เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (จบ) ยังไม่จบ/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (จบ)

ยังไม่จบ

 

คําถามแรกที่หมอถามผู้ป่วยคือ เหนื่อยไหม นี่เป็นคำถามสำคัญที่คนไม่เป็นโควิดจะไม่เข้าใจ

ในช่วงแรกๆ ความเหนื่อยนั้นถึงขั้นที่ว่าพูดเพียงสองสามประโยคก็เหนื่อยแล้ว หายใจติดขัด เสียงขาดช่วง

ความเหนื่อยนั้นแม้จะลดลงเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา แต่ก็ยืนยาวจนถึงทุกวันนี้ (1 กันยายน 2564)

ความเหนื่อยทำให้ในช่วงก่อนหน้านี้ดิฉันเขียนหนังสือแทบไม่เป็นตัว เขียนแล้วสงสัยว่าทำไมลายมือจึงเป็นเช่นนี้ ทั้งนี้เพราะข้อมือและนิ้วไม่มีแรง

ความเหนื่อยทำให้เวลาที่จะลุกเดิน จะต้องมีคนประกบ มีที่ให้จับเกาะเพื่อระวังมิให้ตนเองล้ม

กว่าที่จะเดินเองคนเดียวได้โดยไม่ต้องจับเกาะอะไรก็หลัง 10 สิงหาคมไปแล้ว

อาการมึนงงมากับอาการเหนื่อย ในกลุ่มไลน์เพื่อนอักษร เรามักจะแต่งกลอนแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นต่อภาพที่เพื่อนคนหนึ่งส่งมาทุกวัน โดยปกติเมื่อเห็นภาพ คำและความคิดจะพุ่งขึ้นมาพร้อมกันทันที แต่ดิฉันกลับหาคำไม่เจอ คิดไม่ชัดเจน เข้าฉันทลักษณ์ก็ไม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

กว่าจะแต่งกลอนได้ครั้งแรกก็ 19 กรกฎาคม จะทำอะไรก็คิดอยู่นานว่าทำอย่างไร

ช่วงกักตัว 14 วันที่บ้าน (28 กรกฎาคม-10 สิงหาคม 2564) ดิฉันเปิดสมาร์ตทีวีไม่ได้ เพราะกดรีโมต 2 ตัวไม่ถูก ได้แต่ฟังเพลงในยูทูบเพราะใช้พูดสั่ง

กว่าจะเปิดทีวีหาช่องได้ก็เพียง 2 วันก่อนจบการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิก

วันที่ 19 สิงหาคม ตอนบ่ายเมื่อได้พบคุณหมอเอ็กซเรย์ปอด คำถามแรกของคุณหมอก็คือ เหนื่อยไหม ดิฉันตอบว่าเหนื่อยนิดหน่อยค่ะ คุณหมอถามว่ามียามากินต่อช่วงพักฟื้นที่บ้านหรือเปล่า ยาเม็ดสีชมพูน่ะ เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่มี

คุณหมอก็เฉลยว่า ปอดของดิฉันวันนี้มีฝ้าขาว ไม่ดีเหมือนครั้งสุดท้ายที่เอ็กซเรย์ไว้

ดิฉันจึงได้เข้าใจว่าที่ตนเองรู้สึกตั้งแต่สองวันก่อนหน้านี้ว่าเพลียกว่าเดิม เป็นเพราะปอดมีฝ้าเพิ่มนั่นเอง

 

คุณหมอนัดเอ็กซเรย์ปอดและเจาะเลือดในอีกหนึ่งเดือน การเจาะเลือดนั้นเพื่อดูค่าไตและเบาหวานอันอาจเกิดได้จากการกินยาสเตียรอยด์ และค่าอื่นๆ อีก 4-5 ตัว ซึ่งดิฉันเข้าไปค้นในกูเกิล แต่ไม่เข้าใจศัพท์ทางการแพทย์นัก คิดว่าคงเกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด-19

คุณหมอสั่งยาสเตียรอยด์ Prednisolone 5 mg. ให้กินเช้า-เย็นหลังอาหารทันทีมื้อละ 3 เม็ด เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และลดลงเหลือมื้อละ 2 เม็ดอีก 2 สัปดาห์ ยา Miracid เคลือบกระเพาะ ยาปฏิชีวนะ Bactrim และ Folic Acid บำรุงเลือดบำรุงสมอง

กำหนดพบคุณหมอครั้งต่อไปคือวันที่ 16 กันยายน

ตั้งแต่ได้กินยา ดิฉันก็รู้สึกว่าแข็งแรงขึ้น หวังว่ายาจะได้ผล ฝ้าขาวที่ปอดจะจางลง

ดิฉันบริหารปอดและร่างกายวันละ 3 รอบตลอดตั้งแต่กลับมาพักฟื้นที่บ้าน

นอกจากญาติที่เป็นอดีตพยาบาลแล้ว ดิฉันยังมีกัลยาณมิตรรุ่นน้องอีก 2 คนที่ผลัดกันมาอยู่เป็นเพื่อน

คนหนึ่งเป็นอาจารย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง ชอบทำอาหาร ดิฉันจึงมีอาหารอร่อยๆ รับประทาน

