มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล (จบ)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล (จบ)

 

คราวนี้ถ้าลองมาพิจารณาถึงวัตถุแต่ละสิ่ง ลีไว ไบรอันต์ เสนอว่าวัตถุทุกประเภททุกชนิดมีความสามารถในการแปล (translation) ทั้งในการเปลี่ยนตัวมันเองและวัตถุอื่น เช่น ก้อนหินใช้เป็นสิ่งขว้างกระจกแตกได้ ใช้รองขาโต๊ะก็ได้ ก่อเป็นกำแพงก็ได้ ถ้าทุบให้ละเอียดก็เป็นเม็ดกรวด ฯลฯ

ทุกครั้งที่วัตถุปฏิสัมพันธ์กับวัตถุอื่นๆ มันจะแปลตัวเองและแปลวัตถุอื่นเสมอ

ฉะนั้น วัตถุต้องไม่ถูกนิยามในฐานะที่เป็นคุณสมบัติ เช่น ไมโครโฟนคืออุปกรณ์ช่วยขยายเสียง (เมื่อใช้รวมกับลำโพง) เพราะนี่คือการกลับไปหานิยามแบบเชื่อมโยงกับมนุษย์ ในกรอบคิดแบบ OOO ไมโครโฟนมีศักยภาพไม่สิ้นสุด ตามคุณสมบัติของมันที่จะปรากฏขึ้นตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น เขวี้ยงไมค์ใส่กบาลใคร มันก็กลายเป็นอาวุธ ยื่นให้เด็กเล่นก็กลายเป็นของเล่น สำหรับ OOO แล้วสิ่งเหล่านี้คือศักยภาพของวัตถุมากกว่าเป็นความผิดที่ผิดทาง

ยิ่งฟังก็ยิ่งเห็นความเป็นมนุษย์ที่ไปกำหนดวัตถุน้อยลงเรื่อยๆ และพยายามทำความเข้าใจวัตถุนั้นๆ จากตัววัตถุเอง ซึ่งเป็นมุมมองที่เปลี่ยนความรู้สึกและระดับความเคารพที่เรามีต่อสิ่งรอบตัวไปมากมาย

ตามนิยามเช่นนี้ วัตถุคือศักยภาพ

เป็นศักยภาพที่จะสร้างความเป็นไปได้มหาศาล หากเจาะลงไปในตัวมันก็ประกอบขึ้นจากวัตถุอื่นอีกนับไม่ถ้วน และวัตถุที่ประกอบขึ้นเป็นตัวมันก็ประกอบขึ้นจากวัตถุอื่นๆ อีก ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้สามารถแปลตัวมันในรูปแบบที่หลากหลายได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สายไมโครโฟนก็อาจแปลไปเป็นเชือกรัดคอคนตายหรือเชือกช่วยชีวิตคนที่กำลังจะจมน้ำได้ ตามแต่สถานการณ์

นอกจากนั้น องค์ประกอบทั้งหลายยังสามารถแตกตัวออกมาได้อีก การแตกตัวนี้สะท้อน ‘สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ’ ที่อยู่ในวัตถุนั้นออกมา ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงในแง่กายภาพแบบการทุบ หัก หั่น แยกส่วนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแตกตัวเชิงศักยภาพด้วย เช่น ก้อนหินที่วางอยู่มี ‘สภาวะของการไม่ปรากฏ’ ว่ามันแข็งจนทำคนหัวแตกได้ แต่พอหยิบขึ้นมาขว้างหัวใครสักคนนั่นแหละศักยภาพนี้จึงถูกทำให้ปรากฏขึ้นมา ก้อนหินจึงมีทั้งสภาวะที่ปรากฏและยังไม่ปรากฏ

วัตถุแต่ละอย่างจะแสดงคุณสมบัติหรือศักยภาพปรากฏให้เห็นเฉพาะเวลาและสถานที่หนึ่งในรูปแบบหนึ่ง แต่ยังมีการแตกตัวของศักยภาพออกมาได้อีกไม่รู้จบ มนุษย์จึงไม่มีทางรู้ศักยภาพของแต่วัตถุว่ามีมากน้อยเพียงใด

การมองแบบ OOO เปลี่ยนแปลงมุมมองของเราอย่างไร

มันทำให้เราเข้าใจการดำรงอยู่ของวัตถุ (สิ่งต่างๆ รอบตัว) โดยข้ามพ้นวิธีมองแบบทวิภาวะระหว่างผู้กระทำกับวัตถุที่ถูกกระทำ ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม และระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งเป็นกรอบคิดที่จำกัดของโลกสมัยใหม่ โดยเสนอให้เรามองสิ่งต่างๆ ในมุมของปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับวัตถุ (มนุษย์ก็เป็นวัตถุเท่าเทียมสิ่งอื่น)

ในเล่มนี้ยังเล่าถึงหนังสือ Hyperobjects: Philosophy and Ecology after the End of the World ของทิโมธี มอร์ตัน ซึ่งเชื่อมโยงปรัชญาแบบ OOO เข้ากับประเด็น Anthropocene หรือ ‘สมัยมนุษย์’ และวิกฤตของระบบนิเวศ

