ตุลารำลึก (4) พายุใหญ่ในค่ำคืนนั้น!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (4)

พายุใหญ่ในค่ำคืนนั้น!

 

“วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรใครเลยจะรู้…”

บทเพลง “5ตุลาฯ” ของวง COCKTAIL BAND

 

ดังได้กล่าวแล้วว่าหลังจากการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มาด้วยการครอง “สมณเพศ” ในวันที่ 19 กันยายน 2519 และตามมาด้วยการปลุกระดมกระแสขวาจัดอย่างหนักผ่านสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม พร้อมกับท่าทีของชนชั้นนำที่แสดงออกในลักษณะของการปกป้องการกลับมาครั้งนี้อย่างเต็มที่แล้ว

จึงอาจกล่าวได้เลยว่านับจากนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ในการเมืองไทย!

แต่ความน่ากังวลในการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายนิสิตนักศึกษาก็คือ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรนับจากนี้ และแน่นอนว่าสถานการณ์นับจากนี้กำลังเดินไปสู่ภาวะที่ “คาดเดาไม่ได้”

อีกทั้งอาจจะต้องยอมรับว่า สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้านั้น ใหญ่เกินกว่าขีดความสามารถของศูนย์นิสิตฯ ที่จะรับมือได้

และด้วยวุฒิภาวะทางการเมืองของพวกเราที่อยู่ในฐานะของการเป็น “ผู้นำนักศึกษา” ในขณะนั้นแล้ว โอกาสที่จะรับมือกับความผันผวนที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการปลุกกระแสขวาจัด แทบเป็นไปไม่ได้เลย

ดังจะเห็นได้ว่ากระแสขวาจัดนับจากการล้มลงของโดมิโนทั้งสามในอินโดจีนในปี 2518 ต่อเนื่องเข้าสู่ต้นปี 2519 ด้วยชัยชนะของพรรคนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าในแทบทุกมหาวิทยาลัย

ตามมาด้วยชัยชนะในการผลักดันให้จอมพลประภาส จารุเสถียร ต้องยอมเดินกลับออกไปจากประเทศไทยในเดือนสิงหาคม

ต่อมาด้วยการพาจอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศในเดือนกันยายน อันนำไปสู่การจัดการประท้วงของนิสิตนักศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับผมแล้วจนบัดนี้ยังเป็นคำถามที่ตกค้างในใจเสมอว่า ใครหรือกลุ่มการเมืองใดที่คิดแผนในการนำจอมพลถนอมกลับเข้าไทย

เพราะหลังจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านการกลับเข้ามาของจอมพลประภาสแล้ว กลุ่มขวาจัดย่อมประเมินได้ไม่ยากว่า การมาของจอมพลถนอมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จุดการประท้วงใหญ่ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ถ้าเช่นนั้นแล้ว พวกเขาจะดำเนินการอย่างไรและคาดหวังอะไรจากสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

พายุเริ่มก่อตัวแล้ว!

การเคลื่อนไหวต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอมทวีความเข้มข้นขึ้น สิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนได้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครปฐม เมื่อพนักงานการไฟฟ้าสองคน ถูกสังหารในวันที่ 23 กันยายน 2519 แต่มีการ “จัดฉาก” เพื่อทำให้ภาพปรากฏออกมาในรูปของการแขวนคอตนเองเพื่อฆ่าตัวตาย

ดังนั้น ในวันที่ 25 กันยายน มีการจัดการประท้วงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พวกเราเริ่มรู้สึกว่า จุฬาฯ อาจจะไม่ใช่จุดที่เหมาะสมสำหรับการจัดการประท้วงใหญ่ในอนาคต กล่าวคือ จุฬาฯ อาจจะไม่เป็นพื้นที่ที่ชวนคนมาร่วมชุมนุมด้วย

ต่อมาในวันที่ 29 กันยายน ศูนย์นิสิตฯ จึงกลับไปจัดการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เป็นอีกครั้งที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก

แต่ด้วยสภาพของสนามหลวงที่เป็นพื้นที่เปิด ทำให้การรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างลำบาก

ผมจำได้ดีว่ามีการพบงูในพงหญ้าที่สนามหลวง ซึ่งพวกเราเชื่อกันว่า ไม่น่าจะเป็นงูที่มาตามธรรมชาติ แต่น่าจะมีคนนำมาปล่อย เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้แก่การชุมนุม

อีกทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อการชุมนุมแบบค้างคืนต่อเนื่อง เพราะมีฝนตกในขณะนั้น ทำให้ไม่มีพื้นที่จะใช้ในการหลบพักพิง

และที่สำคัญไม่มีห้องสุขา ทำให้ผู้ชุมนุมต้องเดินไปใช้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ศูนย์นิสิตฯ ต้องเริ่มคิดต่อหลังจากเราตัดสินใจที่ไม่เลือกใช้สถานที่ของจุฬาฯ และต่อมาเราตัดสินใจย้ายมายังสนามหลวง แต่สนามหลวงก็มีปัญหาอีกแบบ ทำให้ต้องคิดทบทวนสถานที่การชุมนุมอีกครั้ง