อีกคนทำงานสำนักพิมพ์มาช้านาน เคยเข้ารับการอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับกับดิฉัน ชอบทำสวน สวนที่บ้านจึงดูเข้าที่เข้าทางขึ้น

ส่วนญาติของดิฉันนั้นรักความสะอาดเป็นที่ยิ่ง ล้างสบู่ทุกอย่างแม้แต่ไข่ไก่ก่อนจะเก็บเข้าตู้เย็น แน่ละ ฉีดแอลกอฮอล์ของทุกชิ้นก่อนนำเข้ามาในตัวบ้าน หากดิฉันทำอย่างเธอแต่แรก เราคงไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ญาติดิฉันและรุ่นน้องสำนักพิมพ์กวาดบ้านถูบ้านให้โดยไม่ต้องร้องขอ ส่วนอาจารย์นั้นมานั่งสอนออนไลน์ที่บ้านดิฉัน สอนผู้เรียนที่อินโดนีเซียบ้าง จีนบ้างตลอดช่วงเช้า บ่ายก็ไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ให้ดิฉัน

 

ดิฉันขอกล่าวถึงคนสำคัญยิ่งที่ช่วยเป็นธุระให้ดิฉันทุกเรื่องขณะรักษาตัว คือน้องสาวของดิฉันและครอบครัวของน้อง ครอบครัวน้องทำธุรกิจส่วนตัวจึงบริหารจัดการเวลาได้

น้องและลูกชายสองคนซื้อของใช้สำหรับดิฉันและสามี วิ่งรถจากวัชรพลมาส่งก่อน 11 โมงเช้าตามกำหนดของโรงพยาบาล น้องสาวโทรศัพท์ถามอาการของดิฉันจากคุณหมอ หลานชายของสามีโทรศัพท์ถามอาการของลุงของเขาจากคุณหมอแล้วส่งข่าวถึงกันในหมู่ญาติ

น้องสาวและครอบครัวเป็นธุระในการฌาปนกิจเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม หลานส่งวิดีโอมาให้ดิฉันซึ่งยังรักษาตัวอยู่ที่ตึกสมเด็จย่าดู เป็นธุระในการทำบุญครบ 7 วันเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ทำสังฆทานเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับครอบครัวผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดิฉันได้ดูวิดีโอเช่นเดิม เป็นธุระในการทำบุญครบ 50 วันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม เป็นงานแรกที่ดิฉันได้ไปร่วมอุทิศส่วนกุศลให้สามี

ช่วงที่อยู่ที่ตึกสมเด็จย่า ดิฉันเขียนในไลน์ถึงน้องสาวว่า “รักน้องสาวสุดประเสริฐของพี่ ขอบพระคุณพ่อกับแม่ที่ให้น้องสาวคนนี้มา”

ดิฉันพูดว่าตนเองมีอาการมึนงง แต่ในบทความนี้ดิฉันระบุวันเวลาได้ ทั้งนี้ น้องสาวดิฉันบันทึกทุกเรื่องที่เขารับทราบจากดิฉัน จากคุณหมอ และพยาบาลที่ติดต่อด้วย

 

นอกจากน้องสาวแล้ว ดิฉันมีเพื่อนบ้านที่ค่อยช่วยเหลือเมื่อกลับมาพักฟื้นที่บ้าน เพื่อนบ้านคนหนึ่งทำอาหารเช้ามาส่งทุกวันตลอดสัปดาห์แรก และต่อมาเมื่อขอไป ช่วงอยู่ที่โรงพยาบาลเกิดปั๊มน้ำที่บ้านเสีย เพื่อนบ้านติดกันได้ยินเสียงปั๊มน้ำทำงานตลอดเวลา ก็ติดต่อกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ จนถึงเพื่อนบ้านที่ถือกุญแจบ้านดิฉันไว้ เขาได้ติดต่อช่างของนิติบุคคลมาจัดการซ่อมให้ ฯลฯ น้ำใจไมตรีจากเพื่อนบ้านอีกหลายบ้านยังคงยืนยาวถึงทุกวันนี้

เรื่องยังไม่จบ ยิ่งมาเจอคำว่า Long COVID ยิ่งรู้ว่ายากที่จะจบ อาการเรื้อรังหลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีมากมาย

ที่เกิดแก่ดิฉันคือ นอนไม่หลับทั้งกลางวันกลางคืน ดิฉันไม่เคยมีปัญหาเรื่องการนอนมาก่อน เส้นผมก็ร่วงมากกว่าปกติ ยังดีว่าเมื่อผ่านไป 1 เดือน ผมเริ่มร่วงน้อยลงแล้ว ความจำเสื่อม (แต่อาจเป็นเรื่องของอายุด้วย)

เรื่องยังไม่จบ รอวันที่ 16 กันยายน เอ็กซเรย์ปอด เจาะเลือด และพบคุณหมออีกครั้ง

ดิฉันไม่คาดหวังให้ตนเองกลับมาแข็งแรง 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม หากได้พละกำลังกลับมาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ดิฉันก็พอใจยิ่งแล้ว

เรื่องยังไม่จบค่ะ