ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
เศรษฐกิจ
SCBX ยานแม่ไทยพาณิชย์สู่โลกดิจิตอล
เขย่าวงการแบงก์เร่งปรับตัว
ระบบโครงสร้างพื้นฐานตอบโจทย์หรือยัง
คําว่า “ฟินเทค (Fin Tech)” คนไทยเริ่มได้ยินคำนี้เมื่อหลายปีก่อนแต่ก็ยังไม่คุ้นชินมากนัก
แต่ทุกวันนี้เราต่างใช้ Fin Tech ในการทำธุรกรรมทางการเงินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ไปจนถึงการกู้เงิน ผ่านระบบแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ใช้งานง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่ต้องไปธนาคาร
โดยในประเทศไทยมีเอกชนที่ให้บริการฟินเทคอย่างมากมาย เช่น ธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ระบบซื้อขายเหรียญดิจิตอล ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้บริการหน้าเก่า หน้าใหม่ รายเล็ก รายใหญ่ สร้างความคึกคักให้กับตลาดการเงินบ้านเราเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะการซื้อขายเหรียญดิจิตอลที่เพิ่งคุ้นชิ้นกันเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “บิทคับ (Bitkub)” สร้างกระแสให้คนไทยได้ลงทุนซื้อขายเหรียญดิจิตอลกันอย่างมาก จนระบบหลังบ้านรองรับไม่ไหว
“ชลเดช เขมะรัตนา” นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เคยระบุถึงแผนการพัฒนาฟินเทคในประเทศไทยว่า ได้กำหนดภารกิจออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1. ให้มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการส่งตัวแทนของสมาคมเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการฟินเทค ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานกำกับดูแล โดยมุ่งหวังว่า อยากให้สมาชิกมาทำความรู้จักกันแลกเปลี่ยนความคิด หาช่องทางต่อยอดธุรกิจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อผลักดันให้วงการฟินเทคพัฒนาต่อเนื่อง
2. พัฒนา API (Application Programming Interface) กลาง หากมีบริษัทต่างประเทศส่งข้อมูลการซื้อ-ขายเข้ามา แต่ละบริษัทไม่ต้องเขียนโปรแกรมใหม่แต่มีฟอร์แมตกลางของสมาคมเข้ามารองรับ
3. แก้ปัญหาด้านบุคลากรฟินเทคที่ขาดแคลน ด้วยการเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัย และสมาคมต่างๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรฟินเทค มาสอนทั้งนักการเงิน นักศึกษาที่สนใจ ปิดจุดอ่อนด้านบุคลากรที่หายาก
และ 4. โรดโชว์ในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศรู้จักสตาร์ตอัพไทยกลุ่มฟินเทคเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมามีของดี แต่นักลงทุนต่างประเทศไม่ค่อยรู้จัก
โดยบริษัทชื่อดังอย่าง Bitkub สตาร์ตอัพไทย ก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล โดยให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในการซื้อ-ขายและเก็บสินทรัพย์ดิจิตอล จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) หลังจากการเปิดให้บริการราว 2 ปี ในช่วงปลายปี 2563 Bitkub แจ้งสู่สาธารณชนว่ามีการเติบโตเฉลี่ยกว่า 600%
โดยมูลค่าของบิทคอยน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทะลุ 1 ล้านบาทต่อบิทคอยน์ ได้สร้างความสนใจให้กับคนไทยอย่างมาก เกิดนักลงทุนหน้าใหม่รวยข้ามวัน ดันการเติบโตของบริษัทให้เติบโตขึ้นกว่า 1,000% ภายในเวลาเพียง 7 วัน
แต่ความฮือฮานี้ ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะหมู่คนที่กล้าเสี่ยงลงทุนกับโทเคนต่างๆ เท่านั้น!
พลันที่ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ประกาศปรับโครงสร้างการทำธุรกิจ จาก SCB สู่ SCBX เรียกเสียงฮือฮา ชนิด Talk of the Town ด้วยการทรานส์ฟอร์มตัวเองในรูปแบบ “Mothership” หรือแปลตรงตัวว่า “ยานแม่” ไม่จำกัดตัวเองแค่ธุรกิจธนาคาร
แต่กระโดดสู่ธุรกิจฟินเทคเต็มรูปแบบ แยกธุรกิจธนาคาร กับธุรกิจแห่งโลกอนาคต โดยเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลระดับโลกผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลด้านต่างๆ ในโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว
เป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยก่อนหน้ามีการเปิดใช้แพลตฟอร์ม “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี่” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น Grab, Foodpanda
อีกทั้งยังได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถไต่เต้าได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
รวมไปถึงบริษัทลูกอื่นๆ ที่รองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มทุกระดับ เพื่อที่จะเป็น “The Winner Take All”
ทันทีที่ SCB ประกาศแผนธุรกิจแบบ 360 องศาครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอบรับทันที หุ้น SCB ถีบตัวแรงแซงหุ้น Kbank ของธนาคารกสิกรไทย และหุ้น BBL ของธนาคารกรุงเทพ ขึ้นมานำหุ้นกลุ่มแบงก์และดันดัชนีตลาด
ไล่หลังไม่นาน ธนาคารกสิกรไทยก็ขยับ เปิดตัว “Kubix” ภายใต้บริษัทลูก KBTG เพื่อเสริมความเชื่อมั่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิตอล โดยการนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในโลกแห่งความจริงที่สามารถจับต้องได้มาแปลงสภาพเป็น Token สู่โลกดิจิตอล เพื่อสร้างรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างและแปลกใหม่ ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และนักลงทุนมีโอกาสลงทุนรูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม สามารถช่วยให้การลงทุนกับไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องใกล้กันมากขึ้น
ส่วนรายละเอียดจะตื่นตา ว้าว เหมือนค่าย SCB หรือไม่ วันที่ 18 ตุลาคมนี้ KBTG จัดแถลงข่าว
และดูเหมือนว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติที่ต้องผ่อนคันเร่ง ให้แน่ใจว่าหนทางที่กำลังไปปลอดภัยเพียงพอ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จึงเปรยก่อนหน้าถึงบทบาทของตัวเองว่า มีอยู่ 3 มิติที่สำคัญเพื่อรองรับการเงินโลกอนาคต
1. การเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ทำให้มีการนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแชร์ข้อมูลการเงินระหว่างธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้ข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อทำได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกมากขึ้น
2. การเปิดการแข่งขันให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงินที่จะได้รับบริการทันสมัย มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น จากผู้เล่นที่เข้ามามากขึ้น
และ 3. การเปิดโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายให้กับผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาการให้บริการทางการเงินของไทย
แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลของไทยจะเพียงพอกับโลกการเงินอนาคตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทุกๆ สิ้นเดือน โมมายแบงกิ้งธนาคารหลายแห่งต่างล่มกันไม่เป็นท่า งานนี้คงตัวใครตัวมันไม่ได้ ภาครัฐภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมมือกันยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ให้มีความมั่นคงเสถียรต่อไป
เพื่อก้าวสู่โลกอนาคตได้แท้จริง