
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
‘เครื่องมือ’
ทํางานในป่า มีความจริงอย่างหนึ่งคือ ผมไม่ใช่ผู้ที่กำหนดเวลา ผมไม่รู้หรอกว่า เมื่อไหร่สัตว์ที่เฝ้ารอจะออกมาให้พบ ทำได้แค่คาดการณ์ และรอ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมพบคือ การรอนั้นมีข้อดี รออยู่นิ่งๆ ทำให้ได้เห็น และได้ยินความเป็นไปชัดเจน
“เห็นทั้งรอบๆ” และ “ข้างใน” ตัว
กลางเดือนตุลาคม ผมไม่ได้นับหรอกว่า อยู่ในป่ามานานเท่าไหร่ แต่เก้งตัวเมียโตเต็มวัยที่เดินมาที่ลำห้วย ด้านหลังมีลูกตัวเล็กท่าทางร่าเริงกระโดดไป-มา ทางโน้นทางนี้ เก้งตัวแม่หยุดมองซ้าย-ขวา ก่อนเดินลุยข้ามน้ำมาช้าๆ ลูกชะเง้อดูแม่และทำตาม
ระดับน้ำลึกพอท่วมหน้าแข้ง แต่กระนั้นน้ำก็สูงถึงช่วงท้องเจ้าตัวน้อย แม่เก้งเงยหน้า สายตาระแวดระวัง หันมองซ้าย-ขวา ก่อนเดินต่อ
ทั้งคู่เดินเข้ามาในแคมป์ และผ่านไปช้าๆ ผมนั่งมองพวกมันเงียบๆ
ผมจำไม่ได้ว่า อยู่ในป่ามานานเท่าไหร่แล้ว แต่สิ่งที่เก้งแม่-ลูกคู่นี้ทำก็ทำให้รู้สึกว่า มันคงจะนานพอสมควร จนกระทั่งแคมป์เป็นคล้ายส่วนหนึ่งของบริเวณนี้ไปแล้ว
หรือบางทีไม่ใช่เพราะความกลมกลืน
ความจริงอาจอยู่ที่ผมเป็นแค่อะไรสักอย่างที่มีขนาดเล็กเกินกว่าพวกมันจะมองเห็น
ทุกครั้งที่อยู่ในภารกิจเฝ้ารอเสือ ซึ่งนักวิจัยเรียกช่วงเวลานี้ว่า การ “เปิดกรง”
เราใช้เวลาอยู่กับการรออยู่ในป่ากระทั่งลืมวัน ออกไปไหนไม่ได้ ผมรู้สึกเสมอว่า เราเองนี่แหละที่อยู่ในกรง ข้างนอกนั่นเสือเดินไป-มาอย่างอิสระเสรี
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเรากำลังทำงานกับนักล่าหมายเลขหนึ่งผู้มีร่างกายที่ไม่เพียงได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม แต่ยังมีทักษะอื่นๆ ครบถ้วน
พวกมันรับรู้ถึงสิ่งผิดปกติ รู้ว่าเราทำอะไร
และมันทำให้เราเห็นความจริงในป่าชัดเจนว่า เสือเหนือกว่าเราเพียงใด
เป็นเสือนั้นไม่ง่าย นี่ไม่ใช่คำพูดเล่นๆ หรือพูดเท่ๆ
ในความเป็นเสือ การแข่งขันในระหว่างพวกมันมีไม่น้อย อาณาเขตคือพื้นที่หวงห้าม การครอบครองอาณาเขตอยู่ได้ไม่นาน การถูกเบียดออกจากพื้นที่ตัวเองโดยเสือที่เข้มแข็งกว่า เป็นเรื่องธรรมดา เป็นหนึ่งในวิถีของพวกมัน
นักวิจัยพบว่า ทั่วๆ ไป เสือตัวผู้ครอบครองพื้นที่ได้ราวๆ สองปี ส่วนตัวเมียครอบครองได้นานกว่า และนักวิจัยยังมีข้อมูลว่า ในพื้นที่ราวๆ 200 ตารางกิโลเมตรที่ เสือตัวผู้ครองนั้น มีตัวเมียอยู่ในนั้น 3 ตัว
การเดินลาดตระเวนอาณาเขตของเสือตัวผู้เป็นงานสำคัญของมัน ตรวจตราไม่ให้มีผู้บุกรุก ทำสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงความเป็นเจ้าถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการพ่นฉี่ หรือที่เรียกว่าสเปรย์ ตะกุยดิน ตะกุยต้นไม้ไว้เป็นระยะ
