เบสต์ บีฟอร์ 08/2565/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เบสต์ บีฟอร์ 08/2565

 

ประเด็นร้อนที่รออยู่ข้างหน้า ในเวลาอีกไม่นานนัก ก็คือการตีความวันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญว่า จะต้องไม่เกิน 8 ปีนั้น เริ่มต้นนับวันไหน และวันสิ้นสุดคือวันไหนแน่ ซึ่งนอกจากเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่น่าขบคิดพิจารณามากๆ แล้ว

ที่น่าจับตาอีกอย่างก็คือ ถึงเวลายื่นตีความเรื่องนี้ต่อองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เมื่อไร อาจจะกลายเป็นการจุดชนวนให้บรรดาคนเบื่อประยุทธ์ ม็อบที่ต่อต้านขับไล่ประยุทธ์

มีประเด็น มีดีเดย์อันร้อนแรงเกิดขึ้นได้อีก

หลังจากที่แกนนำพรรคฝ่ายค้าน จุดประเด็นนี้ขึ้นมา โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 158 ย่อหน้า 4 ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้”

แน่นอนว่า พรรคฝ่ายค้านเชื่อว่า ต้องนับรวมตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ซึ่งโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เท่ากับว่าจะครบ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 หรือในปีหน้า

โดยฝ่ายค้านชี้ว่า ไม่เพียงตีความตามมาตรา 158 เท่านั้น แต่จะต้องพ่วงกับมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเอาไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ไปด้วย

ฝ่ายค้านเน้นย้ำว่า มาตรา 264 คือเครื่องยืนยันว่า ครม.ยุครัฐบาล คสช.ที่เข้าบริหารประเทศตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ คือเป็น ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

หลังจากฝ่ายค้านจุดพลุประเด็นนี้ขึ้นมา ได้มีนักวิชาการ นักกฎหมาย บุคคลที่ร่วมอยู่ในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ พากันออกมาให้ข้อคิดเห็นอย่างร้อนแรง โดยส่วนใหญ่ชี้ว่า อายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเหลือไม่นานนัก

แม้แต่กุนซือกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น ดร.วิษณุ เครืองาม ที่ได้ฉายาว่าบิดาแห่งการยกเว้นข้อกฎหมาย ก็ยังไม่ยอมตอบคำถามประเด็นนี้ กล่าวเพียงว่าจะหยิบมาพูดกันให้ยุ่งทำไม ในเมื่อยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เอาไว้ถึงเวลาที่เกิดปัญหาจริงๆ จึงจะมาพิจารณากัน

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้แต่ในประเด็นการตีความกฎหมาย ก็ดูเหมือนจะเป็นความยุ่งยากมากมายสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์

ยังไม่รวมถึงการวุ่นวายในทางการเมือง การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ที่จะต้องออกมาโหมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์อย่างหนัก เมื่อถึงเวลานั้น

ที่แน่ๆ คือ วันเวลาที่จะต้องเกิดปัญหาต้องตีความนั้น ก็เป็นดังที่มีการตีความไว้ว่า เป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557 เท่ากับจะครบ 8 ปี ในปี 2565 นี้!

 

มีนักวิชาการที่ให้ความสนใจประเด็นนี้อย่างมากคือ อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 ดร.บุญส่ง ชเลธร ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ไล่เรียงวันเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเปิดมุมมองเอาไว้ 3 แนวทาง

แนวทางแรก เริ่มนับวันแรกคือ 24 สิงหาคม 2557 วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรก หลังการรัฐประหาร

ถ้านับแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 คือ จะอยู่ไปได้ไม่เกินสิงหาคมปีหน้า ก็ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การนับแบบนี้ อาจเป็นการใช้กฎหมายให้มีผลบังคับย้อนหลัง คือเอาเนื้อความในรัฐธรรมนูญที่เพิ่งออกในปี 2560 กลับไปบังคับใช้เรื่องที่เกิดในปี 2557 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

