เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / เงื่อนไขและปัจจัยชี้ขาด

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เงื่อนไขและปัจจัยชี้ขาด

 

อีกเรื่องที่มุ่งศึกษากันอย่างเอาจริงเอาจังคือเรื่องของ “เงื่อนไข” กับ “ปัจจัยชี้ขาด”

ในช่วงยุค 14 ตุลาคม 2516

ตัวอย่างเรื่องนี้คือไก่กับไข่ ไม่ใช่ว่าอะไรเกิดก่อนอะไร หากเป็นเรื่องการเกิดของไก่ คือก่อนไก่จะออกมาจากเปลือกไข่เป็นลูกเจี๊ยบนั้นต้องประกอบพร้อมด้วย “เงื่อนไข” และ “ปัจจัยชี้ขาด” อย่างไร

เงื่อนไขในเรื่องนี้คือการฟักไข่ของแม่ไก่นั่นเอง แม่ไก่ต้องนั่งกกไข่อยู่นานเท่าใดที่ลูกไก่จะถูกฟักออกมาเป็นตัว นั่นคืออุณหภูมิเหมาะสมพร้อมพอดีที่ลูกไก่จะฟักเป็นตัวออกมาได้

อุณหภูมิเหมาะสมนี่แหละคือ “เงื่อนไข”

ถ้าไม่มีแม่ไก่มานั่งกกไข่ ถ้าจะให้ลูกไก่ได้เกิดก็ต้องทำอย่างไร สมัยนี้อาจใช้ห้องที่สร้างอุณหภูมิได้เลย

จะอย่างไรก็ตาม อุณหภูมิเหมาะสมนี่แหละคือ “เงื่อนไข” สำคัญสุดที่ทำให้ไข่ได้กลายเป็นไก่

 

ส่วน “ปัจจัยชี้ขาด” นี้ก็สำคัญและจำเป็นไม่แพ้กัน นั้นคือในฟองไข่นั้นจะต้องมีเชื้อที่เป็นตัวไก่อยู่ด้วย ไม่ใช่ที่เรียกว่า “ไข่ลม” คือมีแต่ฟองหรือเนื้อไข่แดงไข่ขาว แต่หามีเชื้อที่จะฟักเป็นตัวไข่ไม่

เพราะฉะนั้น ถึงจะมีเงื่อนไขเหมาะสมดีพร้อมทุกอย่าง เหมือนมีการกกไข่ฟักไข่จะโดยแม่ไก่หรืออุณหภูมิพร้อมก็ตาม ถ้าปราศจากปัจจัยชี้ขาดคือเชื้อไข่ในไข่เสียแล้ว ไข่นั้นก็ไม่อาจฟักเป็นตัวไก่ได้

และถึงมีปัจจัยชี้ขาดสมบูรณ์พร้อมเช่นไข่ใบนั้นมีเชื้อพร้อมเป็นตัวได้ แต่ถ้าปราศจากเงื่อนไขคืออุณหภูมิที่ทำให้เชื้อนั้นเป็นตัวขึ้นมาได้ จะด้วยการกกไข่ของแม่ไก่หรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม

ไข่ใบนั้นก็ไม่อาจเกิดเป็นไก่ได้

เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นหรือการไม่เกิดขึ้นของไก่จึงจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขและปัจจัยชี้ขาดประกอบขึ้นโดยจำเพาะอย่างสำคัญยิ่ง

ตัวอย่างลูกเจี๊ยบแค่นี้ทำให้เราเข้าใจปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปถึงเรื่องของจักรวาลโน่นเลย

 

เรื่องของเงื่อนไขกับปัจจัยชี้ขาด เป็นเรื่องการจัดการกับปัญหาโดยตรง ซึ่งในทุกปัญหาจะประกอบด้วยสองสิ่งนี้เสมอไป และไม่จำกัดจำเพาะเจาะจงตรงๆ เสมอไปแบบตายตัวด้วย

อย่างเช่น ฝนตกน้ำท่วมวันนี้ เราจะจัดการอย่างไร อะไรคือเงื่อนไข อะไรคือปัจจัยชี้ขาด ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนต่างมีเงื่อนไขและปัจจัยชี้ขาดต่างกันไป

เอาง่ายๆ สุดๆ ก็คือ เช่น ฝนตก เราเดินอยู่กลางแจ้ง เราจะหลบฝนหรือตากฝน ตัวเราแหละเป็นปัจจัยชี้ขาด ฝนตกนั่นเป็นเงื่อนไข

ในทางธรรมนั้น ให้ดูที่เหตุว่าเป็น “แดนเกิด” อันสำคัญ ถ้าต้องการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามให้จัดการที่เหตุ การจัดการที่เหตุก็ต้องพิจารณาตามหลักของเงื่อนไข และปัจจัยชี้ขาดนั่นเอง

ดังหลักในอริยสัจสี่คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่า

ทุกข์ เป็นผล

สมุทัย เป็นเหตุ

นิโรธ คือความดับทุกข์เป็นผล

มรรค มีองค์แปดเป็นเหตุให้ดับทุกข์

และในขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์อันเป็นเหตุโดยตรงคือมรรคมีองค์แปดนั้น มีคำว่า “สัมมา” ขึ้นต้นในทุกข้อ โดยเริ่มแต่ “สัมมาทิษฐิ” ไปจนจบที่ “สัมมาสมาธิ”

“สัมมา” นี้แหละเป็น “ปัจจัยชี้ขาด” ส่วนคำตามในทุกข้อหรือทุกองค์นั้นเป็น “เงื่อนไข” ดังนี้

สัมมาทิษฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ปราศจาก “สัมมา” คือความชอบอันถือเป็นปัจจัยชี้ขาดแล้ว คำตามมาดังมีความหมายคือ ความเห็นความดำริ การกระทำ วาจา การเลี้ยงชีพ ความเพียร สติ สมาธิ ก็อาจกลายเป็น “มิจฉา” คือความผิดหรือความไม่ชอบ อันเป็นการสร้างเงื่อนไข ผิดเงื่อนไขไม่ชอบดังสภาวะงมงายไสยศาสตร์และลักษณะพุทธพาณิชย์ ซึ่งมีอยู่มากมายในเวลานี้

นี้คือเงื่อนไขที่สร้างขึ้นโดยปราศจากปัจจัยชี้ขาดคือ “สัมมา” อันเป็นคำขึ้นต้นของทุกข้อในมรรคมีองค์แปดนั้นเอง

 

และน่าสังเกตคือ ในที่ทั่วไปจะลำดับการปฏิบัติธรรมว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา แต่ในมรรคมีองค์แปด ซึ่งมีศีล สมาธิ ปัญญาอยู่เช่นกัน กลับลำดับขึ้นต้นด้วยปัญญาก่อน แล้วจึงตามด้วยศีลและสมาธิ

ดังสัมมาทิษฐิ และสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นปัญหา

สัมมากัมมันตะ ตลอดจนวาจาอาชีวะ วายามะ นี้เป็นศีล และสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นส่วนของสมาธิ

ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นปัจจัยชี้ขาด

ส่วนศีล สมาธินั้นเป็นเงื่อนไข

มรรคมีองค์แปดจึงเป็นเงื่อนไขและปัจจัยชี้ขาด

ของความดับทุกข์โดยแท้