อารยะต่อต้าน (จบ) : จุดอ่อนของการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงในระยะหลัง/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

อารยะต่อต้าน (จบ)

: จุดอ่อนของการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงในระยะหลัง

 

เอริกา เชอโนเว็ธ (Erica Chenoweth) ศาสตราจารย์หญิงผู้เชี่ยวชาญด้านอารยะต่อต้าน (civil resistance) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ ชี้ไว้ในหนังสือ Civil Resistance : What Everyone Needs to Know (ค.ศ.2021) ว่าที่การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่สำเร็จน้อยลงทั่วโลกในช่วงทศวรรษหลังนี้ (ค.ศ.2010- 2019)

นอกจากเพราะบรรดารัฐบาลอำนาจนิยมได้เรียนรู้จากประสบการณ์เผชิญหน้ากับขบวนการมวลชนอารยะต่อต้านที่ผ่านมา และเก็บรับบทเรียนไปปรับปรุงวิธีการรับมือปราบปรามให้เฉียบแหลมยิ่งขึ้น (Smart Repression) แล้ว

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญก็เพราะจุดอ่อนอันเกิดจากลักษณะปัจจัยภายในของขบวนการอารยะต่อต้าน/ปฏิวัติแบบไม่รุนแรงทั้งหลายนั้นเองที่คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปในระยะหลัง

อันได้แก่ :

1)การเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านมีขนาดเล็กลง

สำหรับการเคลื่อนไหวมวลชนอารยะต่อต้าน ดัชนีชี้วัดความสำเร็จสำคัญที่สุดหนึ่งเดียวคือขนาดของมวลชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหว ทั้งนี้เพราะยิ่งสัดส่วนประชากรในประเทศที่เข้าร่วมอารยะต่อต้านใหญ่โตกว้างขวางขึ้นเท่าไหร่ นั่นย่อมเป็นตัวแทนสื่อสะท้อนเจตจำนงของประชาชนหลากกลุ่มหลายฝ่ายต่างอาชีพ ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ วัย การศึกษาและถิ่นที่อยู่ ฯลฯ กว้างไพศาลออกไปเท่านั้น

และในหลายปีหลังนี้ ปรากฏว่าการรณรงค์อารยะต่อต้านมีขนาดเล็กลงโดยเฉลี่ยดังแสดงไว้ในแผนภูมิประกอบด้านบน

กล่าวในทางประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านจะประสบชัยชนะโค่นรัฐบาลอำนาจนิยมลงได้ต่อเมื่อมีผู้คนพลเมืองเข้าร่วมการเคลื่อนไหวราว 3.5% ของประชากรทั้งประเทศ (https://www.matichonweekly.com/column/article_359785)

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขแล้ว จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านของประชาชนนานาประเทศทั่วโลกในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 มีผู้เข้าร่วมโดยเฉลี่ยราว 2% ของประชากรในประเทศนั้นๆ และถีบสูงขึ้นไปถึง 2.7% ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990

ทว่าหลังจากนั้นยอดผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านในประเทศต่างๆ ก็ค่อยลดน้อยถอยลงตามลำดับจนเหลือเพียงไม่ถึง 1.3% ของยอดจำนวนประชากรในประเทศที่มีการเคลื่อนไหวนับแต่ ค.ศ.2010 เป็นต้นมา

แผนภูมิ : เฉลี่ยยอดจำนวนคนเข้าร่วมการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงจำแนกตามทศวรรษจากปี ค.ศ.1900-2019 แกนตั้งบอกร้อยละของจำนวนประชากรที่เข้าร่วม, แกนนอนบอกช่วงทศวรรษ (จาก Chenoweth, p. 230)

2)การเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านพึ่งพาอาศัยรูปแบบการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนแสดงพลัง (mass protests & demonstrations) มากเกินไปและรีบด่วนเกินไป

ทั้งนี้ โดยมิได้พัฒนาและจัดตั้งรูปแบบเทคนิควิธีการไม่ให้ความร่วมมือ (mass noncooperation) กับสถาบันอำนาจในสังคมอย่างอื่นๆ ขึ้นมาหนุนเสริม เช่น การนัดหยุดงานทั่วไปและอารยะขัดขืนของมวลชน ซึ่งมีศักยภาพจะส่งผลกระทบต่อชีวิตทางเศรษฐกิจและการเมืองปกติมากกว่าลำพังการชุมนุมเดินขบวนอย่างเดียว

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงอารยะต่อต้าน คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนแสดงพลัง ทำให้ชุมชนมากหลายพากันระดมกำลังจัดชุมนุมเดินขบวน โดยมิทันได้ขยายแนวร่วมให้กว้างขวางหรือจัดวางยุทธศาสตร์การต่อสู้เปลี่ยนแปลงให้ชัดเจนถ้วนตลอดจนสุดกระบวนการก่อน

