ยุทธการชิงเก้าอี้นายกฯ ‘ประยุทธ์’ ห้ำหั่น 2 คนหนุ่ม ‘ทิม พิธา’ และ ‘เขยทักษิณ’?/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

ปรัชญา นงนุช

 

ยุทธการชิงเก้าอี้นายกฯ

‘ประยุทธ์’ ห้ำหั่น 2 คนหนุ่ม

‘ทิม พิธา’ และ ‘เขยทักษิณ’?

 

แม้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเคยลั่นวาจาตั้งแต่ช่วงศึกซักฟอก ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่าไม่คิดยุบสภา

แต่พฤติกรรมของ “บิ๊กตู่” รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล กลับสวนทางกับวาจาที่ลั่นไว้ ผ่านภาพการลงพื้นที่อย่างเต็มกำลังของแต่ละพรรค เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายค้านที่เร่งเครื่องไม่ต่างกัน ราวกับจะมี “การเลือกตั้ง” ในอนาคตอันใกล้

แถมตามมาด้วยการเปิดตัว “แคนดิเดตนายกฯ” ของแต่ละพรรค ในลักษณะ “ข่มขวัญ” และ “ปลุกกระแส” ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ บรรดาสำนักโพลยังเริ่มสำรวจความเห็นของประชาชนล้อไปกับกระแสการเมือง ทำให้เห็นเรตติ้งความนิยมรายภูมิภาคของแต่ละพรรคและผู้นำแต่ละคน

ขณะเดียวกัน การลงพื้นที่ของทุกพรรคก็เท่ากับเป็นการ “เช็กเรตติ้ง” ไปในตัวด้วย โดยเฉพาะบิ๊กตู่ที่ใช้โอกาสในการเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมตามพื้นที่ต่างๆ ประเมินความนิยมของตนเอง

ในภาพรวมทั้งประเทศ ยังถือเป็นงานหนักของ “ประยุทธ์-เครือข่าย 3 ป.” แต่สำหรับภาคใต้ “แบรนด์บิ๊กตู่” ยังขายได้ดี

ส่งผลให้ “เครือข่าย 3 ป.” พยายามเจาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคกลางมากขึ้น ดังจะเห็นว่าเพียงระยะเวลา 1 เดือนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางไปยัง 8 จังหวัด

ส่วน “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ลงพื้นที่ถี่ขึ้น

แม้จะมีบางฝ่ายตีความว่านี่คือ “ศึกวัดพลัง” ระหว่าง “2 ป.” แต่ก็มีบางคนมองว่า “ประยุทธ์-ประวิตร” กำลังใช้ยุทธวิธี “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ภายในพรรคพลังประชารัฐ โดยทั้ง “2 คลัสเตอร์” ล้วนยังอยู่ภายใต้ร่มเงา “3 ป.”

 

พรรคพลังประชารัฐมีท่าทีชัดเจนมากขึ้นในการชูชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกสมัย เห็นได้จากคำยืนยันล่าสุดของหัวหน้าพรรคอย่าง พล.อ.ประวิตร

ทว่าสิ่งที่บิ๊กป้อมยังไม่ได้คอนเฟิร์มก็คือ ในการเลือกตั้งหนหน้า แคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐจะมีกี่รายชื่อ?

สอดคล้องกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ให้จับตาชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งเพิ่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการ แถมได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคในทันที

จนถูกประเมินว่านี่อาจเป็น “แคนดิเดตนายกฯ สำรอง” ของ “เครือข่าย 3 ป.”

หากย้อนดูโปร์ไฟล์ของพีระพันธุ์จะพบว่า “ตรงสเป๊ก” กับที่ “3 ป.” ต้องการ เพราะเป็นพลเรือนที่มีภาพลักษณ์ดี เป็นนักกฎหมาย เรียนจบนอก รวมทั้งมีผลงานในอดีตให้จับต้องได้

ที่ผ่านมา พีระพันธุ์ได้ชื่อว่าเป็น “สายตรงบิ๊กตู่” กระทั่งนายกฯ มอบหมายงานสำคัญให้ทำหลายเรื่อง ยิ่งกว่านั้น สายสัมพันธ์ระหว่างอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ผู้นี้กับบิ๊กป้อมก็นับว่าแนบแน่น ตั้งแต่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพีระพันธุ์ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ส่วน “พี่ใหญ่ 3 ป.” นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม

แม้ว่าบิ๊กป้อมจะปฏิเสธเรื่อง “เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชั่น” เพราะถึงพีระพันธุ์จะเป็นรุ่นน้องร่วมโรงเรียน แต่ก็เรียนไม่ทันหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะฝ่ายหลังอาวุโสกว่ามาก

แต่บุคคลสำคัญที่คุ้นเคยกับพีระพันธุ์สมัยเป็นนักเรียนเซนต์คาเบรียล ก็คือ “บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” รองเลขาธิการพระราชวัง และอดีต ผบ.ทบ.