ซึ่งพิจารณากันแล้ว ไม่มีที่ไหนจะเหมาะเท่ากับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ตัวอาคารและรั้วของมหาวิทยาลัยอาจเป็นเครื่องป้องกันที่จะช่วยรับมือการก่อเหตุจากกลุ่มขวาจัดได้บ้าง ทั้งยังสามารถใช้อาคารและห้องสุขาในมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่งจำได้ว่ามีพวกเราบางส่วนมองต่างมุม การตัดสินใจพาผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น อาจกลายเป็นจุดอ่อนที่เป็นเสมือนการเข้าไปติดกับอยู่ใน “พื้นที่ปิด” เพราะหากถูกปิดล้อม เราอาจจะไม่มีโอกาสที่จะพาผู้ชุมนุมหลบออกจากพื้นที่ได้ เว้นแต่ต้องออกด้านหลัง แต่ก็ติดที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไม่อาจพาคนออกจากพื้นที่ได้เป็นจำนวนมาก แล้วอาจทำให้เราตกอยู่ในสภาพถูก “ปิดประตูตีแมว” ได้

อย่างไรก็ตาม พวกเรามีความหวังว่าตัวอาคารของมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นเหมือน “บังเกอร์” ที่ช่วยป้องกัน หรือการมีรั้วอาจช่วยกีดขวางการบุกเข้ามาของฝ่ายขวาจัดได้บ้าง ซึ่งในยามนั้น สิ่งที่กรรมการศูนย์นิสิตฯ ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ ความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

ประสบการณ์จากการชุมนุมที่ฝ่ายเราต้องเผชิญกับการก่อกวนมาตลอด ทำให้การคิดเรื่องการ “รปภ.ม็อบ” เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ อีกทั้งในระยะหลังจะเห็นได้ชัดว่า การก่อกวนมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกันศูนย์นิสิตฯ พยายามติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลเพื่อยืนยันถึง การชุมนุมอย่างสันติตามสิทธิทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะสื่อฝ่ายขวามักจะโฆษณาโจมตีการชุมนุมของฝ่ายเราว่าเป็นการใช้ “กฎหมู่”

และในอีกทางหนึ่งก็พยายามสื่อสารกับมวลชนของตัวเองในมหาวิทยาลัย เนื่องจากการสอบปลายภาคแรกของปีการศึกษา 2519 กำลังใกล้เข้ามา จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เราจะชวนนิสิตนักศึกษา “หยุดสอบ” เพื่อเข้าร่วมการประท้วงเช่นที่เคยทำมาแล้วตอนประท้วงใหญ่ในปี 2516 หรือไม่

องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำร่องด้วยการประกาศให้นักศึกษาหยุดสอบ และมีนักศึกษาเข้าร่วมการหยุดสอบมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม “ชมรมละคร” ได้จัดการแสดงที่บริเวณลานโพธิ์ เพื่อให้เห็นถึงการเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐมทั้งสองคน ซึ่งคงต้องย้ำเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายจากการ “แขวนคอ” โดยมิได้มีจุดมุ่งหมายอื่นแอบแฝง และไม่ใช่เป็นการแสดงเพื่อล้อเลียนต่อผู้หนึ่งผู้ใด เพราะในขณะนั้นข่าวเรื่องพนักงานการไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอได้รับความสนใจอย่างมาก การแสดงที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในบริบทของเหตุดังกล่าว

ในการแสดงดังกล่าวที่ลานโพธิ์มีนักศึกษาและสื่อมวลชนดูอยู่ในเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก และไม่ได้มีความรู้สึกว่าผู้ที่แสดงเป็นพนักงานไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอนั้น จะมีใบหน้าเหมือนผู้ใด

แม้ต่อมาจะมีการ “สร้างข่าว” ในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า เป็นการแสดงที่มีการแต่งหน้าเพื่อให้เกิดความคล้ายคลึงกับบุคคลสำคัญของประเทศ จนส่งผลให้อาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยศิลปากรต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของการป้ายสีการเมืองอย่างน่าเสียใจ

ซึ่งผมยังยืนยันเสมอจากการได้พูดคุยกับคณะผู้แสดงว่า การแสดงนี้นอกจากจะไม่มีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นแอบแฝงแล้ว ยังไม่มีการแต่งหน้าอีกด้วย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดก็คือ สื่อขวาจัดโหมโจมตีว่า เป็นการแสดงที่มุ่งประสงค์ร้ายต่อบุคคลระดับสูง…

พายุที่เริ่มก่อตัวขึ้นตลอดช่วงปี 2519 ทำท่าจะเป็นกระแสลมแรง และพร้อมที่จะโหมพัดอย่างรุนแรงด้วย

 

พายุขวาจัดพัดแรง!

