ธงทอง จันทรางศุ | ครอบครัวมิใช่แค่ชาย-หญิง

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

ครอบครัวมิใช่แค่ชาย-หญิง

ผมได้ยินข่าวว่าในราวเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีสำคัญที่มีการยื่นคำฟ้องเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่าการสมรสจะทำได้แต่เฉพาะระหว่างชายและหญิงเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงหรือไม่

พูดกันโดยเฉพาะเจาะจงทำไมการสมรสจึงทำไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง ในเมื่อทั้งชายและหญิงต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจเสมอกัน

ระหว่างที่รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผมเอามานึกอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ ตามประสาคนว่างงาน

ขึ้นต้นผมก็เกิดความสงสัยแล้วครับว่าคำว่า “ครอบครัว” แปลว่าอะไร

 

เมื่อเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานดูก็พบว่า ครอบครัวในความหมายของพจนานุกรมฉบับนั้น แปลว่า “สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามี-ภรรยาและหมายความรวมถึงลูกด้วย”

ถ้าอธิบายกันตามความหมายนี้ ผมซึ่งพ่อ-แม่ตายแล้ว ตัวเองไม่ได้แต่งงานมีลูก-หลานสายตรง มีแต่น้องชายซึ่งแต่งงานและมีลูกซึ่งเป็นหลานของผมสองคน ผมก็เป็นคนไม่มีครอบครัวในสายตาของคนเขียนพจนานุกรม แต่ถ้ามาถามตัวผมแล้ว ผมเห็นว่าน้องชายผม น้องสะใภ้ของผมและหลานอีกสองคนเป็นครอบครัวของผม

ผมยืนยันว่าผมเป็นคนมีครอบครัวครับ

เพียงแค่นี้ก็ทำให้เห็นได้แล้วว่าคำว่า ครอบครัวในสายตาของคนเขียนพจนานุกรมกับสายตาของผมเป็นคนละความหมายกัน

สังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปทุกเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง ในฐานะคนที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์กฎหมาย ผมเห็นว่ากฎหมายในเรื่องนี้ได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอยู่เสมอ

ย้อนหลังไปก่อนเวลาที่เราจะมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพห้า ว่าด้วยครอบครัว เมื่อพุทธศักราช 2478 เราก็พบหลักฐานว่ากฎหมายลักษณะผัว-เมียซึ่งเขียนมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาและใช้บังคับสืบเนื่องมายาวนานจนถึงรัชกาลที่เจ็ดที่แปด

เป็นกฎหมายที่สะท้อนค่านิยมและความหมายของครอบครัวในครั้งนั้นไว้ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ชายมีภริยาได้หลายคน แต่มีฐานะแตกต่างกัน เช่น เป็นเมียพระราชทานบ้าง เป็นเมียที่พ่อ-แม่ตกแต่งสู่ขอให้บ้าง เป็นเมียที่ได้เสียเป็นเมีย-ผัวกันเองบ้าง หรือเป็นเมียทาสที่อยู่ในเรือนของตน

พูดเป็นภาษาฝรั่งให้โก้ขึ้นอีกนิดหนึ่งว่าสังคมไทยในเวลานั้นมีครอบครัวแบบ Polygamy

ภริยาที่มีหลายคนนั้น แม้กฎหมายรับรองว่าเป็นภริยาก็จริง แต่สิทธิหรือการรับรองประโยชน์ในครอบครัวของภริยาแต่ละประเภทก็มีลดหลั่นกัน ไม่ได้เสมอหน้าเท่าเทียมกันหมด

รวมตลอดไปถึงลูกที่เกิดมาจากแม่ต่างท้องต่างฐานะ แม้จะได้รับการยอมรับในทางกฎหมายว่าเป็นลูกของพ่อ แต่สถานะทางสังคมก็แตกต่างกัน สิทธิทางกฎหมายก็แตกต่างกัน

ถ้าไม่เชื่อก็ให้กลับไปอ่านหนังสือเรื่องสี่แผ่นดินดูเถิดครับ จะเห็นว่าฐานะของ “แม่พลอย และพ่อเพิ่ม” ลูกของแม่แช่มที่ท่านเจ้าคุณพิพิธฯ ได้เสียเป็นเมีย-ผัวกันเองเทียบชั้นไม่ได้เลยกับ “คุณอุ่น คุณชิดและคุณเชย” ซึ่งเป็นลูกของคุณหญิง ผู้เป็นภริยาที่สู่ขอตกแต่งทำตามธรรมเนียม

ฐานะความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิงที่เรียกว่าสามี-ภริยาตามกฎหมายลักษณะผัว-เมีย ก็เห็นได้ชัดว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้หญิงไม่มีปากมีเสียงอะไร

ข้อนี้น่าจะสันนิษฐานได้ว่าเพราะในครั้งนั้นผู้ชายเป็นคนทำมาหากินเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัว ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือน ไม่ได้ออกนอกหน้า

ถ้าถึงเวลาจะหย่าร้างกัน ว่าโดยรวมแล้วผู้ชายจึงได้แบ่งปันทรัพย์สมบัติมากกว่า

ชะดีชะร้ายถ้าผู้หญิงไม่มีอะไรติดตัวมาตั้งแต่ต้น เมื่อเลิกร้างกันแล้วก็จะไม่ได้ทรัพย์สมบัติอะไรติดมือไปเลยด้วยซ้ำ

