ไร้สัมผัสต่อ ‘กระแส’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ไร้สัมผัสต่อ ‘กระแส’

 

ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังกันมาระยะหนึ่งแล้วคือ ชีวิตดำเนินไปสู่อนาคตอย่างไม่มีความหวัง

โลกเคลื่อนไปด้วยความรับรู้ว่า ความสำเร็จในชีวิตจะต้องประกอบอาชีพอะไรจึงจะเป็นหนทางที่เป็นไปได้ในการเข้าสู่ความสำเร็จของยุคสมัย

แต่หันมามองโอกาสเช่นนั้นแล้ว ในประเทศไทยดูจะมากด้วยปัจจัยที่เป็นอุปสรรค

ด้วยสภาวะที่มองไม่เห็นความหวังนี้

คำถามที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะยังเป็นผู้นำประเทศต่อไปอีกสมัยหรือไม่

ยิ่งในช่วงหลังที่ “พล.อ.ประยุทธ์” แสดงท่าทีว่าจะไปต่ออย่างชัดเจน สะท้อนจากการเดินสายเหมือนเตรียมหาเสียงเลือกตั้ง

ใครต่อใครยิ่งอยากจะได้คำตอบกันใหญ่ว่า ผู้นำประเทศจะยังหนีไม่พ้นที่ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์จริงหรือ

 

อย่างไรก็ตาม การสรุปว่าแนวโน้มของคำตอบจะเป็นแบบไหนดูจะไม่ง่ายนัก

เพราะการประเมิน 2 แนวยังสวนทางกันอยู่

แนวทางแรกเชื่อว่า “โครงสร้างกลไกที่เป็นเครื่องมือกำหนดอำนาจ” ยังเอื้อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีอิทธิพลอยู่สูง โดยเฉพาะ “รัฐธรรมนูญ” ที่ถูกดีไซน์พิเศษสนองการสืบทอดอำนาจยังคงบังคับใช้อย่างเข้มข้น และแม้จะแก้ไขไปบางส่วน แต่สาระของการแก้ไขยังเพิ่มความได้เปรียบให้กับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อรวมถึงกลไกที่วางไว้ในองค์กรที่มีบทบาทกำหนดความเป็นไปทางการเมือง

“พล.อ.ประยุทธ์” ย่อมอยู่ในฐานะได้เปรียบอย่างล้นเหลือ ยากที่จะมีใครมาช่วงชิงโอกาสการสืบต่อความเป็นผู้นำไปได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

นั่นคือการมองในมุมที่ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” ไม่เอาด้วยแล้ว

การมองในมุมนี้แม้จะไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่าความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างที่มอง

แต่หลายอย่างสำหรับคนที่ถนัดกับการจับกระแสความเป็นไปด้วยเซ้นส์ทางการเมืองย่อมรู้สึกได้ว่า “โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์” น่าจะหมดลงแล้ว

แม้จะยืนยันไม่ได้ว่าวัดด้วยอะไร แต่มีบางสิ่งที่สะท้อนไปในทางนั้น

 

อย่างผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” ที่ตั้ง 3 คำถามถึงทางออกทางการเมือง

คำถามแรก “จากความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรทำอย่างไร” มากที่สุดคือร้อยละ 40.73 ตอบว่า นายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปีคืออยู่ในตำแหน่งไม่เกินสิงหาคม 2565

คำถามที่สอง “คิดอย่างไรกับกระแสการยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่” มากที่สุดคือร้อยละ 40.35 บอกควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

และคำถามที่ว่า “คิดอย่างไรกับการปรับคณะรัฐมนตรี” ร้อยละ 50.34 ตอบว่า ควรมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่

รวมความแล้วทั้ง 3 ทางออกพอจะตีความได้ว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล และนั่นน่าจะหมายรวม พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

แม้จะไม่ชัด แต่ก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้น

อย่างไรก็ตาม คนที่จะมีสัมผัสเช่นนั้น น่าจะต้องเป็นคนที่คุ้นชินกับการอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยความแฟร์

สำหรับคนที่ใช้กำลังยึดอำนาจเข้ามาเป็นใหญ่

คนที่ขียนกติกาให้เอื้อการสืบทอดอำนาจของตัวเอง

คนที่อาศัยนิติบริกรคอยตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง

โดยไม่ได้รู้สึก หรือไม่ให้ความสัมพันธ์ของความไม่แฟร์

ไม่แปลกที่จะสัมผัสถึงความรู้สึกว่า “คนส่วนใหญ่ไม่เอาแล้ว” ไม่ได้