มันเดินตรวจอาณาเขตใช้เวลาราว 15-20 วัน จึงวนกลับมาที่เดิม
เสือตัวเมียก็มีภารกิจในการเดินตรวจอาณาเขตตัวเองอย่างเข้มงวดเช่นกัน
สำหรับการรอที่จะพบกับเสือ พบเจอร่องรอยเสือใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีหรอก
เพราะร่องรอยหมายความว่า เสือผ่านไปแล้ว และอีกนานจึงจะย้อนกลับมา
ในแคมป์ซึ่งมีทางรถเข้าถึง ทำให้เกิดความสะดวกสบายพอสมควร
อยู่นานๆ ผมเลือกที่จะนอนในเต็นท์มากกว่าเปล ถึงวัยที่ไม่เหมาะกับการนอนเปลแรมเดือนแล้ว
ผ้ายางกันฝน หรือฟลายชีต เราใช้ผืนใหญ่ที่มีน้ำหนักมากได้ มันกันฝนได้ดี แต่อีกนั่นแหละ หากฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ละอองฝนสาดเข้าทุกทิศทาง ผ้ายางผืนใหญ่ก็ช่วยไม่ได้สักเท่าไหร่
เมื่อรถเข้าถึง ออกไปซื้อเสบียงไม่ยุ่งยาก จึงเป็นความสุขของพ่อครัวที่จะสร้างสรรค์เมนู พลิกแพลงรายการอาหารได้ในวันแรกๆ วันต่อๆ มาก็มีหน่อไม้เป็นอาหารหลัก
อีกทั้งทุกคนที่ทำหน้าที่พ่อครัว จะมีคุณสมบัติพิเศษในการรู้จักกับพืชที่กินได้ทุกชนิด พืชกินได้หลายชนิดมีชื่อแปลกๆ ที่บอกต่อๆ กันมา จนย้อนกลับไปไม่ถึงว่า ทำไมจึงเรียกแบบนั้น
บรรยากาศในแคมป์มีเสียงพูดคุยในวันแรก ต่อๆ มาคือความเงียบ ไม่มีเรื่องอะไรคุยกันนัก บทสนทนาเป็นหัวข้อเดิมๆ
ส่วนใหญ่นั่งกันเงียบๆ ข้างกองไฟ
ท้องฟ้าส่งเสียงครืนๆ ละอองฝนโปรย ผมเข้าเต็นท์ ลืมตาในความมืดมิด
หวังว่า คืนนี้ลมคงไม่แรงเกินไป กิ่งไม้ไม่หัก และพรุ่งนี้อากาศจะแจ่มใส
ตีห้า ชะนีส่งเสียงก้องไปทั่ว 2-3 วันมานี้ นี่คือเสียงคล้ายนาฬิกาปลุกขนาดใหญ่ที่ปลุกทุกเช้า
ต้นไทรใหญ่ไม่ไกลจากแคมป์ออกลูกสุก ชะนีครอบครัวนี้ส่งเสียงประกาศอาณาเขต ตัวผู้ส่งเสียงสูงๆ ต่ำๆ ส่วนตัวเมียเริ่มจากเสียงต่ำ ไล่เสียงสูงไปเรื่อยๆ และวนกลับมาเสียงต่ำอีก โดยมีลูกช่วยส่งเสียงประสาน
เสียงนกเซ็งแซ่ เมื่อสภาพอากาศแจ่มใส เป็นเวลาเช้าที่ไร้เมฆฝน
บนผืนทรายริมห้วยเต็มไปด้วยผีเสื้อ ส่วนใหญ่อยู่ในสกุลเจ้าเณร
บางตัวมีขนาดใหญ่ สีสวยงาม บางตัวรูปร่างราวกับใบไม้ บางตัวบินมาเกาะนิ่งอยู่บนแขน บนเท้า
เมื่อมันไม่ขยับปีกก็ไม่ต่างจากใบไม้ใบหนึ่ง
เก้งแม่-ลูกเดินผ่านไปราวผมไร้ตัวตน ผีเสื้อบินมาเกาะ เหมือนผมเป็นหินก้อนหนึ่ง
ผมมองรอบๆ ตัว อยู่ท่ามกลางป่าผืนใหญ่ สัมผัสความจริงได้ว่า ไม่ใช่เพราะอยู่มานานกระทั่งกลมกลืน
เพียงเพราะผมมีขนาดเล็กเกินกว่าชีวิตรอบๆ ในผืนป่ากว้างจะมองเห็น
และนี่อาจเป็นความหมายหนึ่งของการเรียน
เรียนโดยใช้กล้องและเลนส์เป็น “เครื่องมือ”…