เปิดสรรพคุณ ลูกใต้ใบ วัชพืชแก้ไข้ชั้นดี

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ลูกใต้ใบ วัชพืชแก้ไข้ชั้นดี

 

ลูกใต้ใบจัดเป็นสมุนไพรลำดับต้นๆ ที่ใช้เป็นยาแก้ไข้

แต่ก็น่าแปลกนิดๆ ที่ขณะนี้สมุนไพรที่มีการนำเสนอให้เอาไปใช้ต่อสู้กับโควิด-19 กลับมีคนพูดถึงลูกใต้ใบน้อยมาก หรือไม่ค่อยกล่าวถึงเลย

ทั้งๆ ที่มี “การวิจัยเบื้องต้น” ทำการศึกษาโดยใช้การจำลองแบบการจับตัวกันทางคอมพิวเตอร์ พบว่าลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn. มีสารสำคัญถึง 18 ชนิดที่สามารถต้านโควิด-19 ได้

ในขณะที่ฟ้าทะลายโจรยอดฮิตมีสารสำคัญ 14 ชนิด ในการต้านโควิด-19 ลูกใต้ใบจึงน่าสนใจเช่นกัน

คราวนี้มาเรียนรู้สมุนไพร เรียกกันทั่วไปว่า ลูกใต้ใบ แต่จะบอกว่าในเมืองไทยพบเป็นกลุ่มอย่างน้อย 4 ชนิด

 

  1. ลูกใต้ใบ ชนิด Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า gale of the wind, carry me seed, seed on the leaf, pick-a-back มีชื่อท้องถิ่นอื่น เช่น มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ) ลูกใต้ใบ (ภาคกลาง) หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฎร์ธานี)

จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นไม่มีขน

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อย 23-25 ใบ

ดอกแยกเพศ เพศเมียมักอยู่ส่วนโคน เพศผู้มักอยู่ส่วนปลายก้านใบ

ผลทรงกลมผิวเรียบสีเขียวอ่อนนวล เกาะติดอยู่ที่ใต้โคนใบย่อย เมื่อแก่จะแตกเป็น 6 พู แต่ละพูจะมี 1 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลรูปเสี้ยว 1/6 ของทรงกลม ทุกส่วนของต้นมีรสขม มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย และมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน เช่น ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เปรู บราซิล สหรัฐอเมริกา หมู่เกาะคาริบเบียน และในทวีฟแอฟริกา

ลูกใต้ใบชนิดแรกนี้นำมาใช้ทั้งต้น ช่วยลดไข้ทุกชนิด (ทั้งไข้หวัด ไข้ทับระดู ไข้จับสั่น) ช่วยขับระดูขาว แก้น้ำดีพิการ แก้ดีซ่าน แก้ขัดเบา แก้ไอ แก้กามโรค แก้ปวดฝี ขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ท้องเสีย

 

2) ลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus debilis J.G.Klein ex Willd. มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย แล้วนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย

จากฐานข้อมูลของอายุรเวทพบว่ามีการนำรากมาใช้เป็นยา รักษาอาการไอ หอบหืด ปัสสาวะลำบาก โรคเกี่ยวกับตับ ฟอกเลือด เป็นต้น

จากการศึกษาเชิงลึกในปี ค.ศ.2021 พบสารใหม่คือ ไทรเทอปีนอยด์ โกลชิดอน (triterpenoid glochidon) เป็นสารช่วยฟื้นตัวของเซลล์ที่ทำการหลั่งอินซูลิน (?-cell)

ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี

 

3) ลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus urinaria L. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า chamberbitter, gripeweed, shatterstone, stonebreaker มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ไฟเดือนห้า (ชลบุรี) มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ) หญ้าใต้ใบ (อ่างทอง สุราษฎร์ธานี) หมากไข่หลัง (เลย) เป็นไม้ล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว สูงได้ถึง 60 เซนติเมตร

ลำต้นและกิ่งเกลี้ยง หูใบรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือสามเหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมขอบขนาน โคนใบเบี้ยว ขอบใบมีขนเล็กน้อย ปลายใบมนหรือเป็นติ่งหนามสั้น ใบจะหุบในเวลากลางคืนและกางออกในเวลากลางวัน

