อ่านเกมกับ ส.ส.ก้าวไกล มองอนาคตรัฐบาล การแยกกันเดินของ 2 ป. เชื่อยุบสภาหลังมีนาคม 2565

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล มองปัจจัยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในประเทศไทยเกิดจากปัจจัยภายในเป็นหลักนั่นหมายถึงความขัดแย้งภายใน ซึ่งโดยปกติแล้วเรื่องของม็อบหรือความขัดแย้งกับฝ่ายค้านโอกาสในการที่จะล้มรัฐบาลเป็นไปได้ยากเพราะว่ารัฐบาลมีโครงสร้างอำนาจที่รวบอำนาจเข้ามาและมีกลไกต่างๆ

ดังนั้น ความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นวันนี้ ถึงจะมีความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งขณะนี้ภายในพรรคพลังประชารัฐเองมี 3 สัญญาณสำคัญ

ประการแรกคือ เหมือนการรัฐประหารภายในของพรรคพลังประชารัฐ ปีกของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ + ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มีข่าวเกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่ามีการรวบรวมเสียงไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย พล.อ.ประยุทธ์ผ่านมาได้แบบหวุดหวิด ได้เสียงรองบ๊วย

เท่าที่วิเคราะห์ดูแล้ว พล.อ.ประยุทธ์น่าจะรู้สึกหวาดระแวง พล.อ.ประวิตร ว่าพี่ใหญ่มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ว่ามือขวาตัวเองได้กระทำการรวบรวมเสียง หรือเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตัวเองหรือไม่

ก็ทำให้มีส่วนที่ไม่สบายใจ นำมาสู่การปลด ร.อ.ธรรมนัส และอดีต รมช.นฤมลออกไป พอปลดแล้วเป็นการปลดแบบไม่บอกกล่าวคือพี่ใหญ่ นี่ก็คือการแสดงความไม่ไว้วางใจ

ต่อมาสัญญาณชัดตรงที่การตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเคยเป็นคู่แคนดิเดตในการชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั้นคือคนที่มีบารมีสูง นี่ก็เหมือนสัญญาณที่ว่าต้องการจะปักหลักและต้องการที่จะปั้นใครสักคนหนึ่งมา ทำให้รู้สึกว่าความสัมพันธ์ของ 3 ป.แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ก็คือฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร อีกสัญญาหนึ่งก็คือท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์หลังจากมีกระแสข่าวมามาก ว่าต้องการเปลี่ยนแปลง รมว.มหาดไทยนี้ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ต้องมาอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์โดยปริยาย เพราะว่ามีคนต้องการปรับตัวเขาออกจากตำแหน่ง

ตรงนี้ก็เป็นที่คาดหมายว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยก

หลังจากนั้นก็มีการแยกกันเดินหลายทางในการลงพื้นที่ รวมถึงมีการประลองกำลังลงตรวจน้ำท่วม

สุดท้ายแล้วก็ลงมาที่การวัดพลัง ส.ส. ประลองกำลังกัน แล้วก็มีความพยายามที่ชิงอำนาจกันภายในพรรคพลังประชารัฐ

สัญญาณทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรที่จะทำให้ดูแล้วเหมือนว่าพี่น้องกอดคอไม่มีวันทิ้งกันอย่างที่เขาพูดกันได้เลย สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครเชื่อ

จุดนี้มันเป็นเกมการเมืองเรื่องความเป็นอยู่ของรัฐบาล ซึ่งธีรัจชัยมองว่าเป็นเพียงแค่มิติการเมืองในสภา ในพรรคการเมืองเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าในประเทศไทยโครงสร้างทางอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เราต้องมองให้ดีว่าเขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง มันยังมีอำนาจอื่นด้วย นั่นคืออำนาจกองทัพ

คำถามสำคัญที่ควรคิดประกอบในตอนนี้ คือตำแหน่งสำคัญในกองทัพ ผบ.เหล่าทัพต่างๆ มันอยู่ในมือของใครกันแน่? พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร มีอำนาจจริงในการเสนอชื่อขึ้นมาตรงนี้มันเป็นดุลอำนาจที่สำคัญมาก เราต้องคิดด้วยว่าเหมือนสามี-ภรรยาเคยอยู่กินกัน แยกกันสมบัติตอนแรกมันไม่ได้แบ่งกันก่อน แต่สภาพวันนี้เป็นอีกอย่าง

อีกอำนาจส่วนหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือเรื่องของวุฒิสภาในการเข้าชื่อต่างๆ อย่างน้อยๆ ต้องดูว่าการแบ่งสมบัติอันนี้มันจะเป็นของใครได้บ้าง ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เพราะนี่ถือเป็นดุลอำนาจของการอยู่รอดของรัฐบาลเลย เสียงของปีก พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร ตรงนี้ต้องดูให้ดี ว่าของใคร อำนาจอยู่ที่ใคร

สำคัญที่สุดคือใครจะคอนโทรลองค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระมีความสำคัญมาก รวมไปจนถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามกันเมื่อไหร่มีปัญหาแน่นอน

องค์กรเหล่านี้มีที่มาจากสายของใครกันแน่ สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งเบื้องต้นที่ต้องนำมาวิเคราะห์รวมถึงอำนาจอื่นๆ ที่จะต้องจัดสรรว่าใครจะเป็นคนประสาน ใครเป็นคนดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการดำรงอยู่ของรัฐบาลมันมั่นคง

ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้สภาพรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ที่สืบทอดมา คสช.จะดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่อย่างไร

ไม่ใช่เรื่องของในสภา ในพรรคการเมืองอย่างเดียว

อีกหนึ่งประเด็นที่ ส.ส.ธีรัจชัยมองว่าสำคัญคือการจัดการภายในพรรคร่วมรัฐบาล ชัดที่สุดคือ กรณีของการที่ พล.อ.ประยุทธ์พยายามยื่นไมตรีให้ พล.อ.ประวิตร จนมีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็น 4 กรมเดิมที่เคยคุมโดยคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กลับมาให้ พล.อ.ประวิตรคุมอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่มันไม่มีผลอะไร แถมมันเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาคือปัญหาการอยู่ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล

ทำให้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์รีบออกมาดักคอหรือโต้แย้งทันทีทันใดเรื่องการแบ่งอำนาจผิด เรื่องหลักการบริหารราชการแผ่นดินว่ารองนายกฯ และการอยู่ร่วมกันในรัฐบาลต้องมีมารยาท ต้องให้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการมีอำนาจ

จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่กล้าที่จะปรับ ครม.เพราะจะสะเทือนมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่กล้าทำอะไรมากเพราะจะเกิดความสั่นสะเทือนขึ้น

แต่ผมฟันธงว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่กล้าที่จะแตกหักกับเขาเหมือนกันเพราะยังไม่พร้อมเต็มที่

 

จากสภาวะที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ ส.ส.ธีรัจชัยมองว่า ไม่ว่าอย่างไร พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พร้อมจะแตกหักกันสุดๆ ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะว่าการแตกหักมันจะทำให้เกิดการตายหมู่ทั้งคู่ไปไม่รอด ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมการให้มีการได้เปรียบมากที่สุดก่อน ก็เลยต้องพยายามที่จะประคับประคองให้มีอำนาจมากที่สุด ได้เปรียบที่สุดก่อน

การช่วงชิงในขณะนี้จึงยังไม่ถึงขั้นที่จะล้มกันได้ในช่วงนี้ ดังนั้น จึงคิดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้คงไม่เกิดอะไรขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรแม้สภาพจะเหมือนสามี-ภรรยาแยกห้องนอนกัน แต่เขายังไม่ได้แยกบ้านกัน ยังอยู่ชายคาบ้านเดียวกัน

เขายังรักษาดุลยภาพและจัดการองค์ประกอบต่างๆ ให้ตัวเองสามารถอยู่รอดได้ก่อนและต้องได้เปรียบจริงๆ คือไปให้ถึงจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าตัวเองครองอำนาจได้ คุมองค์กรอิสระได้ รวมถึงกองทัพ-วุฒิสมาชิก-กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หน่วยงานที่เป็นองคาพยพเหล่านี้ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามั่นคง แล้วจึงค่อยไปปลด พล.อ.ประวิตรในการปรับ ครม.ครั้งต่อไป เพื่อให้ตัวเองมีเสถียรภาพมากขึ้น กระชับอำนาจภายในของตัวเองให้มีโอกาสสูงขึ้น

มันจึงอยู่ที่ทีมงานเสนาธิการของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะต้องนั่งวางกันว่าอยู่จุดได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร

 

ส่วนกรอบเวลาในการยุบสภา ส.ส.ธีรัจชัยมองว่า ในประเทศไทยมีหลักการยุบสภาอยู่ไม่กี่อย่าง

1. คือต้องผ่านงบประมาณเรียบร้อย

2. ต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณระดับหนึ่ง เพื่อความได้เปรียบ หมายความว่าต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4-5 เดือนหลังผ่านงบประมาณไปแล้ว เป็นต้นว่าหลังเดือนกุมภาพันธ์มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วส่วนหนึ่ง

และ 3. คือการโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทหารหรือส่วนอื่นๆ ก็เป็นช่วงที่ต้องจัดทัพราชการให้ตัวเองได้ประโยชน์ แต่ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในสภาพวันนี้คืออำนาจมันอยู่ที่ฝ่ายไหนกันแน่?

อีกประการคือการใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้เงินผ่านโครงการต่างๆ ถ้าสมมุติมีปัญหาขัดแย้งไปกันไม่ได้จริงๆ วันนั้นถึงจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มียังไงก็ไม่ยุบ ถ้าเขาจัดการองค์ประกอบเหล่านี้ที่กล่าวมาทั้งหมด เขาก็กำมือเราพร้อมจะยุบเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ที่ว่าตัวเองจะจนแต้มหรือไม่

ดังนั้น จึงมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่เดือนหน้าจะมีการยุบอย่างที่บางคนวิเคราะห์

ผมมองว่าอย่างเร็วที่สุดที่ผมคิดคือเดือนมีนาคม ปี 2565 หรือสิงหาคม 2565

เงื่อนไขอีกประการคือการที่นายกฯ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ก็อาจจะเป็นช่วงนั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องมีการตีความ

แต่ดูยังไงเขาก็ได้เปรียบอยู่เพราะว่าโครงสร้างที่เกิดขึ้นมามันเอื้อให้มีอภินิหารต่อ พล.อ.ประยุทธ์

ชมคลิป