‘เยาวรุ่น’ รุ่นแรก กับการปราบกบฏบวรเดช 2476 : ความในใจของ น.ส.พยงค์ กลิ่นสุคนธ์/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘เยาวรุ่น’ รุ่นแรก

กับการปราบกบฏบวรเดช 2476

: ความในใจของ น.ส.พยงค์ กลิ่นสุคนธ์

 

“พวกบฏมีเจตนาขายชาติ เราจะไม่ยอมให้มันกระทำเช่นนั้นเป็นอันขาด เราต้องช่วยกันกำจัดมัน”

(พยงค์ กลิ่นสุคนธ์, ประชาชาติ 3 พฤศจิกายน 2476)

 

สตรีไทยกับการเมือง

การศึกษาเรื่องบทบาทสตรีในการเมือง และสตรีกับการปฏิวัติเป็นหัวข้อที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ เช่น การศึกษาสตรีกับกระบวนการปฏิวัติฝรั่งเศส

แต่สำหรับการศึกษาบทบาทสตรีกับการปฏิวัติ 2475 เพิ่งเริ่มมีการศึกษาไม่นานมานี้ จากการตั้งข้อสังเกตว่า สตรีไทยมีบทบาทในการปฏิวัติ แต่เหตุใดบทบาทของสตรีจึงถูกมองไม่เห็นและไม่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างเพียงพอ (ไทรเรล ฮาเบอร์คอร์น 2558)

ต่อมามีการศึกษาบทบาทของสตรีกับการปฏิวัติ 2475 ดังใน หลังบ้านคณะราษฎร (ชานันท์ ยอดหงส์ 2564) เป็นต้น

ภาพถ่ายเดี่ยวของอาสาสมัครพยงค์ที่กองสเบียง และหนังสือพิมพ์ประชาชาติลงข่าวเรื่องราวของเธอ

พลันที่คณะราษฎรปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการขีดเส้นแบ่งระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบประชาธิปไตย แต่ความพยายามสร้างสังคมใหม่ของคณะราษฎรกลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษนิยมในหลายรูปแบบ เช่น การรัฐประหารเงียบด้วยพระราชกฤษฎีกา (2476) แต่ไม่สำเร็จจึงนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารในกบฏบวรเดช (2476) ในที่สุด

เมื่อกบฏบวรเดชประชิดทัพชานพระนครราวกลางเดือนตุลาคม 2476 ที่หลักสี่และบางเขน โดยพระองค์เจ้าบวรเดชรับบทแม่ทัพที่ต้องการกู้บ้านกู้เมืองกลับคืน ยื่นมาถึงรัฐบาลในวันที่ 12 ตุลาคม ให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกภายใน 1 ชั่วโมง

ทันทีที่ชาวพระนครทราบการมาของกองทัพกบฏ ปรากฏว่ามีเหล่าพลเมืองมาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลจำนวนมาก

พวกเขาต้องการเป็น “ทหารอาสาสมัครปราบกบฏ” ทำหน้าที่ “รบพุ่งปราบปรามจลาจลเพื่อรักษารัฐธรรมนูญและความสงบแห่งชาติ”

มีทหารกองหนุนจำนวนมากรายงานตัว ทั้งๆ ที่รัฐบาลยังไม่มีหมายระดมพลแต่ประการใด

รัฐบาลเริ่มตั้งรับทางการทหารในช่วงเย็นวันที่ 13 ตุลาคม 2476 ที่สถานีรถไฟบางซื่อ “สพึบพร้อมไปด้วยอาวุธใหญ่น้อย บรรดาทหารทุกคนต่างประจำหน้าที่ของตนโดยกวดขัน”

ประชาชนโบกมือส่งและพร่ำกล่าวว่า “ไปเถิดพ่อนักรบ ไปพร้อมกับความสวัสดีมีชัย”

เมื่อพ้นสถานี รถจักรดับไฟที่หัวรถจักร พุ่งตรงไปในความมืดสู่สมรภูมิ มีการยิงปะทะกันประปรายระหว่างทาง

นายทหารฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่งเล่าถึงแนวรบที่บางเขนว่า “เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2476 เสียงปืนของทั้งสองฝ่ายดังกึกก้องท้องทุ่งบางเขนได้ยินไปไกลถึงปทุมธานีและอยุธยาบางอำเภอ…”