ดอกแยกเพศ โดยดอกเพศผู้เป็นช่อกระจุกกลม 5-7 ดอกย่อย กลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้ 3 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยว มีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้เล็กน้อย

ผลเป็นแบบแห้งแตก สีเขียว-แดง รูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร ผิวมีปุ่ม ออกใต้ก้านใบ เมล็ดมีลักษณะสามมุม กระจายพันธุ์ในจีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก

บางแห่งจัดเป็นวัชพืชและพืชรุกราน หญ้าใต้ใบทั้งต้นต้มกับสมุนไพรอื่นมีสรรพคุณแก้มะเร็งมดลูก แก้ไข้ ขับปัสสาวะ

และลูกใต้ใบชนิดนี้นี่เองที่เริ่มมีการวิจัยเชิงลึก พบสารโคริลาจิน (Corilagin) ที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตยาต้านโควิด-19 ได้

 

4) ลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus virgatus G.Forst. มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ขางอำไพ (แพร่) แพงคำห้อย (ศรีสะเกษ) ลูกใต้ใบ (ภาคกลาง)

เป็นไม้ล้มลุก สูง 10-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งแตกออกที่ฐาน

ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปแถบหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบทั้งสองด้าน ขอบใบสีม่วง หูใบรูปสามเหลี่ยม

ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน และอยู่ในช่อเดียวกัน ผล รูปวงกลม แบบแห้งแตก แตกตามรอยประสาน

เมล็ด มี 6 อัน รูปไต สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีต่อมปกคลุมทั้งเมล็ด ลูกใต้ใบชนิดนี้นำมาใช้แก้อาการคัน น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาล้างตา แก้ตาอักเสบ ใบนำมาบดผสมกับบัตเตอร์มิลก์เพื่อทำโลชั่นป้องกันอาการคันสำหรับเด็ก

ยาพื้นบ้านของอินเดียนำใบ ดอก และผลสด ผสมกับเมล็ดยี่หร่าและน้ำตาล ทำเป็นยารักษาโรคหนองใน รากใช้ทาเพื่อรักษาฝีของเต้านม

ทุกส่วนของพืชใช้รักษาอาการขาดสารอาหารในวัยแรกเกิดที่เกิดจากปรสิตในลำไส้ด้วย

 

จ ากการทบทวนเอกสารมากกว่า 400 รายการพบความน่าสนใจทางวิชาการที่น่าทำงานต่อ คือ ลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus amarus มีการนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้านมากที่สุดในหลายประเทศ เช่น แอฟริกาใช้รักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดีซ่าน บิดมีตัว ลดไข้ อาการตาโปน โรคทางผิวหนัง ในประเทศไนจีเรีย ใช้รักษามาลาเรีย เบาหวาน ไขมันสูง ในประเทศอินเดีย ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ดีซ่าน เบาหวาน หอบหืด ตับอักเสบ วัณโรค โรคทางเดินปัสสาวะ สร้างภูมิคุ้มกัน ในประเทศเปรูใช้รักษาเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในไตและระบบทางเดินปัสสาวะและใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ส่วนในประเทศไทยใช้เป็นยาลดไข้ ดีซ่านและโรคเกี่ยวกับตับ

ลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus urinaria มีการใช้เป็นยาพื้นบ้านในจีน อินเดียและไทย ใช้เป็นยาลดการอักเสบ ดีซ่านและความผิดปกติของไต สำหรับลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus debilis มีการใช้เป็นยาพื้นบ้านเฉพาะในอินเดียและศรีลังกา โดยใช้เป็นยาลดอาการบวมจากไขข้ออักเสบ ลดไข้ เบาหวานและขับพยาธิ ส่วนลูกใต้ใบชนิด Phyllanthus virgatus มีหลักฐานการใช้แบบพื้นบ้านเพียงที่เดียวคือประเทศไทย โดยใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับตับ เบาหวานและโกโนเรีย

น่าเสียดาย เมื่อลูกใต้ใบคือวัชพืช ในเมืองไทยจึงใช้สารเคมีอันตรายจากการเกษตรมากเกินไป และปนเปื้อนลูกใต้ใบอย่างมาก หากนำมาใช้ควรใส่ใจถึงแหล่งที่มาด้วย