โดยพีระพันธุ์อายุมากกว่าบิ๊กแดง 1 ปี และต่างฝ่ายต่างคบหากันแบบเพื่อนที่เติบโตมาจากครอบครัวลูกนายทหารคล้ายคลึงกัน เนื่องจากบิดาของที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คือ พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ อดีตเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร

ชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” จึงเชื่อมโยงกับทั้งขั้วอำนาจ “3 ป.” และ พล.อ.อภิรัชต์ ในลักษณะ “สามประสาน” เลยทีเดียว

 

ข้ามฟากไปยังพรรคฝ่ายค้านที่ขยับเขยื้อนใหญ่ไม่แพ้กัน เริ่มที่พรรคก้าวไกล ซึ่งชูชื่อ “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค เป็น “แคนดิเดตนายกฯ”

แม้จะเคยถูกสบประมาทว่าอาจมี “ความกล้าหาญทางการเมือง” และภาวะผู้นำไม่เท่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่การปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลของพิธาตลอด 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ก็สะท้อนว่าเขาสามารถแบกรับ “ความคาดหวัง” จากมวลชนได้ สอดคล้องกับคะแนนในโพลต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ปัญหาหนักอกที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญคือเรื่อง “เลือดไหลออก” ทั้งกรณี “งูเห่าสีส้ม” ที่เรื้อรังมานาน และเอฟเฟ็กต์หลังจากอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่าง “วินท์ สุธีรชัย” ลาออกไปตั้งพรรค “รวมไทยยูไนเต็ด”

ทางด้านพรรคเพื่อไทยก็กำลังรอไฟเขียวจาก “นายใหญ่แดนไกล” ว่าจะเลือกใครเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” เพราะต้องเอามาสู้กับพิธา ซึ่งมีจุดเด่นด้านความเป็นคนรุ่นใหม่ผนวกด้วยภาพลักษณ์ที่สมาร์ต

ก่อนหน้านี้ มีการปล่อยชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” บิ๊กบอสแห่ง “แสนสิริ” ออกมา แม้ ณ ปัจจุบัน เจ้าตัวจะปฏิเสธเรื่องการเข้าสู่สนามการเมืองหรือการขึ้นเป็นแคนดิเดตผู้นำประเทศ แต่การบอกปัดของเศรษฐาก็ดำเนินไปในเชิง “แบ่งรับแบ่งสู้”

ทั้งยังน่าสังเกตว่า เจ้าสัวแสนสิริมักโพสต์แสดงทัศนะทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ “วิสัยนักธุรกิจแบบไทยๆ” ซ้ำยังเป็นเหมือนการเดินตามรอยอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเริ่มถูกจับตามองจากการเป็น “นักธุรกิจหนุ่ม” ที่กล้าออกมาพูดเรื่องการเมืองเช่นกัน

ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์

อีกทางหนึ่ง มีการประเมินว่า “ทักษิณ ชินวัตร” อาจเลือกใช้ยุทธวิธีเดิม แบบที่เคยปั่นกระแส “นารีขี่ม้าขาวฟีเวอร์” จนสร้าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้ผงาดขึ้นเป็นนายกฯ ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 49 วันมาแล้ว

เพราะหวั่นวิตกว่ายิ่งพรรคเพื่อไทยเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเร็วเท่าใด ผู้ท้าชิงรายดังกล่าวก็จะถูกเปิดบาดแผลโดยไม่จำเป็นเร็วขึ้นเท่านั้น

เมื่อคำนึงถึงยุทธวิธีข้างต้น ชื่อของ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” สามี “เอม-พินทองทา ชินวัตร” จึงเริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ลูกเขยอดีตนายกฯ” ผู้นี้ อาจเจริญรอยตาม “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะความเป็น “น้องเขยทักษิณ” มาแล้ว

ชื่อของณัฐพงศ์นั้นมีทั้ง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ในตัวเอง โดยเขาเป็น “คนหน้าใหม่-ไร้บาดแผล” มีดีกรีปริญญาโท เคยผ่านงานบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และมีภาพลักษณ์ “หนุ่มสมาร์ต” สูสีกับหัวหน้าพรรคก้าวไกล

แต่อีกด้านหนึ่ง นี่แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยยังหนีไม่พ้นเงา “ทักษิณ-ตระกูลชินวัตร” ซึ่งเชื่อมั่นในแนวคิด “เลือดข้นกว่าน้ำ” และยึดมั่นในการสร้าง “นอมินีทางการเมือง” แม้ว่าการเมืองบนท้องถนนที่ขับเคลื่อนโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่จะก้าวหน้าไปไกลมากๆ แล้วก็ตาม

ดังนั้น จึงต้องจับตาว่าชื่อแคนดิเดตผู้นำประเทศของพรรคเพื่อไทยจะสร้างกระแส “ว้าว” ได้สมราคาคุยของลูกพรรคบางราย หรือจะเรียกเสียง “ว้า” แทน

 

สําหรับพรรคการเมืองเกิดใหม่อื่นๆ นั้น พรรคไทยสร้างไทยของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ก็มีเรตติ้งแรงใช้ได้ เพราะ “เล่นการเมืองถูกจังหวะ” โดยเฉพาะในกรณีการเดินทางไปสหรัฐเพื่อจี้ถามเรื่องวัคซีนโควิด

แต่ต้องติดตามต่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ออกมาจริงๆ รัศมีของ “คุณหญิงหน่อย” ที่มีภาพลักษณ์ “คนเพื่อไทย” ตกค้างอยู่ จะถูกบดบังไปมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่สุดของการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังคงเป็นการแบ่งขั้วระหว่าง “ขั้วประยุทธ์” กับ “ขั้วแดง-ส้ม” ในบริบทที่สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อปี 2562 ชัดเจน หลังมีข้อเรียกร้องระดับ “ทะลุเพดาน” ดังก้องตามท้องถนน

นี่จึงเป็นการต่อสู้ในโจทย์เก่า ทว่าเดิมพันสูงขึ้น โดยที่ “พวกเขา” จะแพ้ไม่ได้!!