ในจังหวัดอื่นๆ รอบพระนครนั้น ชาวสมุทรสาครมีความตื่นตัวมากมีการชุมนุมพลเมืองอาสาสมัครขึ้น มีรายงานกลับมายังรัฐบาลว่า “ชายฉกรรจ์พวกนี้เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐบาลและรักรัฐธรรมนูญ” พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลส่งอาวุธมาให้ เพื่อใช้ต่อสู้กับพวกกบฏ

บรรยากาศเหล่านั้นย่อมมีผลต่อวัยรุ่นหญิงชาวสมุทรสาครคนหนึ่งด้วยเช่นกัน

น.ส.พยงค์ กลิ่นสุคนธ์ คนที่ 3 จากซ้าย ถ่ายภาพหมู่กับชาวบ้านสตรีแก่งคอยที่มาช่วยปราบกบฏบวรเดช

“เธอยังอยู่ในวัยสาว”

อาสามัครพยงค์ กลิ่นสุคนธ์

หากใครอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อ 88 ปีที่แล้ว เช้าวันที่ 30 ตุลาคม 2476 อาจจะได้พบหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ น.ส.พยงค์ กลิ่นสุคนธ์ ยืนที่ชานชาลา

เธอหอบกระเป๋าเดินทางพร้อมพาหัวใจมุ่งมั่นอยากเป็นอาสมัครไปแนวหน้าช่วยรัฐบาลคณะราษฎรปราบกบฏบวรเดชที่ยกทัพมาล้มล้างระบอบการปกครองที่หยิบยื่นสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนและเธอ

ในระหว่างที่รอรถไฟนั้นเป็นไปได้ว่า หัวใจคงไปรอตัวเธอที่จุดหมายแล้ว

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2476 รายงานข่าวถึง น.ส.พยงค์ผู้กล้าหาญไว้ว่า ที่ชานชาลาสถานี นครราชสีมา เวลา 3 ทุ่มของวันที่ 30 ตุลาคม “เธอแต่งกายอันสะดุดนัยน์ตา กล่าวคือ สวมรองเท้ายางขาว นุ่ง (ผ้าสี) ม่วง ถุง (เท้า) สีน้ำตาล สวมเสื้อนอกขาวคอแบะแขนยาว เบื้องบนศีรษะคลุมด้วยแพรขาวสะอาด ในเนื้อแพรตอนหน้าผากประดิษฐ์ด้วยอักษรไทยตัวแดงงามว่า พลีชีพเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

เมื่อรถไฟหยุดที่สถานีนครราชสีมาแล้ว ผู้โดยสารคนอื่นๆ ทยอยลงจากรถไฟแล้ว เธอนั่งสงบนิ่ง รวบรวมสมาธิอยู่บนโบกี้รถไฟ พร้อมเปิดสมุดบันทึกเล่มเล็กอ่านทบทวนข้อความในนั้นอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งตำรวจรถไฟที่ขึ้นมาตรวจความเรียบร้อบแจ้งเธอว่า สิ้นสุดเส้นทางแล้ว เธอจึงหิ้วกระเป๋าเดินทางของเธอลงมาที่ชานชาลา

หนังสือพิมพ์รายงานต่อไปว่า “ท่ามกลางหมู่คนซึ่งเธอผ่าน เธอได้ยกนิ้วขึ้นชูได้ระดับหน้า ด้วยลักษณะองอาจ พร้อมกล่าวว่า ดิฉันขอขอบพระเดชพระคุณท่านทั้งหลายที่ได้ทำการปราบกบฏได้สำเร็จเรียบร้อย” และ “ด้วยท่าทางอันองอาจหาญผิดเพศผิดวัยของเธอทำให้ผู้คนพากันไปมุ่งมองแน่นเข้าทุกที ตำรวจรักษาการณ์จึงเชิญสาวน้อยผู้นี้เข้าไปพักที่ห้องพักผู้โดยสารชั้นสาม”

ภายในห้องพักผู้โดยสารเธอได้ยืนขึ้น กล่าวปราศรัยกับประชาชนด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า

“พวกกบฏมีเจตนาขายชาติ เราจะไม่ยอมให้มันกระทำเช่นนั้นเป็นอันขาด เราต้องช่วยกันกำจัดมัน” และเธอกล่าวปิดท้ายที่ห้องพักผู้โดยสารว่า “ชาติ ศาสนา รัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์ ต้องดำรงอยู่คู่ฟ้าดินสลาย”