จะว่าไปแล้วทุกวันนี้การชุมนุมประท้วงค่อนข้างจัดตั้งง่ายหรือรวมตัวกันได้ฉับไว (แฟลชม็อบ) กว่าวิธีการรณรงค์อย่างอื่นด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอลต่างๆ ซึ่งช่วยระดมคนขนานใหญ่ได้สะดวก โดยมิพักต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของแนวร่วมขนาดใหญ่ซึ่งจำต้องวางแผนและสื่อสารกันไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่น

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการชุมนุมเดินขบวนจะกดดันชนชั้นนำได้ผลที่สุดเสมอไปก็หาไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่ใช่การชุมนุมมาราธอนยืดเยื้อ ในทางกลับกันเทคนิควิธีการไม่ให้ความร่วมมือแบบอื่น เช่น การนัดหยุดงานทั่วไปและการหยุดอยู่กับบ้านอาจทำให้ชีวิต เศรษฐกิจโดยรวมปั่นป่วนเสียกระบวนหนักหน่วงกว่า และมักชักดึงชนชั้นนำให้ยอมอ่อนข้อได้เร็วกว่าด้วยซ้ำ

การวางแผนและจัดตั้งเงียบๆ แบบปิดทองหลังพระ (แทนที่จะเอาแต่เคลื่อนไหวชุมนุมอึกทึกครึกโครม) ช่วยสร้างสมรรถภาพให้ขบวนการระดมกำลังได้เข้มแข็งยืนนาน และเชื่อมผสานจัดลำดับยุทธวิธีต่างๆ เพื่อดึงมวลชนให้เข้าร่วม สร้างพลังต่อรองและอำนาจมากขึ้น

การที่ขบวนการมากหลายหันมาเน้น “ม็อบไร้หัว เมื่อทุกคนคือแกนนำ” (leaderless resistance, www.posttoday.com/world/635925 & www.youtube.com/watch?v=SoxWBLIxA8U) เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ฝ่ายรัฐรวมศูนย์พุ่งเป้าเข้าสกัดเล่นงานแกนนำ และเพื่อให้ค่าแก่ความสมัครใจเป็นเจ้าของการต่อสู้และพลังสร้างสรรค์ของมวลชน ก็อาจส่งผลด้านกลับให้สมรรถภาพอันเกิดจากการวางแผนจัดตั้งดังกล่าวข้างต้นหลุดลอยไปและลดทอนโอกาสที่การเคลื่อนไหวจะประสบผลสำเร็จลง

แผนภูมิแสดงร้อยละของการปฏิวัติแบบไม่รุนแรง ซึ่งมีกับไม่มีปลีกย่อยที่ใช้ความรุนแรงแยกตามทศวรรษ ค.ศ.1930-2019, แกนตั้งบอกร้อยละของการปฏิวัติแบบไม่รุนแรง แกนนอนบอกช่วงทศวรรษ (เส้นไข่ปลา = การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงซึ่งไม่มีปลีกย่อยที่ใช้ความรุนแรง 186 ครั้ง; เส้นทึบ = การปฏิวัติแบบไม่รุนแรงซึ่งมีปลีกย่อยที่ใช้ความรุนแรง 135 ครั้ง)

3)การพึ่งพาการเคลื่อนไหวกิจกรรมแบบดิจิตอล (digital activism) เป็นดาบสองคม

ขบวนการอารยะต่อต้านในระยะหลังนี้พึ่งพาอาศัยกิจกรรมและการจัดตั้งแบบดิจิตอลมากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะทำผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

ในแง่หนึ่ง กิจกรรมดิจิตอลทำให้ขบวนการอารยะต่อต้านทุกวันนี้รวมพลกันฉับไวได้เก่ง (แฟลชม็อบ) เปิดช่องทางให้ผู้คนเสวนาแลกเปลี่ยนเล่าทุกข์สู่กันอย่างกว้างขวาง สามารถเผยแพร่ข้อสนเทศหรืองานศิลปะวรรณกรรมการประท้วงออกไปได้ถึงคนเรือนร้อยล้าน (เช่น เพลงประเทศกูมีของวง Rap Against Dictatorship มียอดการเปิดชมสะสมสูงถึง 101,710,758 views เมื่อ Oct 23, 2018 https://www.youtube.com/watch?v=VZvzvLiGUtw)

ทั้งยังสามารถสร้างชุดเครื่องมือ (เช่น อินโฟกราฟิก) และส่งเอกสารเพื่อสร้างเสริมวินัยในการเล่าแถลง (narrative discipline) แพร่หลายคำขวัญและภาพจำของขบวนการ (#แฮชแท็ก) และผลิตเนื้อหาไวรัลได้

ส่วนการจัดตั้งแบบดิจิตอล (digital organizing) ก็ทำให้ผู้คนสามารถสื่อสารและจัดตั้งกันได้ผ่านช่องทางที่ไม่อยู่ใต้การควบคุมของสถาบันกระแสหลักหรือรัฐบาล ทำให้ผู้ร่วมในขบวนการเดียวกันบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารถึงกันได้ เป็นต้น

