ป่ากับคน และ ‘มรดกโลก’/เทศมองไทย

เทศมองไทย

ป่ากับคน

และ ‘มรดกโลก’

“ป่า” มีหลากแบบหลายชนิด

“คน” ก็มีหลากกลุ่มหลายชาติพันธุ์เช่นเดียวกัน

ว่ากันว่า “ผืนป่า” มักก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ต้นตอแห่งความขัดแย้งก็คือ “คน” ที่ความต้องการต่อผืนป่า ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องต้องกันเสียที

สภาวะทำนองนี้เกิดขึ้นในทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะในไทย แต่กรณีของผืนป่าแก่งกระจานของไทย ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ หลังจากกลายเป็นกรณีถกเถียงกันมากมายทั้งในระดับท้องถิ่นเรื่อยไปจนถึงระดับโลก ในช่วงไม่ช้าไม่นานมานี้

รินา จันทราน แห่งทอมป์สัน รอยเตอร์ ฟาวเดชั่น เขียนสารคดีบอกเล่าเรื่องราวของความขัดแย้งที่แก่งกระจาน เผยแพร่ออกมาเมื่อ 8 ตุลาคมนี้ไว้อย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่จุดเริ่มของความขัดแย้งจนกระทั่งพัฒนาการหลังสุดคือการได้รับสถานะเป็น “มรดกโลก” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ดูเหมือนยิ่งนาน ความขัดแย้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที

 

ผืนป่าแก่งกระจาน เป็นวนอุทยานระดับอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,900 ตารางกิโลเมตร ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่านานา ตั้งแต่ช้าง หมี กระทั่งเสือดาว

พื้นที่เดียวกันนี้ เป็นที่ตั้งของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไม่น้อยกว่า 30 ชุมชน

รัฐบาลประกาศให้ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 1981 เมื่อนั้น ชุมชนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก็กลายเป็น “ผู้บุกรุก” ไป

ถึงปี 1996 ชุมชนบางกลอย 60 ครอบครัว ต้องอพยพออกไปอยู่ในที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ “ลึกเข้าไปในป่าทึบ ขนาดเดิน 2 วัน” แม่เฒ่ากะเหรี่ยงบอกรินาไว้อย่างนั้น

ถึงพวกเขาจะตั้งชื่อที่ใหม่ว่า บางกลอย เหมือนกับที่ดินทำกินสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแต่เดิม แต่บางกลอยที่ใหม่ต่างกันมากกับถิ่นเดิมที่เป็นถิ่นเกิดของพวกเขา

พื้นดินแห้งแล้ง เต็มไปด้วยหิน ดินไม่ดี ทำนาไม่ได้ ปลูกผักก็ไม่ได้ แม่เฒ่าบอก ลงเอยด้วยการที่ต้อง “ซื้อ” ทุกอย่าง ชีวิตก็เลยลำบาก หลังจากต้องสูญเสียทุกอย่างไปกับการโยกย้ายครั้งนั้น

หลายคนตัดสินใจกลับถิ่นเดิม แล้วก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ

มรดกโลกคืออะไร พวกเราไม่รู้หรอก ไม่เคยมีใครบอกเลยว่ามันจะกระทบอย่างไรกับเรา จะแก้ปัญหาให้เราได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แม่เฒ่าบอกตรงไปตรงมา

 

ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน บอกว่า คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาตั้งแต่ก่อนจะมีอุทยานแห่งชาติ แต่กฎหมายกลับลิดรอนสิทธิเหนือที่ดินของพวกเขาไป

“รัฐไทยมองว่าป่าไม่ใช่แค่เป็นแหล่งทรัพยากร แต่เป็นที่ซึ่งก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวได้ด้วย การเป็นมรดกโลกจะยิ่งทำให้รายได้พอกพูน ในขณะที่คนพื้นถิ่นดั้งเดิมถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกไป” ชยันต์บอก

แต่ถ้าถามตัวแทนของทางการอย่างอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คำตอบก็คือ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีหน้าที่รักษาป่า ต้องทำให้แน่ใจว่า ป่าและสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่มี “คน” อยู่ในนั้น

 

รินาอ้างข้อมูลของแลนด์ วอทช์ ไทย บอกว่า หลังจากรัฐไทยประกาศนโยบาย “ขอคืนผืนป่า” ในปี 2014 เมื่อถึงปี 2019 ทางการดำเนินคดีกับชาวบ้านและชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า 46,000 คดี แล้วบอกไว้ด้วยว่า โทษของการรุกป่า คือจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ปรับได้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท

การประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้เป็น “มรดกโลก” ของคณะกรรมการมรดกโลก เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการแสดงความไม่เห็นด้วยของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ยื่นคำร้องต่อยูเนสโกขอให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป จนกว่าจะมีการปรึกษาหารือกับกะเหรี่ยงเจ้าของพื้นที่แต่เดิม

ในขณะที่อิทธิพลมองว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งกับอุทยานฯ และชาวกะเหรี่ยง ในทางหนึ่งจะช่วยให้มีเงินมีทุนรอนเพิ่มมากขึ้นและมีความมุ่งมั่นมากขึ้นในการแก้ปัญหา เพราะต้องรักษาสถานะมรดกโลกเอาไว้

กระนั้น ชุมชนกะเหรี่ยงก็ยังเคลือบแคลงสงสัย นีห์ รันพงษ์เทพ หัวหน้าชุมชนบางกลอย บอกว่า บางคนยังอยากอยู่ที่บางกลอยใหม่ แต่อีกหลายคนอยากกลับไปยังพื้นที่ดั้งเดิม

พวกเราอยากมีทางเลือกได้ เขาบอก

“เรากลัวว่า ยิ่งมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น เราจะยิ่งมีที่ดินน้อยลง ลำน้ำและป่าจะถูกทำลาย”

“พวกเรามีสิทธิ์ใช้ชีวิตอยู่ในป่านี้ เรามีชีวิต ไม่ใช่แค่ไว้สำหรับถ่ายรูป หรือเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น”

นี่คือความจริงของวันนี้ ว่าด้วยป่ากับคนและการเป็นมรดกโลกครับ