‘พิมพ์เขียวประเทศไทย’ ฉบับเศรษฐพุฒิ-วิรไท (1)/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

‘พิมพ์เขียวประเทศไทย’

ฉบับเศรษฐพุฒิ-วิรไท (1)

 

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเห็นสองท่านนี้เป็นแกนนำของการระดมความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อเขียน “พิมพ์เขียวประเทศไทยหลังโควิด-19”

เพราะผมได้ติดตามแนวคิดและข้อเสนอทางออกของประเทศไทยในหลายๆ โอกาสแล้ว เห็นได้ชัดว่าเนื้อหาและสาระนั้นควรจะใช้เป็น “ยุทธศาสตร์ของชาติฉบับประชาชน” ได้จริงๆ

ผมเห็นว่า “ยุทธศาสตร์ 20 ปีของชาติ” ของรัฐบาลชุดนี้ไม่อาจจะเป็นเข็มทิศนำทางของประเทศได้อีกต่อไป

โดยเฉพาะเมื่อถูกเขย่าด้วยวิกฤตซ้อนวิกฤตหลายเรื่อง

ตั้งแต่ “ความป่วน” จากเทคโนโลยี หรือ technological disruption

ตามมาด้วยวิกฤตโควิด-19

และวิกฤตโลกร้อนหรือ Climate Change ที่กำลังจะกลายเป็นสาระระดับโลก

ผมเชื่อว่ามาถึงวันนี้เราควรจะระดมความคิดความเห็นจากผู้ที่อยู่ในวงการต่างๆ ที่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระและอยู่บนพื้นฐานของของวิชาการและหลักวิทยาศาสตร์

โดยไม่มีผลประโยชน์การเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ด้านธุรกิจกลุ่มใดมาเป็นผู้กำหนดวาระแห่งชาติได้

 

ช่วงหลังนี้ผมได้ติดตามข้อเสนอที่เป็นทั้งแนววิเคราะห์และนำเสนอทางออกให้กับบ้านเมืองจากหลายท่านที่ควรจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่าง “พิมพ์เขียวประเทศไทย” เพื่อการถกแถลงและหาข้อสรุปในสังคมได้

เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน เคยมีผู้เชี่ยวชาญเรียกเศรษฐกิจไทยว่าเป็นแบบ “เทฟลอน”

คือเป็นกระทะเหล็ก แม้จะสึกกร่อนบ้าง แต่ก็ยังใช้การได้ดี

เป็นกระทะที่ยังใช้กันแม้จะเก่าและเป็นรอย

แต่วันนี้เมื่อเจอกับแรกกระแทกของโควิด-19 กลับมีการใช้คำเรียกเศรษฐกิจไทยว่า “เปราะบาง”

หรือที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้คำว่า “ไม่ resilient” หรือไม่ “ยืดหยุด” พอ

ความจริงคำว่า resilient ตีความได้มากกว่าเพียงแค่ไม่ยืดหยุ่นด้วยซ้ำ

มันแปลว่า “พลังดึ๋งดั๋ง”

นั่นคือล้มแล้วลุกได้ เซแล้วกลับมายืนตรงได้ และหากพ้นจากวิกฤตแล้วก็สามารถจะออกวิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว

แต่เมื่อบอกว่าไม่ resilient แล้วก็แปลว่าแม้ว่าโควิด-19 จะพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจไทยเราอาจจะไม่มีแรงเหลือพอที่จะเดินแข่งกับใครได้

ล้มแล้วล้มเลย หรือล้มแล้วไม่ยอมลุก หรือลุกขึ้นมาได้แต่ก็เหมือนคนที่ยังไม่หายป่วยหายไข้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล บอกผมว่า จากนี้ไปการที่ประเทศไทยเราจะฟื้นกลับมาจากวิกฤตได้ต้องมี 3 ขั้นตอน

คือหนึ่งออกจากหลุม

จากนั้นต้องมายืนตรงปากหลุมให้ได้

ขั้นที่ 3 คือหลุดจากหลุมและมายืนที่ปากหลุมไม่พอ จะต้องสามารถวิ่งออกจากปากหลุมไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า

คือ “รอด” ไม่พอ ต้อง “รุ่ง” ด้วย

เพราะประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งเรานั้นเขาก็คิดเหมือนกับเราคือต้องออกจากหลุมแห่งวิกฤตเพื่อมายืนอยู่ปากหลุม