แนวทางที่สอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ถ้าเริ่มนับจากแนวทางนี้ สิทธิในการเป็นนายกฯ ตามกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์จะสิ้นสุดในวันที่ 5 เมษายน 2568

แนวทางที่สามคือ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งที่สอง หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ถ้านับตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะมีสิทธิตามกฎหมายอยู่ยาวไปจนถึง 8 มิถุนายน 2570

ในความเห็นของ ดร.บุญส่ง ให้น้ำหนักไปในแนวทางที่สอง นั่นคือ เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มบังคับใช้ คือ 6 เมษายน 2560 เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯ ไม่เกินวันที่ 5 เมษายน 2568

แต่ให้มองต่อไปอีกว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่ไปจนครบวาระ หรือยุบสภา เลือกตั้งใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีสิทธิเป็นนายกฯ ต่อไปอีกแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น

“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไปจนครบวาระจากการเลือกตั้ง คือในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 แล้วจัดการเลือกตั้ง และเผอิญว่าท่านได้เป็นนายกฯ อีก ในวาระ 4 ปีของรัฐบาล ท่านจะอยู่ได้อีกเพียงปีเศษๆ เท่านั้น พรรคที่สนับสนุนท่านจะไม่คิดเลยหรือครับ ว่าเลือกรัฐบาล 4 ปี แต่ตัวนายกฯ อยู่ได้แค่ปีเดียว”

ข้อเสนอจากนักวิชาการรายนี้ก็คือ จะเป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์คิดจะเป็นต่อไปอีกในสมัยหน้า เพราะเวลาจะเหลืออีกแค่ปีเศษๆ

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ พอแล้ว จบสมัยนี้ก็ล้างมือในอ่างทองคำได้แล้ว!!

 

มีความคิดเห็นจากนายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่กล่าวถึงประเด็นการนับเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์บนเก้าอี้นายกฯ ซึ่งเป็นท่าทีจากคนที่เป็นเสมือน “คนกันเอง” กับรัฐบาลนี้

แต่กลับมองว่า อายุนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์เหลือสั้นมาก

โดยระบุว่า หากฝ่ายการเมืองจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ตามมาตรา 158 จะต้องพ่วงมาตรา 264 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ไปด้วย

เท่ากับ ดร.เจษฎ์ยืนยันว่า สำหรับตนแล้วจะนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557

นอกจากนี้ ยังเสนอว่า ฝ่ายค้านควรจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรรมนูญวินิจฉัยก่อนที่จะเกิดปัญหาจะดีกว่า คือยื่นก่อนเดือนสิงหาคมปี 2565 ไม่เช่นนั้นแล้วหากมีการยื่นไปตีความหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่เกินวาระและอยู่โดยไม่มีอำนาจ จะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายได้ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องบริหารประเทศและพิจารณาสั่งการตลอด ถามว่าใครจะรับผิดชอบ ทำไมต้องรอให้ถึงวันนั้นเพื่อให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน

“เรื่องนี้ถือเป็นศึกใหญ่ที่ร้อนหูร้อนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง” เป็นมุมมองของ ดร.เจษฎ์

อันที่จริง นับจากนี้ไป ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2565 อันเป็นวันที่อาจจะเกิดปัญหาการตีความเรื่องนี้ได้ ก็เพียงแค่ 10 เดือนเท่านั้น

น่าเชื่อว่าประเด็นนี้จะร้อนแรงขึ้นมาในปี 2565 อย่างแน่นอน จะเริ่มนับถอยหลังวันที่เชื่อกันว่า เป็นวันสิ้นสุดเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์

วันเบสต์ บีฟอร์ เอนด์

แต่นอกเหนือจากการตีความวันสิ้นสุดตามข้อกฎหมายแล้ว ยังน่าจะมีประเด็นสเป๊กผู้นำประเทศในยุคที่จะต้องกอบกู้ประเทศพ้นจากวิกฤตโควิด และวิกฤตหนักสุดคือเศรษฐกิจ

เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันว่า หมดอายุผู้นำที่มาจากกองทัพเพื่อควบคุมประเทศในแง่ความสงบทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว!