คำ ผกา | ที่นี่ประเทศไทยหาใช่ดิสนีย์แลนด์

คำ ผกา

เป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วันที่ครั้งนั้นประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาแถลงทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า kick off วันที่ 16 มินายน เพราะฉะนั้น ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ก็จะครบ 120 วัน

ดังนั้น ในวันที่ 11 ตุลาคม ประยุทธ์จึงออกมาแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ว่า ใดๆ ที่ตั้งเป้าเอาไว้เราทำสำเร็จแล้ว ดังนั้น เราจะเปิดประเทศแล้วนะ ครบ 120 วันแล้วนะ

และคำว่าเปิดประเทศในที่นี้หมายถึง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไปเราจะเปิดรับนักท่องเที่ยว/เดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว

จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป จะเริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ จะกลับมาให้บริการอีกครั้งหนึ่ง

ฉันจะตัดเนื้อหาในแถลงของประยุทธ์ในส่วนที่เป็นการคุยโม้โอ้อวดเรื่อยเปื่อย ประเภทเคลมว่าตนในฐานะนายกฯ นั้นประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤตโควิดไปได้ไม่แพ้ชาติไหนในโลกออกไป

เพราะอัตลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะวัฒนธรรมข้าราชการคือ การประจบสอพลอ อวยกันไปอวยกันมา และถนัดที่สุดในการยกหาง เยินยอตัวเอง

พูดง่ายๆ ว่า ความขี้โม้เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย

 

สมมุติว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะเปิดรับนักท่องเที่ยวและคลายมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” ต่างๆ ภายใน 120 เราต้องดูเกณฑ์อะไรบ้าง?

– เราต้องฉีดวัคซีนแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งรัฐบาลเคลมว่าฉีดได้ตามเป้าหมายแล้วคือเกินห้าสิบล้านโดส

ตรงนี้ให้ผ่านก็ได้ เข้าเป้าก็เข้าเป้า แม้ลึกๆ จะถอดถอนใจว่า ไม่มีประเทศไหนจะมีสภาพแกงโฮะวัคซีนเท่าที่ประเทศไทยแล้ว

เพราะเรามีทั้งคนฉีดซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้าจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งที่ซื้อ ทั้งที่มาจากโรงงานในประเทศ ทั้งที่ประเทศอื่นๆ บริจาคมาเพราะเขาเปลี่ยนไปใช้ไฟเซอร์ โมเดอร์นากัน

และยังมีคนที่พรีออร์เดอร์ จ่ายเงินล่วงหน้า จองวัคซีนโมเดอร์นาที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่

มีทั้งไฟเซอร์ที่ตอนนี้โฟกัสให้เอาไปฉีดให้นักเรียนก่อน มีทั้งการฉีดวัคซีนไขว้ในแบบที่ไม่เหมือนใครในโลก และในหกสิบล้านโดสนี้มีทั้งคนได้ฉีดหนึ่งเข็ม, สองเข็ม ไปจนถึงสามและสี่เข็ม

นั่นแปลว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วในประเทศไทยมีทั้งคนที่มีภูมิน้อยมาก ไปจนถึงมีภูมิสูงมาก หรือบางคนไม่มีภูมิเลย ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดโควิดอีก

จึงสมควรหมายเหตุไว้ว่า เราฉีดวัคซีนได้เข้าเป้าก็จริง แต่สัมฤทธิผลแห่งการสร้างภูมิคุ้มกันน่าจะลุ่มๆ ดอนๆ ไม่น้อย

– มาดูยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด

ตัวเลขเราค่อนข้าง “นิ่ง” นิ่งในที่นี้คือไม่ลด ยิ่งเอาตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK มาบวก ยิ่งชัดเจนว่าเป็นตัวเลขบวกไปนิ่งๆ บวกขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครอยากจะโวยวายอะไรแล้ว ไม่นับว่าเริ่มชินชา แต่จะลองคิดเข้าข้างรัฐบาลว่าตัวเลขยังคงสูงแบบนิ่งๆ นี้ เขาคำนวณแล้วว่าเอาอยู่ ไม่เกินกำลังศักยภาพของสาธารณสุขที่จะรับได้ – ไม่ว่ากัน

เอาเป็นว่าฉันเห็นด้วยว่าเราผ่านเกณฑ์แล้ว เราควรเปิดประเทศแล้ว

แต่ถามว่า นอกเหนือไปจากการฉีดวัคซีนแล้วความพอใจกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน

มันเพียงพอที่จะทำให้เราเปิดประเทศสำเร็จหรือไม่?

เปิดประเทศ ใครๆ ก็เปิดได้ เหมือนฉันสร้างบ้าน จะสร้างเสร็จไม่เสร็จ แต่กูจะขึ้นบ้านใหม่เสียอย่างใครจะทำไม คนอื่นบอกไม่เสร็จ แต่กูบอกเสร็จ ใครบอกว่าไม่เสร็จเป็นปัญหาของมึงไม่ใช่ของกู

เช่นเดียวกันกับการเปิดประเทศนี่แหละ เราจะเปิดเสียอย่าง เราจะบอกว่าเราประสบความสำเร็จเสียอย่าง ใครจะมาเถียงว่าเราล้มเหลวก็ไม่ใช่ปัญหาของเรา

ดังนั้น พูดแค่ว่า ครบร้อยยี่สิบวันแล้วเราทำสำเร็จแล้ว เราเปิดประเทศได้แล้ว เย้ๆ ฉลองสิคะ รออะไร? ปรบมือสิคะ รออะไร?

แต่พูดแค่นี้มันไม่พอ

คนที่ “บริหาร” เป็นหรือทำงานเป็น ต้องพูดเรื่อง “เราจะเปิดประเทศอย่างประสบความสำเร็จและมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลับมาปิดประเทศอีกครั้งน้อยที่สุดได้อย่างไร”

พร้อมรายงานต่อในเนื้อหาที่ว่าด้วย “สิ่งที่รัฐบาลได้เตรียมการมาอย่างสำเร็จสมบูรณ์แล้วเพื่อเตรียมรับการเปิดประเทศ”

ซึ่งสองประการนี้ไม่ได้อยู่ในเนื้อหาที่ประยุทธ์ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 11 ทั้งๆ ที่เป็นสองประเด็นที่สำคัญที่สุด

อันที่จริงฉันไม่เคยเห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองใดๆ และโปรแนวทางของสวีเดนมากกว่า นั่นคือ แทนการสั่งห้าม สั่งปิด ฉันคิดว่ารัฐเอาพลังงานในการห้าม การปิด การคิดมาตรการอันซับซ้อนไปทุ่มเทให้กับการเตรียมทรัพยากรทางสาธารณสุขเพื่อดูแล “ผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วย” จะดีกว่า

ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ให้ดูแลผ่านระบบ telemed และเป็น home isolation หรือ isolation ในสถานที่ที่รัฐจัดหาให้ที่ไม่ใช่โรงพยาบาสนาม แต่อาจเป็นโรงแรม หรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

ส่วนการออกไปใช้ชีวิต ไปฟิตเนส เล่นกีฬา เสริมสวย นวด กินอาหารนอกบ้าน ฯลฯ ฉันคิดว่าแทนการห้าม เราสามารถปล่อยให้เป็น “วิจารณญาณ” ส่วนบุคคล

ฉันเชื่อว่าในโลกนี้มีคนที่กลัวตายมากพอที่จะป้องกันตัวเองสูงสุดโดยที่รัฐไม่ต้อง “สั่ง” อยู่เยอะแยะไปหมด

คนรอบตัวฉัน มีทั้งคนที่ใส่หน้ากากเกือบยี่สิบสี่ชั่วโมง ต่อให้ร้านอาหารเปิดก็ไม่กินข้าวนอกบ้าน ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ถี่ๆ เท่าๆ กับที่หายใจ แม้นฉีดวัคซีนแล้วก็ยังกลัว

ผู้ปกครองจำนวนมาก แม้โรงเรียนจะเปิดให้เรียน on site ก็โวยวาย ไม่ยอมให้ลูกไปโรงเรียน แถมด่าโรงเรียนอีกที่เปิดเรียน

เชื่อฉันเถอะว่าคนไทยกลัวตายไม่แพ้ใครในโลกนี้

ดังนั้น หากรัฐไม่ต้องเล่นบทเป็นคนตัดสินใจแทนประชาชนทุกคน แค่แจ้งเตือน ให้ข้อมูล และเอาพลังงาน ทรัพยากร บุคลากรไปดูแลเฉพาะจุดที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ให้เนี้ยบๆ ในทุกคลัสเตอร์ที่เกิด

ที่เหลือปล่อยให้กลไกความกลัวตายของปัจเจกบุคคลนี่แหละ ทำงานบนวิจารณญาณของพวกเขาเองว่าจะตั้งการ์ดให้ตัวเองระดับไหน มีความเสี่ยง ความจำเป็นแค่ไหนในการออกไปทำกิจกรรมอะไร

ท้ายที่สุด มันก็จะทั้งคนที่จำเป็นต้องทำงาน คนที่ไม่มีความจำเป็นอะไรก็ไม่ออกจากบ้านเลย

คนที่ประเมินว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรตามบริบท เช่น ดูแล้วร้านค้าย่านนี้ปลอดภัย ไม่แออัดก็เลือกไปเที่ยว เล่นแถวนั้น อุ๊ย ร้านนี้ดูไม่แคร์โควิดเลย ดูไม่ป้องกันเลย เราไม่กินร้านนี้ ไปกินร้านอื่น

หรือร้านก๋วยเตี๋ยวข้าวแกงบางร้านกลัวโควิดมาก ต่อให้รัฐสั่งให้นั่งกินในร้านได้ เจ้าของร้านก็ไม่ให้นั่งเพราะกลัว ส่วนบางร้านมั่นใจว่าตนเองจัดการได้ ก็เปิดให้นั่ง

ถ้าเราทำแบบนี้ตั้งแต่แรกเราจะพบว่าความสมดุลมันจะเกิดของมันเอง

มีคนป่วย คนติด ก็ดูแลไปอย่างเต็มที่ ทุ่มเททุกอย่างไปที่ระบบสาธารณสุขนู่น ไม่ใช่มาทุ่มที่ “ความมั่นคง” และไม่ต้องไปแพนิกกับตัวเลขผู้ติดเชื้ออะไรนัก เพราะตัดใจไว้แล้วว่าจะต้องเยอะแต่มีปัญญารักษา ดูแลไง

ใครกลัวก็ให้สมัคร “ปิด” ตัวเอง หรือล็อกดาวน์ตัวเอง

โรงเรียนก็ใช้วิธีสมัครใจ แต่โรงเรียนมีเรียน on site ตามปกติ แต่ใครกลัวมากอยากเรียนออนไลน์ โรงเรียนก็ไปเซ็ตระบบเรียนออนไลน์ให้ ก็แค่นั้น หรือเปิดฟรีให้นักเรียนเลือก gap year ได้

เรื่องเหล่านี้ทำได้ง่ายมาก ถ้าจะทำ

แค่เปลี่ยนทายด์เซ็ตว่า เราปรับเรื่องการวัดผล การส่งการบ้านแบบเดิมๆ ทิ้ง เราก็จะไปต่อได้

สร้างระบบการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ต้องตายตัวก็ได้ จากนั้นก็ไปทุ่มเทพลังงานไปกับการหาวัคซีนที่ดีที่สุดมาฉีดให้ประชาชนให้มากที่สุด เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้ – เพียงแค่นี้ก็ปิดจ๊อบ จบปึ้ง สามารถนำพาประเทศเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยละม่อม

ไม่ต้องมานั่งออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ให้คนหลงดีใจนึกกว่าจะมาประกาศลาออก

หากเราทำแบบนี้ตั้งแต่แรก มันจะไม่เกิดผลกระทบทางเศรษบกิจเป็นวงกว้างและรุนแรงขนาดนี้ อีกทั้งรัฐไม่ต้องมาใช้เงินกับการ “เยียวยา” มากเกินไป

แม้กระนั้น การใช้เงินเพื่อเยียวยาของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาก็ไม่เคยตรงจุดตรงเป้า ตรงประเด็นสักครั้ง!

แต่เนื่องจากเราไม่ได้ทำทั้งหมดที่ฉันเขียนมาข้างต้น และเราเป็นประเทศที่มีการปิดๆ เปิดๆ ประเทศอย่างพิลึกพิลั่นที่สุดเพราะการบริหารโควิดของเราไม่ได้มีโควิดเป็นศูนย์กลาง แต่มีความมั่นคงทางอำนาจของประยุทธ์และรัฐบาลเป็นศูนย์กลาง เราจึงมีมาตรการรับมือกับโควิดที่เน้นการ “สร้างภาพ” และเน้นบทบาทการใช้โควิดเป็นตัวช่วยเพื่อให้ประชาชนสัมผัสถึงอำนาจอันหาที่สุดมิได้ของรัฐบาล

นั่นคือเน้นการออกมาตรการ/กฎหมาย ตามอำเภอใจผู้นำมากกว่าตามหลักการและเหตุผลเพื่อความสำเร็จในการควบคุมโรค และดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

ถามคำถามเดิมว่า อยู่ๆ ครบ 120 วันก็ประกาศเปิดประเทศ แต่ไม่มีทั้งสติ ทั้งปัญญาที่จะคิดว่าภายใน 120 วันก่อนเปิดประเทศ ควรต้องเตรียมการอะไรไว้บ้าง

แค่เราจะเปิดบ้านรับแขก ก่อนวันที่แขกจะเดินทางมาบ้านเรา เรายังต้องเตรียมปัดกวาดบ้านช่อง ดูน้ำ ดูอาหาร ดูเครื่องดื่ม ดูความพร้อมของสมาชิกในบ้าน

แต่หันมาดูประเทศไทยว่า 120 วันที่ผ่านมา รัฐบาลทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าประเทศเราสวยงาม ปลอดภัย มีบริหารที่พร้อมจะทำให้นักท่องเที่ยว มีความอบอุ่น ปลอดภัย สบายใจกับการเดินทางมาเที่ยวที่นี่

ฉันเคยเขียนในมติชนสุดสัปดาห์นี่แหละว่า ช่วงปิดประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยว รัฐบาลน่าจะใช้โอกาสนี้ให้ซอฟต์โลนกับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารของผู้ประกอบการขนาดกลางลงไปถึงโฮมสเตย์รายย่อย เพื่อให้พวกเขาใช้เงินทุนไปกับการปรับปรุง รีโนเวตอาคาร สถานที่ ส่งพนักงานเข้าเรียนเวิร์กช็อป ทำเทรนนิ่งอะไรใหม่ๆ ซึ่งจะได้ประโยชน์หลายประการ

ทั้งทำให้ธุรกิจคงสภาพคล่อง/รักษาอัตราการจจ้างงาน/ได้ยกระดับมาตรฐานของห้องพัก/ได้ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการ/ได้อัพสกิลพนักงานที่มีโอกาสพักจากงานบริหารเข้าเทรนนิ่ง ทำสิ่งใหม่ๆ

เช่น อาจจะมีโรงแรมเล็กๆ ได้เงินกู้นี้ เอาไปปรับปรุงห้องพัก จัดสวน แล้วอาจใช้เวลาที่ว่างกับพนักงานส่วนหนึ่ง ไปเรียนการทำเบียร์ เปิดเมืองมาอีกที โรงแรมนี้ก็มีคราฟต์เบียร์ แบรนด์ของโรงแรมเอง เป็นจุดขายได้อีก

ถามว่ารัฐบาลได้ทำอะไรแบบนี้ไหม?

คำตอบคือไม่ และถามว่าตอนนี้โรงแรมเจ๊งไปแล้วเท่าไหร่ พนักงานโรงแรมเปลี่ยนอาชีพ ล้มหายตายจากไปอีกเท่าไหร่แล้ว

 

ช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว แทนที่รัฐบาลจะฉวยโอกาสนี้ปรับปรุงภูมิทัศน์ประเทศครั้งใหญ่ สะสางความรกรุงรัง สายไฟ ท่อระบายนำ ทางเท้า สวนสาธารณะ – เปิดประเทศมาปุ๊บ เป็นเมืองไทยโฉมใหม่ ไฉไล สวยงามกว่าเดิม

ถามว่าได้ทำไหม? คำตอบคือไม่ เปิดประเทศมาเจอน้ำท่วม น้ำมาก น้ำรอการระบาย เจอหนู เจอแมลงสาบ

ช่วงปิดประเทศ แทนที่จะคิดเรื่องการพัฒนาสตรีตฟู้ด เพราะนี่คือความโดดเด่น เสน่ห์การท่องเที่ยวไทย ใช้โอกาสช่วงเมืองร้างๆ มาคิดใหม่ ทำใหม่ ทำให้อาหารข้างทางของไทยกลายเป็นทั้งแหล่งรายได้ของคนทำมาหากิน เป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด รสชาติอร่อยของคนไทย และเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว

ถามว่าทำไหม? ไม่ทำ

ช่วงปิดประเทศควรโฟกัสไปที่การยกระดับ พัฒนาสินค้าเกษตร ไปคิดเรื่องเอาข้าวมาทำสาเก เอาผลไม้มาต่อยอดทำน้ำผลไม้แบบไฮเอนด์ ทำไวน์ ทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ไปคิดทำเรื่องโครงการพักชำระหนี้ ไปทุ่มเทเรื่องเปลี่ยนเกษตรกรไทยไปสู่การเป็นสมาร์ตฟาร์เมอร์ – อย่างน้อยก็ช่วยให้มีเม็ดเงินจากโครงการของรัฐกระจายผ่านภาคเกษตรไปสู่ภาคการผลิตต่างๆ เศรษฐกิจภายในยังขับเคลื่อนไปได้ ไม่อับเฉา แถมยังเป็นการสะสมเรี่ยวแรง สะสมกำลัง เพื่อพร้อมสำหรับการเปิดประเทศหลังโควิด

ถามว่าทำไหม? ไม่ทำ

 

ภายใน 120 วัน หากคิดจะเปิดประเทศ ได้วางแผนเรื่องโลจิสติกส์การเดินทางให้มีทั้งความรัดกุมเรื่องการป้องกันโรค ขณะเดียวกันสะดวกที่สุด สบายที่สุด น่าประทับใจที่สุดสำหรับนักเที่ยว หรือแม้แต่มาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น ตรวจโควิดฟรี ติดโควิดรักษาฟรี ฉีดวัคซีนฟรีทันทีที่เดินทางเข้าประเทศ ฯลฯ

ถามว่าได้ทำไหม? คำตอบคือไม่ทำ

ถามต่อไปว่า เปิดประเทศน่ะ เปิดได้ไหม? คำตอบคือเปิดได้ แต่เปิดแล้วจะสำเร็จหรือล้มเหลว และใครหน้าไหนจะมารับผิดชอบ คำตอบคือ ถึงเวลานั้นหากล้มเหลวขึ้นมาก็ชี้หน้าด่าประชาชน แล้วก็สมอ้างว่าตัวเองทำดีทุกอย่างสำเร็จทุกเรื่อง ทั่วโลกชื่นชม

ปลอมยิ่งกว่าดิสนีย์แลนด์ก็ไทยแลนด์ในทุกวันนี้ ปลอมเหมือนรูปนั่งอ่านหนังสือ ทำงานบนเครื่องบินนั่นแหละ

ส่วนคนไทยก็เก่งมากที่วันนี้ยังอุตส่าห์เอาตัวรอดกันมาได้
ขอให้อดทนต่อไปนะพวกเรา