แต่คนอื่นเขาเตรียมวิ่งจากปากหลุมไปสู่เส้นชัยที่ไกลกว่าที่เราคิดอยู่ขณะนี้

 

ช่วงนี้ผมติดตามดูแนวทางการวิเคราะห์ของหลายๆ กูรูและสำนักวิจัยและวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศแล้วก็พอจะเห็นภาพที่น่ากังวล

และเมื่อรวบรวมเพื่อสรุปให้เห็นภาพที่ชัดและข้อเสนอทางออกที่น่าจะรวมกันเรียกว่าเป็น “Blueprint for Thailand” หรือ “พิมพ์เขียวประเทศไทย” ได้

ผมติดตามแนวทางวิเคราะห์ของ ดร.เศรษฐพุฒิกับของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ, ดร.วิรไท สันติประภพ กับความเห็นที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของประเทศ

อาจจะถือว่าเป็นการปรับครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยทีเดียว

ขณะที่ ดร.เศรษฐพุฒิเน้นถึงการสร้าง resilience ให้กับเศรษฐกิจไทย ดร.วิรไทเน้นการปรับปรุงโครงสร้างอย่างจริงจัง

ซึ่งรวมถึงการปรับรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ภาคประชาสังคม-สถาบันการศึกษาเพื่อรองรับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรง

 

ดร.เศรษฐพุฒิในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันบอกว่าในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงนั้น เศรษฐกิจไทยจะ resilient ได้ ต้องมีลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ

(1) ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ ability to avoid shocks

(2) ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ ability to withstand shocks และ

(3) ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว หรือ ability to recover from shocks

ไทยเรามี “ข้อจำกัด” ทั้งสามด้าน

ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ค่อนข้างจำกัด

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ

เหตุเพราะเราพึ่งพาต่างประเทศที่สูงในแทบทุกมิติ

ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะสังคมสูงวัย เศรษฐกิจไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก

 

นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ อีกด้วย

แล้ว ดร.เศรษฐพุฒิก็หยิบยกความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change เป็นตัวอย่าง

คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ตระหนักว่า ภาวะโลกร้อนหรือ climate change ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า

อุณหภูมิพื้นผิวโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ถึงแม้ว่าประชาคมโลกจะมีความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกลงบ้างแล้วก็ตาม

เราจะตระหนักมากน้อยเพียงใดก็ตาม ความจริงที่ต้องเผชิญก็คือสำหรับประเทศไทย ความเสี่ยงจาก climate change มีความสำคัญอย่างมาก

ดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ German Watch ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก

สภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงขึ้น และความผันผวนของปริมาณน้ำฝนจาก climate change ได้ซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ

และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของประเทศอีกด้วย

ผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนว่านอกจากนี้ ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศพัฒนาแล้ว

ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสินค้า นโยบายการลงทุน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น การออกแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรป (European Green Deal)

รวมถึงการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าของไทยอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการที่มาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2023 นี้แล้ว

 

ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยยังมี “ขีดความสามารถที่จำกัด” ในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ

(1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจมีสภาพคล่อง หรือสายป่านที่ยาวเพียงพอให้อยู่รอดจนผ่านพ้นวิกฤต และ

(2) ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน และการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและการตลาดของธุรกิจ

ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงมีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ค่อนข้างจำกัด

คำตอบคือ เพราะโครงสร้างศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำที่สูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) ที่ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ

เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ (first jobbers) แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน

และธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากและมักอยู่นอกระบบ ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

ขณะเดียวกันในด้านสภาพคล่องนั้น กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มักมีสายป่านทางการเงินที่สั้น เนื่องจาก

(1) มีเงินออมที่ไม่เพียงพอ

(2) กู้ยืมเงินได้ยาก

(3) ไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคม เช่น ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงในยามวิกฤตได้เหมือนในยามปกติ เนื่องจากคนอื่นๆ อาจประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน

และ (4) ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอ

เหตุก็เป็นเพราะเขาเหล่านี้อยู่ในภาคเศรษฐกิจ “นอกระบบ”

ยิ่งไปกว่านี้ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีข้อจำกัดด้านทักษะและเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการปรับตัว รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน เช่น ไม่สามารถทำงานจากบ้านหรือเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะเวลาอันสั้น

(สัปดาห์หน้า : ข้อเสนอและทางออก)