การศึกษา / เปิด…แผนแก้หนี้ ‘แม่พิมพ์’ จริงจัง หรือแค่หาเสียง??

การศึกษา

เปิด…แผนแก้หนี้ ‘แม่พิมพ์’

จริงจัง หรือแค่หาเสียง??

 

ในที่สุด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ได้เสนอ “แผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ” ให้กับรัฐบาล ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของครูฯ โดยตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มการออม และไม่ก่อหนี้เพิ่ม รวมถึงการป้องกันไม่ให้ครูรุ่นใหม่ต้องติดกับดักวงจรการเป็นหนี้

ซึ่งปัจจุบันมีครูทั่วประเทศกว่า 9 แสนราย หรือ 80% ที่มีหนี้สินรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท…

โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู” วงเงินหนี้ 8.9 แสนล้านบาท หรือ 64% รองลงมา “ธนาคารออมสิน” วงเงินหนี้ 3.49 ล้านบาท หรือ 25%

 

สําหรับแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ ที่ ศธ.เสนอรัฐบาล แบ่งการดำเนินการในระยะแรกเป็น 3 แผนงาน ได้แก่

แผนงานที่ 1 โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินงานไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้แก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัด ศธ.ระดับจังหวัด

และแผนงานที่ 3 จัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ทางด้านการวางแผน และการสร้างวินัยทางการเงิน และการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี เริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ศูนย์ Deep ศธ.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นอกจากนี้ จะถอดบทเรียนการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ จากสหกรณ์ตัวอย่าง 2 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด

สาระสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ คือ “การปรับลดภาระดอกเบี้ย” และ “การปรับโครงสร้างหนี้”!!

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้แจกแจงรายละเอียดแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ 3 แผนงาน โดยแนวทางแก้ไขปัญหามีสาระสำคัญ ดังนี้

แผนงานแรก

  1. ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3%
  2. ลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสินเชื่อความเสี่ยงต่ำ 4.5-5%
  3. จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 30%
  4. ลดค่าธรรมเนียม และการค้ำประกันที่ไม่จำเป็น
  5. ปรับโครงสร้างหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ยกเลิกการฟ้องคดี รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2.5% ปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 0.25-0.50% ปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน
  6. จัดทำฐานข้อมูลสมาชิก และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงิน และต้นสังกัด
  7. ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%

และ 8. สร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิก

แผนงานที่ 2 เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูที่ถูกฟ้อง แก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

และแผนงานที่ 3 จัดอบรมพัฒนาครู 1 แสนคนต่อปี ผ่านระบบออนไลน์

 

ขณะที่นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของ ศธ.ได้ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร ซึ่งทั้ง 2 แห่งถือเป็นสหกรณ์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ได้เชิญผู้แทนสหกรณ์ทั้ง 2 แห่งมาพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ได้วางไว้ ให้ผู้แทนของสหกรณ์พิจารณา และเสนอความคิดเห็น เพื่อนำข้อเสนอมาวิเคราะห์ และกำหนดเป็นแนวทางการทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู

ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนรายย่อย ที่มีรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์เป็นประธาน พิจารณา

ซึ่งนายสุทธิชัยมั่นใจว่า การแก้ปัญหาหนี้สินในครั้งนี้ จะช่วยครูที่ประสบปัญหาหนี้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับวิกฤตหนัก ที่กำลังจะโดนฟ้องร้อง จะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย ส่วนครูที่เป็นหนี้ระดับกลาง และระดับปกติ จะช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ ลดค่าธรรมเนียมการดำเนินการต่างๆ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เป็นไปอย่างยั่งยืน จะประสานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สร้าง “หลักสูตร” ให้ความรู้ด้านการเงิน

เพื่อสอน “ครูบรรจุใหม่” ให้มีความรู้สามารถบริหารจัดการเงิน ลดรายจ่าย และสร้างรายได้ให้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง!!

 

ทั้งนี้ แผนแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ ทั้งระบบ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ท่วมหัวท่วมตัวครูอยู่ในเวลานี้ได้หรือไม่นั้น…

หลายฝ่ายมองว่าในทางปฏิบัติแล้ว คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะปัญหาหนี้สินครูไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าที่มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับลดภาระดอกเบี้ย ที่ตั้งเป้าปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3% และลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5% จะเป็นไปได้หรือไม่

เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูส่วนหนึ่งต้องกู้ธนาคารมาปล่อยกู้สมาชิกต่อเช่นกัน นอกเหนือจากเงินฝากของเพื่อนสมาชิกครู ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอยู่ที่ 5.70-7.75% ต่อปี

ยิ่งถ้าเป็นสถาบันการเงินอื่นๆ ด้วยแล้ว จะยินยอมลดอัตราดอกเบี้ยให้ครูหรือไม่ เนื่องจากผลกำไรของสถาบันการเงินเหล่านั้นมาจากการจ่ายดอกเบี้ยของผู้กู้ ซึ่งครูก็ถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่เลยทีเดียว

ที่สำคัญ ครูแต่ละคนไม่ได้กู้เงินจากแหล่งเงินกู้เพียงแหล่งเดียว แต่กู้จากทุกแหล่งเท่าที่จะมีช่องทางให้กู้ได้

เพราะเริ่มแรกหลังจาก “บรรจุ” เป็นครูผู้ช่วยได้ 4 เดือน จะได้รับการบอกกล่าวจากครูรุ่นพี่ ว่ามีสิทธิกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูได้แล้ว ฉะนั้น แม้ครูใหม่จะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เมื่อมีสิทธิกู้ ก็ยื่นกู้เพื่อรักษาสิทธิ ทำให้เริ่มเป็นหนี้เป็นสิน นำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซื้อสิ่งของไม่จำเป็น ไปจนถึงซื้อรถ ซื้อบ้าน

เมื่อภาระหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีปัญญาใช้หนี้ จะไปกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม มาใช้หนี้เดิม จนกลายเป็น “หนี้ซ้อนหนี้”…

ต้องรอดูว่า แผนแก้หนี้สินครูฯ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะแก้ปัญหาโลกแตกนี้ได้หรือไม่??

เป็นการแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” จริงๆ ที่ทำให้เกิดหนี้ หรือแก้ “ปลายเหตุ”…

หรือแค่ตีปี๊บเพื่อใช้ “หาเสียง” กับครูในช่วงที่ “การเลือกตั้ง” ใกล้เข้ามาทุกที!!