กลุ่มสตรีในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789

ต่อมานักข่าวได้สัมภาษณ์เธอ เธอเล่าประวัติว่า เธอเป็นชาวสมุทรสาคร บิดาชื่อนายยิ้ม มารดาชื่อนางสุข ต่อมาอาศัยในกรุงเทพฯ ที่บ้านของขุนเจริญราชเกษตร ผู้เป็นลุง แต่หนนี้ที่จะมาโคราช เธอพักที่บ้านหลวงสนิทฯ ผู้เป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เธอเล่าถึงแรงดลใจในการมาร่วมปราบกบฏกับรัฐบาล ทั้งที่เธอเป็นเพียงสตรีนั้นว่า เธอได้อ่านข่าวพบว่า คุณหญิงพหลโยธิน หัวหน้าสตรี ได้เคยมาช่วยเหลือการรบ ดังนั้น เธอจึงเห็นว่า สตรีมาแนวหน้าได้ เธอจึงต้องการมาช่วยรัฐบาลด้วย

เธอเล่าต่ออีกว่า ที่ชานชาลาในคืนวันที่ 30 ตุลาคม ตำรวจได้พาเธอไปหาที่พัก จากนั้นบอกเธอว่า การปราบปรามกบฏสิ้นสุดแล้ว จึงอยากให้เธอกลับบ้าน เช้าวันรุ่งขึ้น “เธอยอมกระทำตามโดยดี หิ้วกระเป๋าใบหนึ่งไปรอรถไฟอยู่ที่สถานีรถโคราช แต่เมื่อไปถึง รถไฟได้ออกไปเสียแล้ว พอดีได้เจอกับนายทหารผู้ใหญ่บางคน จึงมีการซักไซ้ไล่เรียงกันขึ้น จนนายทหารผู้นั้นมีความเชื่อมั่นในความตั้งใจอันแก่กล้าของเธอแล้ว ก็ได้พาไปรายงานตัวต่อชั้นผู้ใหญ่ และได้บรรจุเข้ากองเสบียงดังกล่าว”

ต่อมานักข่าวเข้าไปสัมภาษณ์เธอที่กองเสบียง ที่บ้านพักรถไฟ พบว่า “เธอกำลังง่วนอยู่กับงาน” นักข่าวถามเธอว่า สมหวังดังใจที่มาช่วยรัฐบาลปราบกบฏหรือไม่ เธอตอบว่า “ที่ไหนได้ ผิดหวังหมดด้วยซ้ำไป ตั้งใจว่าจะไปอยู่กองหน้า แต่ต้องมาอยู่กองนี้ โดยไม่ได้ไปกองหน้าสมความหวัง”

ต่อมาเมื่อนายทหารทราบความมุ่งมั่นของเธอจึงมอบหมายให้ น.ส.พยงค์ออกไปจ่ายเสบียงที่กองรบในแนวหน้าให้สมดังความต้องการ

และเรื่องราวของเธอในข่าวเท่าที่ค้นพบจึงสิ้นสุดเพียงนี้

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสตรีกับการปกป้องประชาธิปไตยในช่วงนั้น ยังคงพบในจดหมายบริจาคแหวนแต่งงานสมทบทุนให้รัฐบาลปราบกบฏของนางปุ่น สุภาพันธ์ ชาวเพชรบุรี

“ดิฉันเป็นราษฎรสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งไม่มั่งมีศรีสุขอย่างใด แต่ทั้งกายและใจของดิฉันเคารพมั่นคงในรัฐธรรมนูญซึ่งใต้เท้าได้เป็นประมุขนำมาหยิบยื่นให้ด้วยพลีชีวิต ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อประเทศต้องการเพื่อรักษารัฐธรรมนูญของชาติให้สถิตสถาพรอยู่ ดังนั้น ดิฉันได้ส่งแหวนมาพร้อมจดหมายนี้ 1 วง แม้จะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ ไม่มีราคาเท่าใดนัก แต่เป็นของมีค่าที่สุดของดิฉันสิ่งหนึ่ง เพราะเป็นแหวนวิวาห์ของดิฉัน…”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้งพยงค์และปุ่นต่างมีสำนึกทางการเมืองที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นเป็นยิ่งนัก

แม้นบทบาทของพวกเธอจะมิได้ออกปฏิบัติการร่วมกับคณะราษฎรในการปฏิวัติและพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยด้วยการติดอาวุธ แต่ความกล้าหาญใจเด็ดของพวกเธอหาลดน้อยไปกว่าพลเมืองชายเลย

คุณหญิงบุญหลง พลพยุหเสนา (ขวา) ในวันเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช และรูปปั้นเทพีพิทักษ์รัฐธรรมนูญ