ครอบครัวในความหมายดังนั้นจึงมีขนาดใหญ่มาก ดูเหมือนในทางวิชาสังคมวิทยาจะเรียกว่าเป็นครอบครัวขยาย มีคนหลายชั่วอายุอยู่ร่วมกัน มีสมาชิกเรือนสิบเรือนร้อย ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวมีภริยาหลายคนและมีลูกจำนวนมาก มีเขยมีสะใภ้ มีบริวาร

แม่ของผมซึ่งเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2472 ก็ถือกำเนิดมาในครอบครัวแบบนั้น บ้านที่แม่เกิดซึ่งอยู่ที่คลองสาน ฝั่งธนบุรีเป็นบ้านของเจ้าคุณปู่ของแม่ มีสมาชิกอยู่ในบ้านเห็นจะใกล้จำนวนร้อยคน

 

แต่แล้วอะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยคุ้นเคยกับแบบแผนตะวันตกที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คุณค่าที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปคือชาย-หญิงมีชีวิตครอบครัวแบบ Monogamy ที่เรียกขานเป็นภาษาไทยว่า ผัวเดียวเมียเดียว

เมื่อสังคมมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ กฎหมายก็ต้องปรับตามครับ จะไปดึงดื้อใช้กฎหมายลักษณะผัว-เมียที่เขียนขึ้นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาต่อไปเห็นจะไม่ได้แล้ว ฝ่ายนักกฎหมายทั้งหลายก็ต้องคิดยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องครอบครัวให้สอดคล้องรองรับกับแนวคิดแบบใหม่ในครั้งนั้น

ผมเคยอ่านงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเรื่องเหตุการณ์ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อตอนนั้นว่า มีการอภิปรายโต้เถียงกันน่าดูชมในสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญที่ใช้มาหลายร้อยปี มาสู่หลักการใหม่แถมยังต้องมีการจดทะเบียนสมรสเสียด้วย

ซึ่งแต่เดิมมาการก่อตั้งครอบครัวไม่เคยมีเอกสารต้องจดต้องเขียนอะไร สมาชิกสภาแต่ละท่านยกเหตุผลมาแสดงละเอียดลออ แต่ท้ายที่สุด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพห้าก็ออกคลอดออกมาจนได้

แต่กฎหมายที่เขียนเมื่อปี 2478 ฉบับนั้นก็ยังมีเยื่อใยอะไรบางอย่างที่ค้างคาสืบทอดมาจากระบบครอบครัวแบบเดิม

นั่นคือยังยอมรับให้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว หญิงผู้เป็นภริยาจะทำนิติกรรมอะไรก็แล้วแต่ต้องได้รับความยินยอมจากชายผู้เป็นสามี

มิเช่นนั้นแล้วนิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆียะและอาจตกเป็นโมฆะได้ กฎหมายฉบับเดียวกันยังเขียนอะไรอีกหลายมาตราที่ยกให้ผู้ชายมีฐานะเหนือกว่าผู้หญิง

ผ่านมาอีกประมาณ 40 ปี ในปีพุทธศักราช 2519 กระแสเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิงชัดเจน จนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ต้องเขียนรับรองฐานะเท่าเทียมกันของชายและหญิงไว้ นั่นเป็นเหตุให้ต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้สามีและภริยามีฐานะเท่าเทียมกันในสารพัดเรื่อง

เวลานี้สามีจะทำนิติกรรมก็ต้องขอความยินยอมจากภริยา และภริยาจะทำนิติกรรมก็ต้องขอความยินยอมจากสามี

ผู้ชายไม่ใช่ช้างเท้าหน้าอีกต่อไป

ในมิติทางกฎหมาย ช้างสมัยนี้เดินสี่ขาเรียงหน้ากระดานกันไปครับ และก็เดินได้มั่นคงดีเสียด้วย

เห็นไหมครับว่ากฎหมายที่ดีต้องทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสภาพสังคม และเป็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาโดยไม่หยุดนิ่งด้วย

ความยากที่สุดของเรื่องนี้คือจังหวะเวลา และการทำอะไรให้เป็นลำดับไป ไม่ช้าเกินไปและไม่เร็วเกินไป

ผมแน่ใจว่าทุกวันนี้ คำว่า “ครอบครัว” ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความหมายของการมีชายและหญิงครองชีวิตคู่ด้วยกันและมีลูกเท่านั้น

แต่หมายถึงใครก็ได้ที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน สร้างความฝันด้วยกัน ฟันฝ่าอุปสรรคด้วยกันแล้วทำความฝันนั้นให้เป็นจริง

คำถามว่า คนสองคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ถ้าเขาเลือกจะใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันและสร้างครอบครัวด้วยกัน เป็น “ครอบครัว” ในนิยามตามยุคสมัย สังคมโดยรวมและนักนิติบัญญัติจะตอบคำถามเหล่านั้นอย่างไร

ขอศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดอภิปรายและตอบคำถามนี้โดยละเอียด โดยแสดงเหตุผลเชิงนิติปรัชญาประกอบให้ชัดเจน

(20 คะแนน)