๆ โดยที่ไม่เคยมีกรณีที่มากล่าวหาให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมด้วยกับฝ่ายปฏิบัติ ดังเช่นที่โจทก์และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำต่อดิฉันในครั้งนี้ อย่างที่ไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดๆ ถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้มาก่อน

3. ดิฉันขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ตามรายงาน ป.ป.ช. ที่สรุปชี้มูลว่าดิฉันไม่ได้ทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตและไม่รับฟังพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการไต่สวน หรือกล่าวหาดิฉันในชั้น ป.ป.ช. แต่เป็นการที่โจทก์เพิ่มเติมหลักฐานใหม่ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจผิด ว่าดิฉันเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งกระบวนการสร้างความเสียหาย ให้ดิฉันต้องรับผิดทางแพ่งจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่สั่งการในที่ประชุมว่า “ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม”

ดิฉันขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอได้โปรดพิจารณาคดีนี้ โดยคำนึงถึงเจตนาที่สุจริต ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ

การกระทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป

สุดท้ายนี้ ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต

ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ

แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร

ซึ่งคำพูดนี้เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่ามีการกระทำความผิดแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน”

หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์เสร็จสิ้นกระบวนการปิดคดีทั้งด้วยรอยยิ้มและน้ำตา

องค์คณะได้แจ้งในสิ่งที่ไม่เป็นคุณกับฝ่ายจำเลยนัก คือปฏิเสธคำร้องขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการไต่สวนคดีความนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560

พร้อมนัดให้ฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ตามนัดเดิม ซึ่งตรงกับวันตัดสินคดีซื้อขายข้าวจีทูจี ที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นจำเลย

ซึ่งเป็นอีกปมหนึ่งที่หลายฝ่ายมองว่า อาจจะเชื่อมโยงกันกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่เป็นผลดีต่อเธอนักก็ได้

จึงทำให้หลายฝ่ายเชื่ออย่างที่เคยเชื่อ นั่นคือ ไม่เพียงการต่อสู้ในทางพยานหลักฐานเท่านั้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังอาจถูก “พรหมลิขิต” ให้เผชิญโชคชะตา “บางอย่าง” ด้วย

ซึ่งนี่เองทำให้ในตอนท้ายของการแถลงปิดคดีด้วยวาจา

น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงกล่าววิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต

“ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ”

แน่นอน คำกล่าวนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกมาตอบโต้ว่า

“ผมไม่เคยไปสั่งอะไรกับกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเท่านั้น”

ในนาทีนี้ และต่อเนื่องไปถึงวันที่ 25 สิงหาคม ไม่มีใครรู้ว่าคดีโครงการรับจำนำข้าวจะออกมาอย่างไร

แต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ได้กล่าวเป็นนัยๆ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญใหม่

AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

เพียงแต่จะอุทธรณ์ในข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงได้ จะต้องรอดูว่าในวันนั้นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีผลบังคับใช้แล้วหรือยัง

หากมีผลแล้วก็สามารถอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

แต่หากกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการยื่นอุทธรณ์ แต่ก็ต้องฟังว่า ศาลจะใช้ดุลพินิจในการรับหรือไม่รับ

การที่นายมีชัยชี้ช่องดังกล่าว

ด้านหนึ่ง อาจต้องการลดแรงกดดันจากฝ่ายสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่ายังมีช่องทางสู้ได้อีก จึงไม่ควรสร้างความวุ่นวายหากผลการตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคม ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

แต่ก็ดูจะไม่ได้รับการเห็นพ้องจากนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นัก

โดยชี้ว่าอาจเป็นการก้าวล่วงและชี้นำคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้

สะท้อนว่า การขับเคี่ยวหักเหลี่ยมในคดีนี้น่าจะดำเนินไปจนกระทั่งผลการพิพากษาจะออกมา

เพราะต้องไม่ลืมว่า การได้-เสียในคดีนี้ มีผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างสูงยิ่ง และการต่อสู้ไม่ได้อยู่ที่เพียงพยานหลักฐาน

หากแต่มีพรหมลิขิต “บางอย่าง” มากำหนดด้วย!