ผมจำได้ดีว่าในตอนบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม ผมกลับมาที่จุฬาฯ มีน้องที่ตึกจักรพงษ์เอาหนังสือพิมพ์ “ดาวสยาม” ที่ตีพิมพ์ภาพการแสดงการแขวนคอมาให้ดู แล้วถามว่าดูแล้วรู้สึกอะไรไหม?…

ผมตอบกลับไปทันทีว่า ก็เป็นภาพการแสดงที่ลานโพธิ์ ไม่เห็นจะมีอะไรพิเศษ แล้วเขาก็เอาหัวข่าวให้ดู จำจนวันนี้ว่า แค่เห็นหัวข่าวก็ตกใจอย่างมาก และมีน้องอีกคนวิ่งมาบอกว่า สถานีวิทยุยานเกราะกำลังปลุกระดมอย่างหนักจากภาพข่าวการแสดงนั้น

ผมรู้สึกทันทีว่า พายุของฝ่ายขวาจัดเริ่มพัดแรงแล้ว ความกังวลที่มีมาตลอดเริ่มดูจะมีความชัดเจนขึ้น

ผมบอกกับนายก สจม.ในขณะนั้นว่า ผมจะกลับไปดูเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ แต่ในช่วงใกล้ค่ำมีโทรศัพท์มาจากอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งว่า ขอพบผมและนายก สจม. เพราะมีเรื่องด่วนมาก และให้รออยู่ตรงหอนาฬิกาจุฬาฯ จะมีรถมารับ

เมื่อถึงเวลารถมาตามที่นัดไว้ เราสองคนรีบขึ้นไปในรถทันที รถพาเราวนรอบเสาธงจุฬาฯ และอาจารย์ท่านนั้นได้แจ้งเตือนแก่เราว่า “จะมีรัฐประหาร ขอให้รีบเตรียมตัว”

ด้วยความไร้เดียงสา ผมย้อนถามกลับไปว่า อาจารย์บอกได้ไหมครับว่าใครจะยึดอำนาจ เสียงอาจารย์สวนกลับมาและยังจำจนบัดนี้ว่า “สุรชาติไม่ต้องรู้ ไปเตรียมตัวให้ดี”…

แล้วรถที่พาเราวนในจุฬาฯ ก็พาเรากลับมาที่หอนาฬิกาอีกครั้ง พร้อมกับคำเตือนที่ดังอยู่ในสมองตลอดเวลาว่า รัฐประหารมาแล้ว!

เมื่อกลับเข้ามาที่ตึกจักรพงษ์แล้ว เราสองคนไม่ได้แจ้งข่าวนี้แก่ผู้ปฏิบัติงาน แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า สถานการณ์ที่เรากังวลไว้ใกล้เข้ามาจริงๆ แล้ว ผมตัดสินใจกลับไปแจ้งข่าวแก่พวกเราที่ธรรมศาสตร์ และตกลงกันว่า นายก สจม.จะดูแลทางจุฬาฯ เอง

การเดินทางจากจุฬาฯ ไปธรรมศาสตร์ครั้งนี้ แม้จะเป็นเส้นทางที่คุ้นเคย เพราะในช่วงที่ผ่านมา ผมต้องใช้เส้นทางนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความอึดอัดใจอย่างยิ่ง เพราะข่าวแจ้งเตือนเรื่องการรัฐประหารทำให้ผมต้องคิดมาก

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ศูนย์นิสิตฯ ไม่มีทางที่จะรับมือกับการยึดอำนาจที่จะเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งจะต้องมีการนำเอากำลังทหารออกมาเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

และความน่ากังวลที่ตามมาอย่างมากก็คือ การกวาดล้างใหญ่ ซึ่งพวกเราเองที่เป็นผู้นำนักศึกษาตระหนักดีว่า การกวาดล้างฝ่ายซ้ายในเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งผมเองเคยอ่านเรื่องราวของการกวาดล้างใหญ่หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายในชิลีมาก่อน และหลังจากชิลีแล้ว จะตามมาด้วยไทยหรือไม่?

 

พายุใหญ่มาแล้ว!

สิ่งเดียวที่พอจะใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้การโฆษณาใส่ร้ายของฝ่ายขวาคือ การแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงถึงการแสดงละครที่ลานโพธิ์ โดยมีการนำเอาผู้แสดงจากชมรมละครมาร่วมแถลงด้วย ซึ่งการแถลงข่าวเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 21:00 น. โดยมีคุณประยูร อัครบวร เป็นผู้นำการแถลง

แต่หากย้อนกลับไป คงต้องยอมรับว่า กว่าศูนย์นิสิตฯ จะแถลงได้นั้น เวลาก็ล่วงมาจนค่ำแล้ว และสถานการณ์ภายนอกนั้น การโหมกระแสขวาจัดเป็นไปอย่างรุนแรง

ยังจำได้ดีว่ามีเพื่อนมาตามให้ไปฟังสถานีวิทยุยานเกราะ ฟังแล้วตกใจมากกับภาษาที่ใช้ในการปลุกระดม… ฟังแล้วรู้ได้ทันทีว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” กำลังขยับไปเป็น “ขวาทมิฬ” แล้ว

ดังนั้น คืนวันที่ 5 ตุลาคม คงไม่ใช่เวลาที่เราจะได้พัก เพื่อรอการมาของรุ่งสางในวันที่ 6 อย่างสบายๆ

หากคืนนี้กำลังเป็นดัง “พายุใหญ่ในค่ำคืนอันยาวนาน”!