ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ตุลาคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
วัลยา วิวัฒน์ศร
เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (4)
การดูแลผู้ป่วย
ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังย้ายมาที่โรงพยาบาลสนาม ทบ.ที่เกียกกาย คุณหมอก็โทรศัพท์มาสอบถามอาการ คำถามแรกคือ เหนื่อยไหม บอกให้กินยาฆ่าเชื้อซึ่งได้รับจากตึกสมเด็จย่าอย่างเคร่งครัด
จากนั้นพยาบาลก็โทร.มาให้ดิฉันเพิ่มไลน์ของโรงพยาบาลสนาม ทบ.1 เกียกกาย
ในไลน์ระบุว่าผู้ป่วยจะต้องทำแบบประเมินสุขภาพจิต วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ความดัน และวัดไข้ส่งมาในกูเกิลฟอร์ม ระบุชื่อ ฯลฯ ที่ปรากฏในบัตรมาด้วย รวมทั้งตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอาการทั่วไป ว่าใช่ หรือไม่ใช่ เช่น ไอ ปวดศีรษะ
ข้อมูลที่ปรากฏในไลน์ทางการของโรงพยาบาลสนามมีกิจวัตรประจำวัน ช่วงเช้า ช่วงบ่าย (เวลาออกมารับอาหาร 3 มื้อหน้าห้อง เวลาทิ้งขยะในถังสีส้มที่ท้ายตึกของชั้นที่พัก เวลาส่งค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ฯลฯ เช้า-เย็น) การรับฝากอาหาร/สิ่งของจากภายนอกระหว่างเวลา 09.00-11.00 น. ซึ่งจะนำขึ้นให้ผู้ป่วยพร้อมอาหารเที่ยง
ในแบบประเมินสุขภาพจิต คำถามหนึ่งซึ่งจำได้ไม่รู้เลือนคือ ท่านคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่
ตอนแรกดิฉันก็ส่งค่าความดัน ค่าออกซิเจนปลายนิ้ว และอุณหภูมิด้วยการถ่ายรูปเหมือนที่เคยทำที่ตึกสมเด็จย่า พยาบาลโทร.มาให้กรอกเพียงตัวเลขในกูเกิลฟอร์มและสอนวิธีวัดการหายใจเพื่อทราบจำนวนครั้งการหายใจใน 1 นาที จะได้ค่าของการหายใจ
ตอนเย็น พยาบาลโทร.มาว่าตอนประมาณ 1 ทุ่มจะให้เอ็กซเรย์ปอด ซึ่งทางโรงพยาบาลเตรียมเครื่องมือไว้ในห้องใกล้ลิฟต์ และจะโทร.มาบอกอีกทีเมื่อถึงเวลาเอ็กซเรย์ การณ์ก็เป็นไปตามนั้น
คุณหมอโทร.มาถามอาการดิฉันต่อเนื่องทุกบ่ายประมาณ 4-5 บ่าย
ในห้องพัก
รูมเมตของดิฉันหน้าตาเศร้าหมอง เมื่อคุยกันจึงได้รับรู้ว่าเธอหัวอกเดียวกับดิฉัน เพิ่งสูญเสียสามีด้วยโควิด
ดิฉันแปลกใจที่เขาไม่รอดทั้งๆ ที่เพิ่งอายุ 44 เธอบอกว่าเขาเหมือนถอดใจ
เธอติดโควิดจากเขาแต่เป็นน้อยกว่าเพราะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม และฉีดเข็มสองแล้วด้วย
รูมเมตรับภาระกวาดถูห้องพักทุกวัน ทิ้งขยะ เอาอาหารและน้ำเข้ามาให้ดิฉัน เปิดขวดน้ำให้ในวันแรกๆ ต่อมาอีกสองสามวันดิฉันเปิดเองได้ ดีใจมาก
ในวันที่ 19 กรกฎาคม เมื่อดิฉันได้สบู่ แชมพูซึ่งน้องสาวส่งมา ดิฉันก็ได้อาบน้ำ สระผมเป็นครั้งแรกนับจากวันที่ 23 มิถุนายน (รูมเมตจะให้ใช้ของส่วนตัวของเธอตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม แต่ดิฉันยังทรงตัวไม่มั่น จึงรออีก 1 วัน) ดิฉันแง้มประตูห้องน้ำไว้และขอให้รูมเมตช่วยฟังเสียงด้วย เป็นการอาบน้ำ สระผมด้วยมือข้างเดียว เพราะมืออีกข้างจับท่อน้ำไว้กันล้ม
รูมเมตยังไม่รู้รสอาหาร ทั้งๆ ที่เธออยู่ในขั้นตอนพักฟื้นแล้ว หมอบอกว่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในที่สุด
และหนึ่งวันก่อนที่เธอจะได้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน เธอเริ่มได้รสเปรี้ยวนิดๆ เป็นเรื่องน่ายินดี
ดิฉันกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า อาหารผู้ป่วยของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีรสชาติดี ทั้งที่ตึกอุบัติเหตุ ชั้น 4 (หอความดันลบ) ที่ตึกสมเด็จย่า พอถึงโรงพยาบาลสนาม ทบ. ยิ่งอร่อยขึ้นไปอีก ทั้งของคาว ของหวาน ผลไม้และนมกล่อง จัดมาน่ารับประทาน
รูมเมตไปประมาณวันที่ 22 กรกฎาคม ก่อนไปเธอไปหอบน้ำซึ่งตั้งไว้ใกล้ลิฟต์มาไว้ให้ดิฉันหนึ่งแพ็ก
ดิฉันออกไปหยิบอาหารเองได้ ปัญหาคือการทิ้งขยะเพราะจะต้องเดินไปประมาณสิบกว่าก้าว เดินเกาะผนังไปได้ แต่ยังต้องถือถุงขยะและถ้านับก้าวเดินขากลับ มันเหนื่อยเกินไปสำหรับดิฉัน ในทางเดินไม่มีคนเพราะทุกคนต้องอยู่ในห้อง หากดิฉันล้มใครจะมาช่วย
ดิฉันจึงวางถุงอาหารที่รับประทานแล้วไว้หน้าห้อง วันแรกถุงหายไปแสดงว่ามีการหยิบไปทิ้ง
แต่พอถึงบ่ายวันที่ 2 ดิฉันก็ได้รับโทรศัพท์จากพยาบาลแจ้งว่า ผู้ป่วยจะต้องเอาถุงอาหารไปทิ้งที่ปลายทางเดินเอง ดิฉันจึงบอกว่าเดินไม่ไหวค่ะ มันไกล
พยาบาลเข้าใจทันที ถามว่าอยู่คนเดียวหรือคะ งั้นไม่เป็นไรค่ะ พอดีแม่บ้านแจ้งมา ในห้องยังมีถุงดำเหลืออยู่หรือไม่ ดิฉันตอบไปว่าเหลืออยู่ 1 ใบ ถุงสีส้มไม่มี น้ำดื่มเหลือเพียง 2 ขวด
พยาบาลจึงบอกว่าจะนำไปส่งพร้อมอาหารเย็น ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น
คุณหมอติดต่อมาจะให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านในวันที่ 26 ดิฉันขอเลื่อนไป 1 วันเพื่อหาคนมาอยู่เป็นเพื่อน ดิฉันเองยังไม่ได้อยากกลับก่อนครบ 14 วัน เมื่อนึกถึงว่าจะต้องมาเจอร่องรอยอะไรบ้างที่บ้าน และตนเองซึ่งยังไม่แข็งแรงจะรับความสะเทือนใจได้แค่ไหน แต่ดิฉันก็เข้าใจว่าจำเป็นต้องกลับ
คุณหมอตอบรับให้กลับวันที่ 27
สายวันที่ 26 มีเสียงเคาะประตูห้อง มีรูมเมตมาใหม่
รูมเมตอายุประมาณ 40 ปี เธอบ่นว่าไม่เข้าใจเลยว่าทำไมไม่ให้เธอกลับบ้าน ส่งเธอมาอยู่ห้องนี้อีกเพียง 1 วันจึงจะให้กลับ
วันที่ 26 เช่นกันดิฉันลงข้อความในเฟซบุ๊ก ขอบคุณคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าทุกท่านที่ได้อุทิศตนทำหน้าที่เต็มความสามารถด้วยดวงจิตอันกรุณาปรานี สมดั่งพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ว่า
“อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”
ญาติผู้น้องคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลจึงทักมา ดิฉันไม่ได้บอกใครเรื่องเป็นโควิด คนที่ทราบรู้ว่าดิฉันไม่ประสงค์จะพูดคุยติดต่อ ไม่รับโทรศัพท์ พวกเขาก็ทำตามความต้องการของดิฉัน
แต่เมื่อเห็นข้อความในเฟซบุ๊ก ญาติคนนี้ก็ติดต่อมา ดิฉันจึงนึกออกว่าควรรบกวนให้เธอมานอนค้างเป็นเพื่อนในวันแรกๆ ซึ่งเธอก็ยินดี
ญาติอีกคนอาสามารับกลับบ้าน ดิฉันจึงแจ้งยี่ห้อ สี และทะเบียนรถแก่พยาบาล
รูมเมตจะกลับรถของโรงพยาบาลซึ่งจะส่งในสถานที่ที่เธอสะดวกต่อรถกลับเอง กำหนดเวลาคือประมาณ 9 โมง ดิฉันรอรับโทรศัพท์จากพยาบาล ซึ่งเมื่อดังขึ้นก็แจ้งว่าให้รูมเมตของดิฉันลงไปได้ ดิฉันจึงขอร้องว่าขอลงไปพร้อมกัน เพราะดิฉันลากของลงไปเองไม่ไหว
พยาบาลคงจำได้ว่าดิฉันคือคนที่มีปัญหาในตอนขึ้นตึก จึงตอบว่า รอสักครู่นะคะ เดี๋ยวจัดระเบียบรถใหม่
รูมเมตก็แสนดีอีกตามเคย เธอลากกระเป๋าเดินทาง (น้องสาวส่งมา) และถุงสีส้มใบใหญ่ซึ่งดิฉันใส่ของรวมไว้ พร้อมทั้งสัมภาระของเธอลงลิฟต์ไปกับดิฉัน นำไปใส่ท้ายรถของญาติซึ่งจอดคู่กับรถของโรงพยาบาล
รูมเมตของดิฉันมีน้ำใจทุกคน ในความโชคร้ายยังมีโชคดีอยู่
ดิฉันกำหนดนัดไปเอ็กซเรย์ปอดอีกครั้งในวันที่ 19 สิงหาคม ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
สรุปว่าดิฉันรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน 3 คืน 2 วัน (23-25 มิถุนายน) ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตึกอุบัติเหตุ ชั้น 4 อันเป็นหอความดันลบและที่ตึกสมเด็จย่า 22 วัน (26 มิถุนายน-17 กรกฎาคม) พักฟื้นที่โรงพยาบาลสนาม ทบ.ที่เกียกกาย 10 วัน (17-26 กรกฎาคม) นับเป็นเวลารักษาที่ยาวนานถึง 34 วัน แล้วมากักตัวที่บ้านอีก 14 วัน (27 กรกฎาคม-10 สิงหาคม)
ก่อนดิฉันกลับบ้าน น้องสาวติดต่อบริษัทเอกชนมาพ่นยาฆ่าเชื้อในและนอกบ้าน ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์มีบริษัททำความสะอาดมาจัดการทำความสะอาดให้
ก่อนเป็นโควิดดิฉันหนัก 58 กิโลกรัม เมื่อกลับถึงบ้านชั่งน้ำหนักได้ 49 กิโลกรัม ขณะนี้น้ำหนักขึ้นมาเป็น 51.8 กิโลกรัมเท่านั้น (7 กันยายน) ทั้งๆ ที่ดิฉันเจริญอาหารทุกมื้อ