ทว่าในทางกลับกัน ขบวนการอารยะต่อต้านที่พึ่งพาแพลตฟอร์มหรือเวทีดิจิตอลในการเคลื่อนไหวกิจกรรมก็อาจมีเครื่องไม้เครื่องมือน้อยไปที่จะชักนำยอดตัวเลขผู้ชมผู้อ่านเหล่านั้นให้เข้าร่วมการจัดตั้งอย่างได้ผล เพื่อที่จะสามารถวางแผน เจรจาหารือ ตั้งเป้าหมายร่วมกัน ต่อยอดชัยชนะในอดีต และธำรงรักษาความสามารถที่จะป่วนระบอบอำนาจนิยมให้เสียกระบวนได้อย่างยั่งยืน

และคมมีดด้านกลับ/ด้านลบของกิจกรรมดิจิตอลที่ช่วยให้สื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตได้สะดวกดายกว่าก่อนก็คือมันพลอยช่วยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าจับตาเพ่งเล็งและระดมกำลังสวนทวนกระแสการเคลื่อนไหวอารยะต่อต้านได้ง่ายขึ้นด้วย

ฝ่ายอำนาจรัฐสามารถยึดกุมฉวยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาจับตาเพ่งเล็ง หมายหัวและปราบปรามผู้เห็นต่าง หรือก่อความปั่นป่วนเสียกระบวนแก่การติดต่อสื่อสาร รวมทั้งโต้เถียงท้าทายเรื่องเล่าของขบวนการเช่นกัน

ดังปรากฏว่านับวันเหล่าจอมเผด็จการอัตตาธิปัตย์ได้หันมาฉวยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อแพร่ข่าวลวง โฆษณาชวนเชื่อและส่งสารสวน (counter-messaging) ต่อฝ่ายขบวนการอารยะต่อต้าน อีกทั้งเรียกระดมบริษัทบริวารผู้จงรักภักดีให้เคลื่อนไหวรณรงค์แทนตัวเองมากขึ้น

(“ทวิตเตอร์ปิด 1,594 บัญชีทำไอโอ ไทยแชมป์ 926 แอ็กเคาต์ พบโยงกองทัพบก อวยรบ.”, 9 ต.ค. 2563, https://www.matichon.co.th/politics/news_2386199)

 

4)ขบวนการอารยะต่อต้านทุกวันนี้มีแนวโน้มที่จะโอบรับหรืออดกลั้นรอมชอมกับกลุ่มย่อยชายขอบที่หันไปใช้ความรุนแรงมากขึ้น (ดังที่เส้นไข่ปลาหักหัวลงและเส้นทึบกระดกสูงขึ้นในทศวรรษหลัง)

ปลีกย่อยที่ใช้ความรุนแรงในขบวนการปฏิวัติแบบไม่รุนแรงนั้นอาจกร่อนเซาะแรงสนับสนุนทั้งหลายซึ่งขบวนการจำต้องมีเพื่อให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ รวมทั้งการเข้าร่วมของผู้คนหลากหลายฝ่ายและการสามารถชักดึงบุคลากรฝ่ายตรงข้ามให้แปรพักตร์กลับใจด้วย

แม้ในยามที่นักเคลื่อนไหวส่วนข้างมากอย่างท่วมท้นของขบวนการยังคงไม่ใช้ความรุนแรง แต่กระนั้น ขบวนการอารยะต่อต้านที่ผสมเจือความรุนแรงบางส่วน อาทิ มีการปะทะต่อสู้กับผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามหรือตำรวจบนท้องถนน ก็โน้มเอียงที่จะสัมฤทธิผลน้อยกว่าขบวนการอารยะต่อต้านที่ยึดมั่นวินัยปัดปฏิเสธความรุนแรง

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลมักจะเพิ่มการปราบปรามผู้เข้าร่วมและผู้เห็นอกเห็นใจขบวนการอย่างไม่เลือกหน้า โดยไม่เปิดช่องให้ขบวนการชี้แจงแสดงว่าผู้เข้าร่วมเป็นแค่เหยื่อบริสุทธิ์ของการเหวี่ยงแหปราบดังกล่าว ระบอบอำนาจนิยมอาจสร้างภาพว่าเหตุปะทะรุนแรงรายย่อยเป็นภัยคุกคามความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างร้ายแรง และบ่อยครั้งรัฐบาลมักส่งเจ้าหน้าที่แทรกซึมเข้ามาในขบวนการเพื่อยั่วยุให้กลุ่มย่อยชายขอบ หันไปใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐได้ใช้มาตรการเด็ดขาดรุนแรงมากดปราบขบวนการ

เอาเข้าจริง สิ่งที่ผู้นำอำนาจนิยมหวาดกลัวนั้นหาใช่อาวุธยุทโธปกรณ์และความรุนแรงซึ่งพวกเขามีล้นเหลือเฟือฟายกว่าไม่ หากคือขบถแบบไม่รุนแรงจากเบื้องล่างอย่างยืดหยุ่นคงทน คือการระดมมวลชนเพื่อลบล้างคำคุยโวโอ้อวดที่ว่าอำนาจของพวกเขานั้นไร้เทียมทาน และเผยให้เห็นว่าความจงรักภักดีของบรรดาบริษัทบริวารที่ห้อยโหนผู้นำอยู่นั้นเปราะบางเพียงใดต่างหาก