มอร์ตันเสนอสิ่งที่เรียกว่า อภิวัตถุ (hyperobjects) คือวัตถุประเภทที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางทั้งในแง่พื้นที่และเวลา ที่เป็น ‘อภิ’ เพราะเมื่อเทียบกับสิ่งอื่นแล้วมันใหญ่โตกว่าและมีผลกระทบต่อชีวิตเรามากกว่า

เช่น สภาวะโลกร้อนที่เราทุกคนรู้สึกได้ว่าโลกเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่รู้จริงๆ ว่าสภาวะที่ว่านี้มีหน้าตาเป็นยังไง นี่คือตัวอย่างของอภิวัตถุ

เราควบคุมอภิวัตถุไม่ได้ แต่มันสร้างผลกระทบกับเรามหาศาล มันเกาะติดกับตัวเราแบบไม่สามารถกำจัดออกไปได้ และก็ไม่สามารถเข้าใจได้แบบองค์รวมเพราะองค์ประกอบในการเกิดขึ้นนั้นกว้างขวางใหญ่โตมาก

เมื่อเข้าใจในองค์รวมไม่ได้จึงทำให้ความเป็นไปได้ในการคิดของมนุษย์จากสายตาของพระเจ้าที่ก้มลงมองสิ่งที่เป็นไปในโลกอย่างที่เคยทำนั้นเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น การอธิบายความเป็นไปของโลกหรือปรากฏการณ์ทางสังคมจึงไม่อาจลดทอนให้เป็นแค่เรื่องของวัฒนธรรม ความคิด และกิจกรรมของมนุษย์ได้ เพราะยังมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตที่ส่งผลต่อชีวิตเราไม่น้อยไปกว่าวัฒนธรรมและกิจกรรมมนุษย์

จากการที่มนุษย์พยายามอธิบายและทำความเข้าใจสรรพสิ่ง เมื่อมองในมุมนี้ย่อมเห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถมีประสบการณ์ต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น เวลาแผ่นดินไหวเราก็รับรู้ถึงความโคลงเคลงเท่านั้น แต่ไม่เคยมีใครเห็นการเคลื่อนของเปลือกโลกกับตาตัวเอง

เราไม่มีวันเห็นอภิวัตถุได้

 

โลกจึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะเข้าใจได้จากกรอบความรู้ของมนุษย์ ต่อให้เราพยายามอธิบายและทำความเข้าใจด้วยวิธีคิดและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่ได้สัมผัสรับรู้ ‘ทั้งหมด’ นั้นอยู่ดี และไม่มีวันสร้างภาพแทนอภิวัตถุทั้งหมดนั้นได้

เช่น เราสามารถสร้างภาพจำลองการเกิดสึนามิได้ แต่ไม่สามารถสร้างภาพที่แสดงทุกองค์ประกอบที่ผสานรวมจนเกิดปรากฏการณ์คลื่นยักษ์ขึ้นมาได้

ยังมิต้องนับว่ามนุษย์มีเวลาจำกัด ในช่วงเวลา 100 ปี เราสามารถรับรู้ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ แค่ในช่วงเวลานั้นแต่อภิวัตถุมีสภาวะของการข้ามมิติ มันมีอายุยาวนานเป็นอนันต์

มุมมองแบบ OOO จึงโยนโจทย์ให้มนุษย์ผู้หลงคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่เป็นศูนย์กลางจักรวาล กำหนดทุกสิ่งขึ้นจากความรู้ความเข้าใจของตัวเองว่า “เรายิ่งใหญ่ขนาดนั้นจริงหรือ” ทั้งยังอธิบายปรากฏการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่กับ ‘เรื่องใหญ่’ อย่างความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ท้าทายความมั่นใจผิดๆ ว่าเราสามารถควบคุมธรรมชาติได้ กระทั่งก่อร่าง ‘สมัยมนุษย์’ เพื่อบงการและจัดสรรสิ่งอื่นในโลก

เพราะความจริงแล้วโลกนี้ไม่ใช่ ‘โลกมนุษย์’ ดาวโลกมีระบบเวลาและสถานที่แตกต่างจากโลกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ มันดำรงอยู่มายาวนาน มันกว้างใหญ่ไพศาล มันห้อมล้อมไปด้วยจักรวาลที่เรายังไม่รู้อาณาเขต เจาะลงไปในตัวมันเองก็มีองค์ประกอบมหาศาลที่เราไม่มีวันรับรู้ได้ทั้งหมด

 

เมื่อมนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป

เมื่อวัตถุมีสถานะเป็นองค์ประธานที่เท่าเทียมกัน

วิธีคิด วิธีมอง วิธีศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รวมถึงจุดมุ่งหมายในการศึกษา ประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์ ไปจนถึงจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่อาจไม่เหมือนเดิม

ในเมื่อมนุษย์เป็นวัตถุอย่างหนึ่ง เราเองก็มี ‘สภาวะของการไม่ปรากฏ’ ซ่อนอยู่ในตัวเองเช่นกัน ในเวลาเฉพาะช่วงหนึ่งศักยภาพที่เป็นไปได้ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อนอาจปรากฏออกมา

ความไม่อหังการ์เป็นหนึ่งในศักยภาพของมนุษย์เช่นกัน?