‘เลบานอน’ ไฟดับทั่วประเทศ ปัญหาการเมือง สู่วิกฤตพลังงาน/บทความต่างประเทศ

FILE - In this Monday, March 29, 2021 file photo, the capital city of Beirut remains in darkness during a power outage as the sun sets, in Lebanon. The state electricity company said Saturday, Oct. 9, 2021, that Lebanon's two main power plants were forced to shut down after running out of fuel, leaving the small country with no government-produced power. (AP Photo/Hassan Ammar, File)

บทความต่างประเทศ

 

‘เลบานอน’ ไฟดับทั่วประเทศ

ปัญหาการเมือง สู่วิกฤตพลังงาน

 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศเลบานอนต้องตกอยู่ในสภาพมืดมิดไปทั้งประเทศ มีเพียงแสงเล็กๆ จากไฟหน้ารถบนถนน และแสงไฟจากอาคารบางหลังเท่านั้น

ข่าวไฟฟ้าดับทั้งประเทศเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะในปัจจุบันปัญหาวิกฤตพลังงานไฟฟ้าที่หนักหนาเท่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยนัก ไม่ว่าจะประเทศไหนในโลก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ปัญหาการผลิตไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอกับการใช้งานไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศนี้เป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ส่งผลให้การใช้เครื่องปั่นไฟส่วนตัวเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ในราคา “แพงระยับ”

รายงานระบุว่า ในช่วงเวลาปกติในบางสัปดาห์ประชาชนชาวเลบานอนอาจได้ใช้ไฟฟ้าจากเครือข่ายไฟฟ้าของรัฐได้เพียงวันละ 1 หรือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

เหตุไฟดับยาวนานครั้งล่าสุดรายงานระบุว่าเป็นผลมาจากโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ 2 แห่งไม่สามารถผลิตไฟฟ้าต่อไปได้เนื่องจากขาดแคลนน้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า

แม้ไฟฟ้าจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้งหลังจากกองทัพบกเลบานอนเสนอส่งมอบน้ำมัน 6 ล้านลิตรเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง ส่วนธนาคารกลางปลดล็อกเครดิตมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กระทรวงพลังงานนำไปใช้นำเข้าน้ำมันเพิ่มเติม

แต่ก็ยังไม่อาจสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่ารัฐบาลจะสามารถหาแหล่งนำเข้าน้ำมันเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอจนเกิดเสถียรภาพทางพลังงานได้

นั่นจึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้เลบานอนเกิดวิกฤตที่กระทบชีวิตประชาชนได้มากขนาดนี้?

 

ปัญหาไฟดับจากการขาดแคลนน้ำมันเป็นผลโดยตรงมาจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน สกุลเงินปอนด์เลบานอน หรือ “ลีร่า” มีอ่อนค่าลงถึง 90% จาก 1,500 ลีร่าต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 อ่อนค่าลงถึง 10 เท่า เป็น 18,900 ลีร่าต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในตลาดมืดปีนี้

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเลบานอนลดน้อยลงสู่ระดับที่รัฐบาลไม่สามารถชำระเงินเพื่อนำเข้าน้ำมันสำหรับใช้ในประเทศเพิ่มเติมได้

ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ เกิดเป็นภาพประชาชนต่อคิวกันซื้อน้ำมันที่สถานีน้ำมันยาวเหยียดหลายกิโลเมตร

ด้วยเลบานอนเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงาน “ฟอสซิล” มากถึงกว่า 90% จากการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ การไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจึงส่งผลกระทบกับการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรง

ยิ่งกว่านั้นการบริหารงานของรัฐบาลยังซ้ำเติมประชาชนซ้ำไปอีกด้วยการประกาศยกเลิกการอุดหนุนเงินเพื่อตรึงราคาน้ำมัน โดยอ้างว่าการขาดแคลนน้ำมันในประเทศเป็นผลจากการกักตุนน้ำมันและการลักลอบขนน้ำมันไปยังประเทศซีเรีย

การเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 6 เท่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา นั่นทำให้ต้นทุนในการใช้นำมันในประเทศ โดยเฉพาะการนำมาปั่นไฟซึ่งเป็นพึ่งสุดท้ายของประชาชนพุ่งขึ้นไปด้วยเช่นกัน

 

ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าสร้างปัญหากับชีวิตประชาชนทั้งที่ต้องประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ผู้คนไม่สามารถเก็บอาหารในตู้เย็นได้ สร้างปัญหากับระบบน้ำประปา รวมไปถึงเกิดปัญหาในโรงพยาบาล บางแห่งต้องลดบริการบางอย่างลง เช่น การงดบริการเครื่องฟอกไต รวมไปถึงอาจต้องปิดเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

โรงพยาบาลบางแห่งต้องเปิดเครื่องปั่นไฟต่อเนื่องนานกว่า 36 ชั่วโมงซึ่งหากเกิดปัญหาจะส่งผลเสียกับผู้ป่วยโดยตรง ขณะที่ต้นทุนในการใช้เครื่องปั่นไฟนั้นสูงถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 แสนบาทต่อเดือน สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาก่อนหน้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 2 ปีก่อนถึง 10 เท่า

ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจข้างต้นนั้นเรียกได้ว่าเป็นผลพวงจาก “ระบบการเมืองของประเทศ” ที่สร้างความโกลาหลให้กับสังคมเป็นเวลาหลายปี

“ธนาคารโลก” จัดให้วิกฤตทางการเงินของเลบานอนติด 1 ใน 3 ของวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในโลกในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา และมองไม่เห็นหนทางว่าเลบานอนจะฟื้นคืนจากหายนะครั้งนี้ได้อย่างไร

การทุจริตโครงการรัฐของข้าราชการในประเทศส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศลดลงจาก 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 ลดลงเหลือ 33,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ที่ผ่านมา

 

แน่นอนว่าประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล โดยกระแสถูกกระตุ้นขึ้นหลังจาก รัฐบาลต้องการหารายได้เพิ่มด้วยการเสนอเก็บภาษีจากแอพพลิเคชั่น WhatsApp เมื่อปี 2019 นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตและการบริหารงานผิดพลาดอีกมากมาย

ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องลาออกจากตำแหน่งยกชุด แต่นั่นก็เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ “ระเบิดครั้งใหญ่” ที่ท่าเรือในกรุงเบรุต ทำลายอาคารบ้านเรือนไปครึ่งเมือง คร่าชีวิตคนกว่าสองร้อยคนไปอย่างน่าสลดใจ ที่นับเป็นอีกผลพวงจากความฟอนแฟะของระบบการเมืองในประเทศ

แม้รัฐบาลชุดเก่าจะถูกประชาชนออกมาขับไล่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่นำโดย “นาจิบ มิกาติ” มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของประเทศเลบานอน ก็ถูกมองว่าจะมีผลงานไม่แตกต่างกันกับรัฐบาลชุดเก่า

มิกาติ ที่เวลานี้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยดำรงตำแหน่งนี้มาแล้ว 2 สมัย หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของระบบเดิมที่นำประเทศดิ่งลงเหวอย่างในทุกวันนี้

อีกเหตุผลก็คือระบบการเมืองเลบานอนถูกมองว่ายากที่จะเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากเป็นการแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มการเมืองที่จัดสรรโควต้าอำนาจตามกลุ่มทางศาสนาที่เรียกว่า “Confessionalism” โดยกำหนดไว้ว่า ประธานาธิบดีต้องเป็นคริสเตียนมาโรไนต์ ประธานสภาต้องเป็นมุสลิมชีอะห์ และนายกรัฐมนตรีต้องเป็นมุสลิมสุหนี่ นั่นส่งผลให้อำนาจยังคงอยู่ในวงจำกัดกับตระกูลการเมืองไม่กี่ตระกูลเท่านั้น

นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลยังคงบริหารงานไม่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ วิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนที่เลบานอนกำลังเผชิญในขณะนี้คงจะไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้เท่าใดนัก

แม้นายกรัฐมนตรีมิกาติจะให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ และหันไปเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อขอความช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม